สิ่งที่พ่อแม่มองข้าม กระเป๋านักเรียนใบหนัก ส่งผลกระทบต่อกระดูกสันหลัง เสี่ยงตัวเตี้ยระยะยาว
กระเป๋านักเรียนหนัก ลูกหลานแบกกระเป๋าไปโรงเรียนทีทำเอาเหนื่อย อันตรายจากการแบกกระเป๋าหนักๆที่พ่อแม่ละเลยสิ่งเหล่านี้ อาจจะทำให้ส่งผลกระทบต่อหมอนรองกระดูกสันหลังได้
เคยสังเกตไหม? เวลาลูกหลานของเราไปโรงเรียน บางวันกระเป๋านักเรียนที่สะพายไปเรียนนั้นใบใหญ่และหนัก เต้มไปด้วยตำราเรียน!
“อ้าวแบบนี้ก็ดีแล้วไม่ใช่หรือ ลูกหลานเราตั้งใจเรียนแบกตำราเต็มกระเป๋าไปเรียนทุกวัน”
ขอบอกตรงนี้เลยว่า ท่านกำลังคิดผิด! เราไปดูกันเลยดีกว่าครับว่าทำไมการแบกหนังสือของเด็กๆที่หนักมากเกินไป ถึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง
“กระเป๋านักเรียน ใบหนัก” ทำให้ปวดหลัง คอ ไหล่ เสี่ยงเตี้ยระยะยาว ภาพของเด็ก ๆ ที่สะพายกระเป๋าจนหลังโก่ง เป็นภาพชินตาที่ไม่มีใครเข้ามาแก้ปัญหาจริงจังเสียที ถึงแม้จะมีข้อมูลจากมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคก่อนหน้านี้ ระบุว่า เด็กในระดับชั้น ป.1 ป.2 และ ป.3 ไม่ควรแบกกระเป๋านักเรียนหนักเกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัว แต่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษายังใช้กระเป๋าหนักเกินร้อยละ 20 ของน้ำหนักตัว ซึ่งถือว่าวิกฤติมาก
นับเป็นอันตรายที่พ่อแม่จะนิ่งนอนใจไม่ได้อีกต่อไป โดย ทีมงาน Life & Family ได้สอบถามไปยัง นพ.สาริจฉ์ ศรีสุภาพ ศัลยแพทย์กระดูกสันหลังและข้อ โรงพยาบาลกรุงเทพ ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น พบว่า การสะพายกระเป๋านักเรียนหนัก ๆ ส่งผลกระทบต่อหมอนรองกระดูกสันหลังของเด็กจริง หากต้องสะพายกระเป๋าหนัก ๆ ไปโรงเรียนทุกวัน อาจมีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามมาได้ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีความเสี่ยงต่อการปวดหลังเรื้อรัง และส่งผลต่อรูปร่างของกระดูกสันหลังในอนาคตอีกด้วย
โดยมีการศึกษาชัดเจนพบว่า หากมีอาการปวดหลังตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ โตขึ้นไป อาการปวดหลังจะเกิดเรื้อรังได้ โดยในต่างประเทศนั้น คนที่ปวดหลังเรื้อรัง เช่น ในวันแรงงานก็มีปัญหามาตั้งแต่วัยเด็ก และวัยรุ่น ยิ่งถ้าแบกกระเป๋าที่หนักมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวจะเห็นได้เลยว่าลักษณะของกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูก ความโค้งงอของกระดูกสันหลังจะผิดปกติไป
ไม่เพียงแต่จะส่งผลโดยตรงต่อร่างกายเท่านั้น ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กด้วย ถึงแม้จะไม่มาก แต่ก็คุณหมอท่านนี้บอกว่า การที่เด็กสะพายกระเป๋านักเรียนหนัก ๆ เป็นประจำ กล้ามเนื้อทั้งไหล่ ทั้งเอวจะเมื่อยล้า เป็นไปได้ที่สมาธิในการเรียนรู้ของเด็กจะลดลง
