อ่านจบรีบหามาปลูกเลย 10 ต้นไม้ไล่ยุง ตัวนำพาหะโรค ป้องกันโรคร้าย

0

อ่านจบรีบหามาปลูกเลย 10 ต้นไม้ไล่ยุง ตัวนำพาหะโรค ป้องกันโรคร้าย

ข้อดีของการปลูกต้นไม้นั้น ไม่ใช่เพียงแค่ช่วยในเรื่องของความร่มรื่นเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์อื่นที่เป็นข้อดีของคนในบ้านเรา นั้นคือ ต้นไม้ที่สามารถไล่ยุง ไล่แมลงได้  วันนี้เรามา 10 ต้นไม้ที่จะช่วยไล่ยุงร้ายที่เป็นพาหะของโรค มาดูกันเลยค่ะ ว่ามีต้นอะไรบ้าง

1. ตะไคร้หอม พืชกลิ่นดีที่ยุงหนีกระเจิง

ต้นไม้ชื่อน่าดมนี้เป็นไม้ยืนต้น ลำต้นสูงประมาณ 1 เมตร มีใบเล็กเรียวยาวขึ้นในลักษณะทรงพุ่ม เป็นพืชที่ปลูกง่ายแค่ใช้เหง้าฝังดินเพื่อขยายพันธุ์ จะปลูกใส่กระถางวางไว้ริมระเบียงหรือสวนในบ้านก็ได้ ทีนี้เจ้ายุงร้ายก็จะค่อย ๆ อพยพหนีย้ายตามกันไป เพราะทนกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยในต้นตะไคร้หอมไม่ได้ยังไงล่ะ

2. แคทนิป (กัญชาแมว) ให้ผลดีต่อแมวแล้วร้ายใส่ยุง

กัญชาแมวหรือที่รู้จักกันในนามสารแห่งความสุขของน้องแมว เป็นพืชตระกูลเดียวกับสะระแหน่ มีความสูงตั้งแต่ ½ เมตร ไปจนถึง 1 เมตร ขยายพันธุ์ง่าย ๆ ด้วยการเพาะเมล็ดลงในดินร่วนปนทรายที่ระบายน้ำได้ดี แล้วโรยดินกลบซ้ำอีกประมาณ 5 เซนติเมตร

รดน้ำให้พอชุ่มแต่ห้ามมีน้ำขังเด็ดขาด ตั้งในที่ที่แดดสามารถส่องถึง แล้วเจ้าสารเนเปทาแลคโตน (Nepetalactone) ที่อยู่ในกัญชาแมวจะทำให้น้องแมวมีความสุขคล้ายกับสารเสพติด

แต่ในทางกลับกันมันยังเป็นสารป้องกันยุงและแมลงที่ได้ผลมากกว่ายาฆ่าแมลงซะอีก และก็ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์อีกด้วย

3. โหระพา ขับกลิ่นจนยุงบินหนี

สมุนไพรคู่ครัวไทยอย่างโหระพา เป็นพืชไม้ยืนต้นสูงประมาณ 1 เมตร ใบมีสีเขียวส่วนดอกมีสีชมพูอ่อนและสีขาว ปลูกโดยการปักชำจะง่ายกว่า การเตรียมดินที่มีความลึกประมาณ 20-25 เซนติเมตร

นำก้านโหระพาที่โตเต็มที่มาเด็ดใบออกให้หมดแล้วปักลงในดิน ใช้ฟางคลุมดินและรดน้ำให้ชุ่ม แม้กลิ่นหอมที่เฉพาะตัวของโหระพาจะส่งผลดีต่อวงการอาหาร

แต่กลับส่งผลร้ายต่อยุงและแมลง พวกมันไม่สามารถทนทานต่อกลิ่นฉุนของโหระพาได้ ฉะนั้นจึงเหมาะมากที่จะปลูกไว้ในบ้าน

4. สะระแหน่ ยุงไม่กล้ามาจอแจ

สะระแหน่สมุนไพรให้กลิ่นหอมชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นที่โตเต็มที่ได้ถึง 1 เมตรครึ่ง ปลูกโดยวิธีการปักชำด้วยการตัดยอดบนสุดที่ใบประมาณ 5-6 ใบ ปักลงในดินผสมปุ๋ยคอกที่รองก้นกระถางด้วยกาบมะพร้าวสับ รดน้ำให้ชุ่มแต่ไม่ต้องแฉะ

