ถอนทิ้งทำไม..! พืชชนิดนี้ไม่ใช่วัชพืช แถมยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพเอามากๆอีกด้วย!
เคยได้ยินชื่อพืชชนิดนี้ไหม ผักเบี้ยใหญ่ เราไปทำความรู้จักกันดีกว่า พืชหลายชนิดที่เราไม่รู้ว่านำมาใช้รับประทาน หรือช่วยในการรักษาโรคได้ เราจึงมองว่าพืชเหล่านั้นเป็นวัชพืชที่ควรกำจัดทิ้ง แต่วันนี้เราจะพาไปรู้จักพืชอีกชนิดหนึ่งนั้นคือ ผักเบี้ยใหญ่ ซึ่งหลายคนที่ไม่รู้จักผักชนิดนี้อาจจะเคยกำจัดทิ้งมาแล้วก็เป็นได้ งั้นเรามาดูถึงสรรพคุณของผักชนิดนี้กันเลย
สมุนไพรผักเบี้ยใหญ่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักตาโค้ง (นครราชสีมา), ผักอีหลู ตะก้ง (อุบลราชธานี), ผักเบี้ยดอกเหลือง (ภาคกลาง), ผักอีหลู (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), แบขี่เกี่ยง ตือบ้อฉ่าย (จีนแต้จิ๋ว) เป็นต้น
ลักษณะของผักเบี้ยใหญ่
- ต้นผักเบี้ยใหญ่ มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย กระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อน เป็นพืชที่มีอายุเพียงปีเดียว ลำต้นเตี้ยเลื้อยทอดไปตามพื้นดิน บางครั้งปลายตั้งชูขึ้นได้สูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขาแผ่ออกไป ลำต้นอวบน้ำเป็นสีเขียวอมแดง ก้านกลม จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ขึ้นได้เองโดยไม่ต้องทำการเพาะปลูก ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ มักขึ้นบริเวณชายฝั่งริมน้ำที่โล่ง ดินทราย ที่ชื้นแฉะ ที่รกร้างทั่วไป หรือพบขึ้นเป็นวัชพืชตามริมถนน ข้างทางเดิน
- ใบผักเบี้ยใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปลิ่ม รูปไข่กลับ หรือคล้ายรูปช้อนหรือรูปลิ้นปลายใบมนมีรอยเว้าเข้าเล็กน้อย โคนใบเรียวเล็กลงจนไปติดกับลำต้น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร แผ่นใบหนา ผิวใบเรียบเป็นมัน ด้านหลังใบเป็นสีเขียวแก่ ส่วนท้องใบเป็นสีแดงเข้ม ก้านใบสั้น
- ดอกผักเบี้ยใหญ่ ออกเป็นดอกเดี่ยวหรือบางทีก็ออกเป็นช่อ แต่จะไม่มีก้านดอก ดอกมี 2 เพศ อยู่ในดอกเดียวกัน ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองสด โดยทั่วไปมักออกเป็นกลุ่มประมาณ 3-5 ดอก กลีบเลี้ยงดอกมี 4-5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็กซ้อนกันเป็นคู่ ๆ ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ สีเหลืองสด แต่ละกลีบมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับหรือหัวใจคว่ำลง ปลายกลีบดอกมีรอยเว้าเข้า ก้านสั้นมีขนหรือเยื่อบาง ๆ รอบโคนดอก ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 8-12 อัน รังไข่มี 1 ห้อง ลักษณะเป็นรูปรีป้อม ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ปลายเกสรเพศเมียแยกออกเป็น 6 แฉก
- ผลผักเบี้ยใหญ่ ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมหรือรูปรี เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลแล้วแตกออก ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมหรือรูปไต สีดำหรือสีเทาดำเป็นเงา บนเปลือกเมล็ดมีจุดกระ