“ก็เหมือนผู้ใหญ่นั่นแหละ หากต้องแบก หรือยกอะไรหนัก ๆ ก็ต้องเมื่อยล้าเป็นธรรมดา แต่สำหรับเด็กผมคิดว่ากระเป๋ามันหนักเกินไปนะ ต้องมีใครเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง โดยเฉพาะโรงเรียนที่ควรเข้ามามีส่วนช่วยเด็ก โดยหาตู้ หรือโต๊ะเพื่อไว้เก็บสัมภาระ หรือหนังสือ รวมถึงสอนเด็กจัดตารางสอนให้พอดี และถือของเท่าที่จำเป็นไปโรงเรียน ซึ่งพ่อแม่ และโรงเรียนต้องให้ความใส่ใจในเรื่องนี้ด้วยครับ” ศัลยแพทย์กระดูกสันหลังและข้อเผย
ด้านแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ ทางศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มีข้อเสนอแนะไว้เป็นทางเลือกว่า
– เลือกใช้กระเป๋ามีล้อเข็น ช่วยลดความเสี่ยงต่อการปวดกล้ามเนื้อ ลดน้ำหนักกดทับกระดูกสันหลัง อย่างไรก็ตามเด็กนักเรียนก็ยังคงต้องแบกหิ้วกระเป๋าล้อเข็นขึ้นลงรถโดยสาร หรือบันไดอยู่ดี ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุพลัดตกหกล้มได้ง่าย พ่อแม่ควรพิจารณาน้ำหนักโดยรวมทั้งหมดต้องไม่ควรเกิน 20 % ของน้ำหนักตัว เช่น เด็กน้ำหนักประมาณ 20 ก.ก. น้ำหนักกระเป๋าไม่ควรเกิน 4 ก.ก.
– การใช้กระเป๋าแบกหลังต้องเลือกขนาดให้เหมาะสมกับเด็ก มีช่องว่างใส่ของเพียงพอ และจัดวางอย่างเหมาะสมโดยให้น้ำหนักกระจายไปทั่วกระเป๋า สายสะพายไหล่ควรมีความกว้างกว่า 6 ซ.ม. สายที่เล็กจะทำให้กดทับบริเวณไหล่ ซึ่งอาจกดลึกจนมีผลต่อกล้ามเนื้อ และเส้นประสาทได้
– การใช้กระเป๋าสะพายหลัง ต้องปรับสายสะพายเพื่อให้กระเป๋าแนบหลัง ไม่ห้อยต่ำ ก้นกระเป๋าต้องไม่อยู่ต่ำแหน่งที่ต่ำกว่าบั้นเอว และผู้ใช้ต้องเดินตัวตรง ไม่เอนตัวไปข้างหน้า
– การแบกกระเป๋าต้องใช้สายสะพายไหล่ทั้งสองข้างเพื่อให้น้ำหนักกระจายตัวอย่างสมดุล การสะพายไหล่ข้างเดียวจะมีความเสี่ยงสูงต่อการปวดต้นคอ ไหล่ และหลังได้ เพราะน้ำหนักถ่วงไม่สมดุลย์นั่นเอง
ถึงเวลาแล้วที่ผู้ใหญ่ทั้งหลาย ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมเสียที เพราะไม่เช่นนั้น เด็กในวันนี้อาจมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพตามมาในอนาคตได้ นั่นหมายความว่า คุณภาพในการใช้ชีวิตของเด็กอาจด้อยลงตามไปด้วย
เกือบ 4 กิโลกรัม หลายคนอาจจะบอก ก็ 4 กิโลกรัมเอง แต่ถ้าเอามาเทียบน้ำหนักตัว ผมว่าเยอะนะครับ(มีวันอื่น ที่กระเป๋าหนักกว่านี้ มากสุดก็เกือบ 5 กิโลกรัม)
ลูกผมหนัก 24 กิโลกรัม แปลว่า ลูกต้องแบกน้ำหนักเพิ่มถึง 1/6 ของน้ำหนักตัว(16.67%) ผมว่ามันมากเกินไปนะครับ อย่างผมหนัก 80 กิโลกรัม ถ้าแบก 1/6 ของน้ำหนักตัว ก็ 13.33 กิโลกรัมเลยนะครับ แค่คิด ก็ไม่อยากแบกแล้ว
