สาหร่ายทะเลได้ถูกนำมาปรุงเป็นอาหารต่างๆ มากมายตามภูมิปัญญาของคนที่อยู่ริมชายฝั่งทะเล หรือบนเกาะ ชาวญี่ปุ่นและชาวจีนขึ้นชื่อในเรื่องเมนูอาหารที่ทำจากสาหร่ายเนื่องจากชาวจีนและญี่ปุ่นนิยมรับประทานอาหารที่ปรุงจากสาหร่าย ในการบริโภคส่วนใหญ่จะเป็นการบริโภคสาหร่ายแห้งที่ผ่านกรรมวิธีมาแล้ว เช่น ข้าวห่อสาหร่ายของญี่ปุ่นซึ่งปัจจุบันคนไทยคุ้นเคยกันดีเพราะมีการจำหน่ายกันแพร่หลายแม้ในตลาดนัด ส่วนสาหร่ายที่ชาวไทยรู้จักกันดีของชาวจีนคือ จี๋ฉ่าย ที่นำมาทำแกงจืดสาหร่ายรับประทานกันอยู่ทั่วไป
ส่วนในประเทศไทยสาหร่ายทะเลเป็นเมนูอาหารที่มีรับประทานทางภาคใต้และภาคตะวันออกมาเนิ่นนานแล้ว เช่น ยำสาหร่าย ชุบแป้งทอด หรือนำมาจิ้มรับประทานกับน้ำพริก สาหร่ายบางชนิดผ่านการอบแห้ง เช่น สาหร่ายผมนาง สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานและนำมาปรุงอาหารได้สะดวกกว่าเดิม ส่วนสาหร่ายที่นำมาเป็นขนมในซองสำเร็จรูปก็เป็นที่นิยมของผู้บริโภคจนเจ้าของขึ้นแท่นเป็นเถ้าแก่
สาหร่ายเม็ดพริกหรือสาหร่ายพวงองุ่น เป็นสาหร่ายทะเลที่นำมารับประทานสด สมัยก่อนต้องอาศัยเก็บจากชายหาดเมื่อถูกคลื่นซัดมาจากทะเล ซึ่งมีในบางฤดูเท่านั้น ปัจจุบันสาหร่ายเม็ดพริกสามารถเพาะเลี้ยงแล้ว ในสาหร่ายจะมีแมกนีเซียมช่วยให้กล้ามเนื้อและประสาททำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงแคลเซียมที่บำรุงกระดูก ไอโอดีนป้องกันและรักษาโรคคอพอก สังกะสีที่ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกัน และมีเบต้าแคโรทีนช่วยต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงกรดอะมิโนที่จำเป็นหลายอย่าง ไขมันในสาหร่ายมีอยู่ในปริมาณต่ำให้พลังงานเพียงเล็กน้อยแต่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเหมาะสำหรับผู้ป่วย ความดันสูง โรคหัวใจ และเบาหวาน
เมื่อก่อนสาหร่ายเม็ดพริกมักนำมารับประทานกับน้ำพริก ต่อมาร้านอาหารริมทะเลได้นำมาดัดแปลงเป็นส้มตำสาหร่าย มีโอกาสได้ชิมมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่มีเวลาได้ศึกษาในรายละเอียดเอามาให้อ่านกัน คราวนี้มีโอกาสเจอเกษตรกรคนทำจริงจึงนำมาเสนอ คุณจีระศักดิ์ มุสิแดง เป็นเจ้าของฟาร์มสาหร่ายชื่อ นายหัวฟาร์ม ตั้งอยู่ที่ชายหาดท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ใกล้กับอุทยานแห่งชาติหาดท้ายเหมือง
คุณจิระศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า จบการศึกษาทางด้านวิศกรโทรคมนาคม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ทำงานด้านโทรคมนาคมในกรุงเทพฯ มา 6 เดือน รู้สึกอึดอัดกับชีวิตในเมือง อยากมีธุรกิจของตัวเอง มีโอกาสได้ดูการเลี้ยงสาหร่ายของญี่ปุ่นในสื่อออนไลน์จึงเกิดความชอบ ไม่นึกว่าในประเทศไทยมีการเลี้ยงเหมือนกัน ต่อมาได้เจอเพจของประมงชายฝั่ง จังหวัดเพชรบุรี เปิดอบรมการเลี้ยงสาหร่ายหางกระรอกหรือที่จังหวัดพังงาเรียกสาหร่ายเม็ดพริก จึงสมัครเข้าอบรมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 มานี้เอง ใช้เวลา 1 วันเต็ม ได้มีโอกาสเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ในฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริที่จังหวัดเพชรบุรี
หลังจากผ่านการอบรมมาก็ได้เริ่มหาฟาร์มเลี้ยง โดยได้เช่าที่หน้าหาดท้ายเหมืองซึ่งเป็นบ่อเพาะพันธุ์กุ้งเก่า บนพื้นที่ประมาณ 50 ตารางวา แล้วจึงยื่นใบลาออกจากบริษัทมาทำเต็มตัว ได้มาปรับปรุงระบบน้ำ ระบบไฟ และโครงสร้างอื่นหมดเงินไปประมาณ 150,000 บาท ลองผิดลองถูกมาจนประสบผลสำเร็จ