สรรพคุณของผักเบี้ยใหญ่
- ชาวยุโรปได้เข้าใจกันว่าผักเบี้ยใหญ่นี้มีรสเย็นและช่วยทำให้เจริญอาหาร (ใบ)
- ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ใบ)
- น้ำคั้นของต้นมีสรรพคุณเป็นยาฟอกโลหิต (น้ำคั้นของต้น)
- ใช้แก้เด็กหัวล้าน ด้วยการใช้ยานี้นำมาเคี่ยวให้ข้น ใช้เป็นยาทาหรือเอาไปผิงกับไฟให้แห้ง บดให้เป็นผงผสมกับไขหมูทาบริเวณที่เป็น (ต้น)
- ทั้งต้นใช้กินเป็นผักสด มีประโยชน์ต่อฟันมาก โดยน้ำคั้นที่ได้จากต้นเมื่อนำมาผสมกับน้ำมันกุหลาบ จะใช้อมเป็นยาแก้เจ็บคอ แก้เหงือกบวม และช่วยทำให้ฟันทนได้ (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้อาการปวดหู ปวดฟัน (น้ำคั้นของต้น)
- ช่วยแก้เลือดออกตามไรฟัน (ทั้งต้น)
- สมุนไพรชนิดนี้มีรสเปรี้ยวเย็น ใช้เป็นยาแก้ร้อน ดับพิษ (ทั้งต้น)
- ใช้แก้เด็กเป็นไข้สูง ด้วยการใช้ต้นสดตำพอกวันละ 2 ครั้ง (เข้าใจว่าตำพอกบริเวณศีรษะ) (ต้น)
- ใช้แก้เด็กไอกรน ด้วยการใช้ยานี้ปรุง 50% โดยใช้ยานี้สด 250 กรัม ใส่น้ำ 1.5 ลิตร แล้วต้มให้เหลือ 100 ซี.ซี. แล้วแบ่งกิน 3 วัน วันละ 4 ครั้ง โดยทั่วไปแล้วหลังจาก 3 วันจะเห็นผล เด็กจะมีอาการไอลดลงและมีอาการดีขึ้น (ต้น)
- น้ำคั้นจากใบสดใช้ผสมกับน้ำผึ้งและน้ำตาล ใช้ปรุงเป็นยาแก้อาการกระหายน้ำ แก้ไอแห้ง (ใบ) ส่วนอีกตำราระบุให้ใช้เมล็ดเป็นยาแก้กระหายน้ำและแก้อาการไอ (เมล็ด)
- ช่วยกระตุ้นให้กระเพาะหลั่งน้ำย่อยออกมามาก (น้ำคั้นของต้น)
- ใช้เป็นยาแก้บิดถ่ายเป็นเลือด ให้ใช้ต้นสด 550 กรัม ล้างน้ำให้สะอาด แล้วเอาไปนึ่งประมาณ 3-4 นาที ตำคั้นเอาน้ำมาประมาณ 150 ซี.ซี. ใช้รับประทานครั้งละ 50 ซี.ซี. วันละ 3 ครั้ง หรือจะใช้ยานี้สด 1 กำมือ ผสมปลายข้าว 3 ถ้วย นำมาต้มเป็นข้าวต้มเละ ๆ รับประทานแบบจืด ๆ ตอนท้องว่างก็ได้ (ต้น)
- ใช้ป้องกันบิด ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 550 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน 1 เวลา ในระยะที่มีโรคบิดระบาดติดต่อกัน 10 วัน (ต้น)
- ใช้แก้เด็กท้องร่วง ด้วยการใช้ยานี้สด 250-500 กรัม นำมาต้มกับน้ำใส่น้ำตาลพอประมาณ แล้วนำมาให้เด็กกินเรื่อย ๆ จนหมดใน 1 วัน โดยให้กินติดต่อกัน 2-3 วัน หรืออาจจะใช้ต้นสดนำมาล้างให้สะอาดผิงไฟให้แห้ง แล้วบดให้เป็นผงกินครั้งละ 3 กรัม กับน้ำอุ่นก็ได้ วันละ 3 ครั้ง (ต้น)
- ช่วยหล่อลื่นลำไส้ (ทั้งต้น)
- เมล็ดใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ (เมล็ด)
- เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิ บางท้องถิ่นจะนำเมล็ดมาตำแล้วต้มกับเหล้าไวน์ ให้เด็กรับประทานเป็นยาถ่ายพยาธิ (เมล็ด)
- น้ำคั้นจากใบสดผสมกับน้ำผึ้งและน้ำตาล ใช้ปรุงเป็นยารับประทานแก้ขัดเบา (ใบ) ส่วนอีกตำราระบุให้ใช้เมล็ดเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา (เมล็ด)