เป็นพืชที่ขึ้นง่ายจะปลูกลงแปลงดินก็ได้ลงกระถางก็ดี ภายในมีน้ำมันหอมระเหยที่ยุงไม่ชอบเอามาก ๆ หากต้องการใช้ให้นำใบสะระแหน่มาขยี้แล้วทาลงบนผิวโดยตรงได้เลย

5. กระเทียม เตรียมกลิ่นไว้ฆ่ายุง

กระเทียมเป็นเบสของการทำอาหารแทบทุกชนิด กระเทียมเป็นพืชล้มลุกมีลำต้นสูงประมาณ 30-60 เซนติเมตร ใน 1 หัว จะมีกระเทียมอยู่ประมาณ 10 กลีบ

วิธีปลูกกระเทียมในครัวเรือนทำไม่ยาก แค่นำกลีบกระเทียมไปเพาะให้รากงอกก่อนแล้วจึงนำไปลงดิน ใช้ฟางคลุมทับอีกทีเพื่อรักษาความชื้นไม่ให้ระเหยไป กลิ่นจากต้นกระเทียมก็จะทำหน้าที่เป็นรั้วล่องหน ช่วยกันยุงออกจากบ้านของเรา

6. เจอเรเนียม มีดอกสีสวยที่ช่วยปลิดยุง

เจอเรเนียมเป็นไม้ดอกที่ให้สีสันสวยงาม ลำต้นสูงประมาณ 1 เมตร ออกดอกเป็นพุ่มอยู่ที่ปลายลำต้น ปลูกด้วยวิธีการปักชำ ให้นำกิ่งที่สมบูรณ์ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร มาตัดดอกและใบออกให้เหลือแค่ประมาณ 3-4 ใบ

ปักลงในดินผสมปุ๋ยคอก แล้วน้ำมันหอมระเหยของเจอเรเนียมที่มีกลิ่นคล้ายเลมอนก็จะฟุ้งกระจายออกมาช่วยไล่ยุงในยามค่ำคืน

7. มะกรูด สมุนไพรไทยหอม ๆ ที่ยุงต้องยอมแพ้

สมุนไพรก้นครัวไทยอย่างมะกรูด เป็นพืชยืนต้นที่มีหนามแหลม ลำต้นสูงประมาณ 12 เมตร วิธีการปลูกให้ใช้เมล็ดจากลูกมะกรูดที่ร่วงจากต้นไปตากแดด 1-2 วัน

ก่อนจะนำไปเพาะลงในดินที่มีปุ๋ยคอกผสมอยู่ เมื่อใบเริ่มงอกให้แยกไปปลูกในกระถาง ซึ่งน้ำมันหอมระเหยในมะกรูดจะช่วยส่งกลิ่นฉุนไปรบกวนและป้องกันยุงไม่ให้บินเข้ามายุ่งในบ้าน

8. มอสซี่ บัสเตอร์ พืชผสมที่ปล่อยกลิ่นไล่ยุงได้ไกล

เรียกได้ว่าเป็นผลพวงจากการผสมพันธุ์ระหว่างเจอเรเนียมและตะไคร้หอม ลักษณะเป็นไม้ทรงพุ่มมีใบหยักคล้ายเจอเรเนียม และสามารถส่งกลิ่นที่คล้ายกลิ่นตะไคร้หอมเพื่อไล่ยุงได้ไกลถึง 9 เมตร

แนะนำให้ปลูกไว้ที่ริมรั้วที่ห่างจากตัวบ้านสักหน่อย เพราะในขณะที่กำลังเจริญเติบโตและมีขนาดเล็กมันจะมีสารที่ดึงดูดยุง แต่เมื่อมันโตเต็มที่สารนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นสารไล่ยุงแทน

9. หม้อข้าวหม้อแกงลิง เปิดปากหม้อล่อยุงมากิน

ออกตัวก่อนเลยว่าพืชชนิดนี้เป็นไม้เลื้อยชนิดกินเนื้อ แต่ไม่ต้องตกใจไปเพราะมันกินเฉพาะแมลงเท่านั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกับรูปร่างลิง ภายในเป็นหม้อที่มีของเหลวไว้ล่อแมลงให้มาติดกับ และค่อยกลืนลงไปอย่างช้า ๆ

เราสามารถปลูกในครัวเรือนได้ด้วยวิธีการปักชำ โดยนำกาบมะพร้าวสับไปแช่น้ำให้ชุ่มประมาณ 1-2 วัน แล้วนำก้านหม้อข้าวหม้อแกงลิงมาปักลงในกาบมะพร้าว ก็จะออกหม้อภายใน 6 เดือน ไม่ว่าจะยุงหรือแมลงไหน ๆ ที่บินติดกับก็จะโดนงับให้หายสิ้น

