ปัสสาวะเป็นฟอง บอกถึงปัญหาสุขภาพที่คุณคาดไม่ถึง ควรรู้ไว้!
คุณเคยลองสังเกตตัวเองบ้างไหม เวลาที่เราปัสสาวะนั้นมักจะมีฟองที่แตกต่างจากเป็นฟองสีเหลือง สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดลักษณะเช่นนี้นั้น สาเหตุนั้นมาจากภาวะที่ร่างกายขาดน้ำ หรืออาจเป็นเพราะการใช้ยา การเป็นโรคประจำตัว รวมไปถึงการกินอาหารของเราในชีวิตประจำวัน
สาเหตุของปัสสาวะเป็นฟอง
– การขับปัสสาวะอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำปัสสาวะตกสู่น้ำในชักโครก แรงกระแทกอาจทำให้เกิดเป็นฟองขึ้น จากสาเหตุนี้ น้ำปัสสาวะที่เป็นฟองมักอยู่ได้ไม่นาน ก่อนจะกลับกลายไปเป็นน้ำปัสสาวะปกติดั่งเดิม และไม่ได้เป็นอันตรายแต่อย่างใด
– ปัสสาวะมีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งเกิดจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอจนเกิดภาวะขาดน้ำ
– ภาวะโปรตีนมากเกินไปในปัสสาวะ เกิดจากภาวะไข่ขาวในปัสสาวะ ที่มักพบในโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง รวมถึงการใช้ยาบางชนิด ภาวะบาดเจ็บ การได้รับสารพิษ การติดเชื้อ หรือการทำงานผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น ทั้งนี้ภาวะไข่ขาวในปัสสาวะเกิดจากความเสียหายที่ไต ส่งผลให้โปรตีนแอลบูมิน ที่สร้างปฏิกริยาให้น้ำปัสสาวะกลายเป็นฟองเมื่อถูกอากาศ ถูกกรองผ่านไตออกมาในปัสสาวะด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วไตจะทำหน้าที่กรองของเสียและของเหลวส่วนเกินเพียงเท่านั้น
– การหลั่งอสุจิย้อนทาง เป็นการหลั่งน้ำอสุจิไหลย้อนกลับเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะของผู้ชาย แทนที่จะถูกปล่อยออกมาจากอวัยวะเพศ โดยอาจเกิดจากโรคเบาหวาน โรคต่อมลูกหมากโต การใช้ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง อาการบาดเจ็บของเส้นประสาทจากการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง และการผ่าตัดรักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งที่ท่อปัสสาวะหรือต่อมลูกหมาก
– ยาบรรเทาอาการปวดโรคทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ เช่น ยาฟีนาโซไพริดีน เป็นต้น
อาการอื่นร่วมกับปัสสาวะเป็นฟอง
อาการที่เกิดขึ้นร่วมกับปัสสาวะเป็นฟองอาจสามารถใช้บอกได้ว่าสาเหตุของการเกิดปัสสาวะเป็นฟองนั้นมาจากอะไร ซึ่งอาการอาจประกอบไปด้วย
– อาการบวมที่มือ เท้า ท้อง และใบหน้า เป็นสัญญาณบอกว่ามีการสะสมของเหลวส่วนเกิน ซึ่งอาจเป็นผลจากการที่ไตทำงานลดลง
– การเปลี่ยนแปลงของปริมาณปัสสาวะ
– ปัสสาวะขุ่น
– ปัสสาวะมีสีเข้ม
– คลื่นไส้อาเจียน
– อาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย
– มีปัญหาในการนอน
– ไม่รู้สึกเจริญอาหาร
ควรทำอย่างไรหากปัสสาวะเป็นฟอง ?
การรักษาปัสสาวะเป็นฟองขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยอาจสังเกตตัวเองว่าอาการปัสสาวะเป็นฟองและมีสีเหลืองเข้มนั้นหมดไปหรือไม่หลังจากดื่มน้ำให้เพียงพอ เพราะอาจเกิดจากภาวะขาดนั้น หรือเป็นเพียงฟองที่เกิดจากความเร็วของการปัสสาวะ ซึ่งฟองจะหายไปในเวลาไม่นานหลังจากปัสสาวะเสร็จ
หากพบว่าปัสสาวะเป็นฟองไม่หายก็อาจมีสาเหตุมาจากภาวะไข่ขาวในปัสสาวะหรือความผิดปกติอื่น ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาจากสาเหตุของอาการ ซึ่งแพทย์อาจทำการตรวจเลือด ทำอัลตราซาวด์บริเวณไต รวมถึงการตรวจปัสสาวะตลอดระยะเวลา 1 วัน เพื่อหาปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ จากการหาค่า UACR (Urine Albumin-to-Creatinine Ratio) โดยผลการตรวจสามารถระบุการทำงานและประสิทธิภาพการกรองของไต ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงเป็นโรคไตหากพบค่า UACR เกิน 30 มิลลิกรัม/กรัม
การรักษาปัสสาวะเป็นฟองจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์เพียงเล็กน้อย แพทย์อาจแนะนำให้เปลี่ยนพฤติกรรมให้ผู้ป่วยสนใจการดูแลรักษาสุขภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัดและมีโปรตีนสูงสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อลดการทำงานของไตให้น้อยลง
หากผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลสูงกว่าเกณฑ์มาก แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย โดยแพทย์อาจจ่ายยาลดความดันที่ช่วยชะลอภาวะไตเสื่อมและทำให้ความดันโลหิตลดลง อาทิเช่น ยาลดความดันโลหิตเอซีอีอินฮิบิเตอร์ (Angiotensin Converting Enzyme Inhibitors: ACE Inhibitor) หรือยาแองจิโอเทนซินรีเซพเตอร์บล็อกเกอร์ (Angiotensin Receptor Blocker) ที่เหมาะสมเพื่อใช้รักษาอาการต่อไป
การรักษาปัสสาวะเป็นฟองจากการหลั่งน้ำอสุจิย้อนทาง
ในบางกรณี อาการหลั่งน้ำอสุจิย้อนทางจะไม่มีความจำเป็นต่อการรักษา แต่สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการมีบุตรหรือต้องการแก้ปัญหาการถึงจุดสุดยอดแต่ไม่หลั่ง แพทย์อาจทำการรักษาด้วยการใช้ยาช่วยในการปิดกั้นทางเดินปัสสาวะ ซึ่งออกฤทธิ์ที่บริเวณคอของกระเพาะปัสสาวะ เพื่อป้องกันการไหลย้อนกลับของน้ำอสุจิ
โดยแพทย์อาจพิจารณาสั่งจ่ายยาเหล่านี้ เช่น ยาคลอเฟนิรามีน ยาเอฟีดรีน ยาบรอมเฟนิรามีน ยาอิมิพรามีน ยาฟีนิลเอฟรีน และยาซูโดอีเฟดรีน นอกจากนี้ยังอาจรักษาได้ด้วยการใช้ยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮีสตามีน รวมถึงยากลุ่มเอมีนที่กระตุ้นระบบประสาทซิมพาโทมิเมติค ซึ่งโดยมากจะใช้ในการรักษาอาการคัดจมูกสำหรับผู้ป่วยโรคหวัดทั่วไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : thammasat.site