- ใช้เป็นยาแก้หนองใน ปัสสาวะขัด ด้วยการรับประทานน้ำคั้นที่ได้จากต้น (ต้น)
- ช่วยรักษาริดสีดวงทวารแตกเลือดออก (ทั้งต้น) แก้ริดสีดวงทวารปวดบวม ด้วยการใช้ใบสดผสมกับส้มกบ (Oxalis Thunb.) อย่างละเท่ากัน ต้มเอาไอร้อน พอน้ำอุ่นก็ใช้ชะล้างวันละ 2 ครั้ง (ใบ)
- ใช้แก้ไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน ด้วยการใช้ต้นนี้ 1 กำมือ ล้างน้ำให้สะอาด เอาน้ำประมาณ 30 ซี.ซี. ผสมกับน้ำเย็นจนเป็น 100 ซี.ซี. ใส่น้ำตาลพอประมาณ ใช้รับประทานครั้งละ 100 ซี.ซี. วันละ 3 ครั้ง (ต้น)
- ใบใช้ตำพอกทาแก้ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก อักเสบบวม ไฟลามทุ่ง (ใบ)
- ช่วยแก้บวมและรักษาแผลเน่าเปื่อยเป็นหนองเรื้อรัง ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำคั้นเอาน้ำมาต้ม เมื่อเย็นแล้วนำมาใช้ทาหรือใช้ยานี้นำมานึ่งแล้วตำพอกบริเวณที่เป็น (ต้น)
- ใช้รักษาฝีประคำร้อย ด้วยการใช้ยานี้ผึ่งให้แห้งในที่ร่ม เผาให้เป็นถ่าน บดให้เป็นผงผสมกับไขหมู แล้วชะล้างบาดแผลให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง แล้วเอายานี้มาพอกวันละ 3 ครั้ง (ต้น)
- ใช้รักษาแผลจากแมลงกัดต่อย ด้วยการใช้น้ำคั้นจากต้นนำมาทาบริเวณที่ถูกกัด (ต้น)
- ใช้แก้แผลกลาย มีก้อนเนื้องอก เลือดออกเรื่อย ๆ และแผลลามไปเรื่อย ๆ ด้วยการใช้ต้นนี้ประมาณ 500 กรัม นำมาเผาให้เป็นถ่าน บดเป็นผงผสมกับไขหมูทาบริเวณที่เป็น (ต้น)
- เนื่องจากพืชชนิดนี้จะมีสารที่เป็นเมือกอยู่ภายในต้น ใช้ทาภายนอกเป็นยาแก้อาการอักเสบและแผลต่าง ๆ ได้ (ใบ)
การเก็บมาใช้ : ให้เก็บในระยะที่ใบและต้นเจริญงอกงามดีและกำลังออกดอก เช่น ในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว และให้เก็บในวันที่ไม่มีฝน โดยตัดมาทั้งต้น ล้างน้ำให้สะอาด ลวกน้ำร้อนแล้วรีบเอาขึ้นมาแช่ในน้ำเย็น เอาขึ้นมาผึ่งให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำไปตากแห้งบนเสื่อเก็บเอาไว้ใช้ หรือนำมานึ่งแล้วใช้ได้เลย หรือจะใช้สดเลยก็ได้
วิธีและขนาดที่ใช้
ใช้ต้นแห้งหนัก 10-15 กรัม (ต้นสดหนัก 60-120 กรัม) ต้มเอาน้ำ หรือคั้นเอาน้ำกิน ใช้ภายนอก ผิงไฟให้แห้งแล้วบดเป็นผงผสมน้ำทา หรือต้มเอาน้ำชะล้างบริเวณที่เป็นหรือจะต้มเอาน้ำใช้ชะล้างบริเวณที่เป็นก็ได้
ข้อควรระวัง
- ผู้ป่วยโรคไตควรระมัดระวังในการใช้ เพราะใบสดของผักเบี้ยใหญ่มีกรดออกซาลิกสูง อีกทั้งยังมีปริมาณโพแทสเซียมสูง จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อน
- สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน
- คนธาตุอ่อนท้องเสียง่ายไม่ควรรับประทาน
- ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้ร่วมกับกระดองตะพาบน้ำ
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ผักเบี้ยใหญ่”. หน้า 498-499.
- หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ผักเบี้ยใหญ่”. หน้า 104.
- medthai