10. จิงจูฉ่าย สมุนไพรจีนมีกลิ่นกำจัดยุง

เราเริ่มรู้จักต้นจิงจูฉ่ายกันในนามของสมุนไพรจีนต้านมะเร็ง ที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายขึ้นฉ่าย เป็นพืชล้มลุกแตกกิ่งก้านสาขาคลุมดิน มีความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร

ปลูกด้วยวิธีการเพาะต้นกล้าจากเมล็ดก่อน แล้วค่อยนำมาปลูกลงในดินที่ผสมมะพร้าวสับ ทราย ปุ๋ยคอก แกลบ และน้ำหมักชีวภาพ เป็นต้นไม้ที่มีกลิ่นหอมที่ยุงไม่ชอบและไม่กล้าบินเข้ามาใกล้ หรือจะนำมาบดขยี้แล้วทาผิวหนังเพื่อกันยุงก็ได้เช่นกัน

ถ้าปลูกต้นไม้เหล่านี้เอาไว้ภายในชายคาบ้าน เราก็จะได้ประโยชน์แบบจัดเต็มกันไปเลย เพราะนอกจากจะกันยุงได้แล้วมันยังมีคุณสมบัติที่สามารถใช้งานอย่างอื่นได้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการจำกัดยุงที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสารเคมีเลยสักนิดเดียว

โรคที่มาพร้อมกับ “ยุง”

1. ไข้เลือดออก

พาหะ : ยุงลาย ที่ออกหากินตอนกลางวัน (ปัจจุบันพบยุงลายตอนกลางคืน ช่วงโพล้เพล้อยู่บ้าง)

อาการ : หลังถูกยุงลายกัด 5-8 วัน จะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื่ออาหาร หรืออาจอาเจียน มีผื่นแดงๆ ตามร่างกาย อาจเลือดออกง่าย ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ และเสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ช็อก ชัก บวม แน่นหน้าอก ปวดท้อง หรือมีเลือดออกในอวัยวะภายใน

2. มาลาเรีย

พาหะ : ยุงก้นปล่อง พบได้มากในป่า พื้นที่รกๆ อากาศร้อนชื้น แหล่งน้ำต่างๆ หรือพื้นที่อื่นๆ ทั่วไป

อาการ : มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย ชีพจรเต้นเร็ว หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน หน้าซีดปากซีดจากการที่เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย เริ่มเข้าสู่ภาวะโลหิตจาง ตัวเหลืองเหมือนดีซ่าน และอาจมีปัสสาวะสีเข้มเหมือนสีน้ำปลา

3. เท้าช้าง

พาหะ : ยุงหลายชนิด

อาการ : มีไข้สูงเฉียบพลัน หลอดน้ำเหลือง และต่อมน้ำเหลืองอักเสบ โดยอาจพบได้บริเวณอวัยวะต่างๆ เช่น ขา ช่องท้องด้านหลัง ท่อน้ำเชื้ออสุจิ หรือเต้านม ผิวหนังบริเวณที่อับเสบจะบวมแดง มีน้ำเหลืองคั่ง คลำเป็นก้อนขรุขระ แต่ในบางรายอาจไม่แสดงอาการบวมชัดเจน

4. ไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนย่า)

พาหะ : ยุงลาย

อาการ : อาการคล้ายไข้เลือดออกมาก แต่ไม่พบการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการช็อก

5. ไข้สมองอักเสบ

พาหะ : ยุงรำคาญ พบในนาข้าว เพราะเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ และมีหมูเป็นรังของโรค โดยยุงรำคาญไปกัดหมูที่เป็นโรค และแพร่เชื้อต่อสู่คน และสัตว์อื่นๆ

อาการ : หลังรับเชื้อ 5-15 วัน จะมีไข้สูง อาเจียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หลังจากนั้นจะเริ่มมีอาการผิดปกติทางสมอง เช่น คอแข็ง สติสัมปชัญญะลดลง ซึม หรือ เพ้อ คลั่ง ชัก หมดสติ หรืออาจมือสั่น เป็นอัมพาต ซึ่งหลังจากอาการของโรคหายไป อาจหลงเหลือความผิดปกติของสมองอยู่บ้าง เช่น พูดไม่ชัด เกร็ง ชัก หรือสติไม่ค่อยปกติ

ขอบคุณข้อมูลจาก : ntbdays.com , sanook

แสดงความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่