เคยคุยกับหมอ อาจจะมีปัญหาเรื่องกระดูกและข้อต่อได้ ทำให้เด็กเดินตัวเอียง ห่อไหล่ ทิ้งน้ำหนักไปที่เท้าไม่เท่ากัน ส่งผลให้เด็ก ปวดคอ ไหล่ หลัง และกระดูกโค้งเปลี่ยนรูปได้
ลองไปหาข้อมูลว่ามาตรฐานน้ำหนักกระเป๋านักเรียนควรอยู่ที่เท่าไหร่ ต่างประเทศ กำหนด น้ำหนักกระเป๋านักเรียน ร้อยละ 10-20 ของน้ำหนักตัว แต่คนไทยตัวเล็ก กำหนดที่ไม่ควรเกินร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัว
เด็กอายุ 7 ปี น้ำหนักมาตรฐาน ประมาณ 22.5 กิโลกรัม ดังนั้น กระเป็านักเรียนไม่ควรมีน้ำหนักเกิน 3.375 กิโลกรัม
ทางแก้ ถ้าไม่สามารถลดน้ำหนักสิ่งที่พกไปได้ ก็อาจจะมีล้อลากที่กระเป๋าครับ เพื่อให้กล้ามเนื้อได้หยุดพักบ้าง จัดกระเป๋าให้น้ำหนักไม่มากไปข้างใดข้างนึง ต้องใส่สะพายกระเป๋าทั้งสองข้าง โดย1สาย/ไหล่
แล้วดูยังไงว่าเด็กผิดปกติไหม ก็ให้เด็กถอดเสื้อ ถอดรองเท้า ให้ยืน แล้วสังเกตุว่า ไหล่ สะโพก ทั้งสองข้างอยู่ในระดับเดียวกันไหม ดูแนวกระดูสันหลังว่าตคดงอไหม ถ้าผิดปกติ ก็ต้องไปพบแพทย์ครับ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 3 พ.ค. นพ.พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ (ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ) กล่าวให้ข้อมูลว่า ถ้าสะพายกระเป๋าเป้ที่มีน้ำหนัก 20% ของน้ำหนักตัวเด็ก จะมีโอกาสเกิดอาการ ปวดคอ ปวดหลัง กระดูกสันหลังคด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และยังทำให้การทำงานของปอดลดลงอีกด้วย
สำหรับคำแนะนำการซื้อกระเป๋าเป้สะพายหลังมีดังนี้ กระเป๋าต้องน้ำหนักเบา ความกว้างกระเป๋าต้องไม่กว้างกว่าไหล่ และความสูงของกระเป๋าเมื่อเด็กนั่งลง ต้องไม่สูงเกินไหล่ ขณะที่สายสะพายไหล่ควรหุ้มเบาะทั้ง 2 เส้น และควรมีความกว้างกว่า 6 ซม. เพื่อกระจายแรงที่กดลงบนไหล่ ที่สำคัญควรคล้องสายสะพายไหล่ทั้ง 2 เส้น อย่าสะพายหรือแบกข้างเดียว และปรับสายสะพายให้กระชับพอดี เพื่อให้กระเป๋าแนบหลังและก้นกระเป๋าอยู่สูงกว่าเอว ถ้ามีสายรัดบริเวณเอวก็ควรใช้ด้วย จะช่วยให้กระเป๋ากระชับกับแผ่นหลัง ไม่แกว่งไปมาขณะเดินหรือวิ่ง
อย่างไรก็ตาม น้ำหนักกระเป๋าไม่ควรเกิน 10-15% ของน้ำหนักตัว หรือหากเด็กสะพายกระเป๋า แล้วเดินโน้มตัวมาข้างหน้า แสดงว่าน้ำหนักกระเป๋ามากเกินไป จึงควรจัดสิ่งของที่มีน้ำหนักมากที่สุด ให้อยู่ชิดบริเวณกลางหลังมากที่สุด และจัดวางให้น้ำหนักกระจายทั่วกระเป๋า ทั้งนี้ภัยใกล้ตัวที่คุณพ่อ-คุณแม่มองข้าม และมักไม่ค่อยสนใจกันเท่าไหร่ กลายเป็นเรื่องเคยชินจนเป็นปัญหาสุขภาพ เพราะหลังเล็กๆ ของเด็กก็มีความหมาย
ขอบคุณข้อมูลจาก : pantip.com