การเตรียมบ่อ
จากการศึกษาการเลี้ยงสาหร่ายในบ่อดิน จำเป็นต้องมาประยุกต์เลี้ยงในบ่อปูน ซึ่งต้องเปลี่ยนวิธีการหลายอย่าง การเตรียมบ่อเริ่มจากการสูบน้ำเข้าให้เต็มบ่อปูนขนาดความกว้าง 3.5 เมตร ยาว 4 เมตร ระดับน้ำสูงประมาณ 1-1.5 เมตร ใส่คลอรีนฆ่าเชื้อ 5 ช้อนโต๊ะ ซึ่งบรรจุน้ำประมาณ 12 คิวบิกเมตร ขนาดของบ่อแล้วแต่สภาพพื้นที่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญนัก แต่ระดับน้ำเป็นสิ่งสำคัญ ใช้เครื่องให้ออกซิเจนตีน้ำไว้ 1 คืน โดยเดินท่อพีวีซี 2 แถวไว้ที่พื้นบ่อ เจาะรูขนาด 1 มิลลิเมตร ไว้ทั่วท่อ 20-30 จุด เพื่อจะได้กระจายได้ทั่วบ่อ หลังจากนั้นปล่อยน้ำทิ้ง ล้างบ่อด้วยเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง ปล่อยทิ้งไว้ให้แสงแดดส่องฆ่าเชื้อประมาณ 3-4 วัน จึงปล่อยน้ำเข้าบ่ออยู่ในระดับที่พอเหมาะ
น้ำ ปัจจัยสำคัญ
การเลี้ยงสาหร่ายให้มีคุณภาพ น้ำจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ความเค็มของน้ำจะอยู่ที่ระดับ 25-30 พีพีที ถ้าความเค็มต่ำกว่า 25 พีพีที นั้นสาหร่ายจะละลายหายไป และถ้าความเค็มสูงกว่า 40 สาหร่ายก็จะตายเช่นกัน และถ้าเกิน 35 พีพีที สาหร่ายจะมีกลิ่นคาว ในกรณีที่น้ำเค็มที่สูบจากทะเลเค็มเกินต้องเติมน้ำจืดเพื่อเจือจางในระดับที่เหมาะสม การเติมน้ำจืดควรระมัดระวังเรื่องคลอรีนที่ใส่ในน้ำประปา จึงควรมีบ่อพักน้ำ
แต่ถ้าน้ำมีระดับความเค็มน้อยจากการวัดค่าตอนสูบน้ำเข้าก็จะหยุดสูบน้ำเข้าเพื่อรอให้น้ำทะเลมีระดับค่าใกล้เคียงกับปกติ เช่น ในช่วงหลังฝนตกน้ำเค็มจะมีค่าน้อยกว่า ต้องทิ้งไว้สักระยะหนึ่งให้เข้าสู่ภาวะความเค็มปกติ แต่ที่หาดท้ายเหมืองโชคดีที่มีโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม และบ่อเลี้ยงกุ้งทิ้งน้ำเสียลงทะเล น้ำที่ใช้ตลอดปีจึงมีความสะอาดปลอดภัยกว่าที่อื่น ไม่จำเป็นต้องฆ่าเชื้อเลย ที่มั่นใจเช่นนี้เพราะคุณภาพของผลผลิตสาหร่ายจะเป็นตัววัดคุณภาพของน้ำ ควรจะต้องมีการตรวจค่าความเค็มของน้ำทุกๆ 3 วัน ถ้าพบว่าความเค็มลดลงหรือมากเกินก็ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำทันที แต่ถ้าค่าความเค็มเหมาะสมก็สามารถเลี้ยงต่อไปได้อีก แต่ไม่ควรเกิน 5 วัน
เมื่อเตรียมน้ำเสร็จแล้ว ก็นำต้นสาหร่ายที่เป็นแม่พันธุ์มาใส่ในแผงเพาะสาหร่าย แผงดังกล่าวทำจากท่อพีวีซีและตาข่ายพลาสติกสีดำ รูตาข่าย 10 มิลลิเมตร เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 50 คูณ 50 เซนติเมตร ใช้ตาข่าย 2 ชั้น ชั้นแรกเป็นที่อยู่ของสาหร่าย ชั้น 2 เป็นฝาปิด 1 บ่อ ลงได้ 9-10 แผง ต้นพันธุ์ที่เหมาะจะแข็งกว่าปกติ และมียอดอ่อนเป็นพวงขนาดเล็กๆ อยู่เต็ม เมื่อวางต้นพันธุ์สาหร่ายกระจายจนทั่วก็เอาตาข่ายชั้น 2 มาปิดไว้พร้อมมัดเชือกทั้งสี่ด้านป้องกันไม่ให้ต้นพันธุ์หล่นออกจากแผง แล้วนำมาหย่อนลงในบ่อตามความลึกที่ 30-60 เซนติเมตร จากผิวน้ำในบ่อ
ในช่วงระหว่างดูแลหมั่นสังเกตน้ำ ถ้าน้ำใสเกินไปแสดงว่าอาหารสำหรับสาหร่ายหมดแล้ว จึงควรถ่ายน้ำออกเอาน้ำใหม่เข้ามา และต้องตรวจค่าความเค็มทุกๆ 3 วัน น้ำที่ดีเหมาะสมกับการเลี้ยงสาหร่ายจึงจะมีความขุ่นเล็กน้อย ระดับของกระชังในฤดูร้อนควรจะต้องอยู่ลึกกว่าปกติ เพราะมีแสงแดดส่องทำให้อุณหภูมิของน้ำสูงสุด ในช่วงหน้าหนาวสาหร่ายเม็ดพริกสามารถเจริญเติบโตได้ดีและผลผลิตมีจำนวนมากกว่าฤดูอื่น
ผลผลิตในฤดูหนาวสามารถเก็บเกี่ยวได้ภายใน 1 เดือน ส่วนฤดูฝนจะใช้เวลา 45 วัน และในฤดูร้อนจะใช้เวลา 50-60 วัน ส่วนผลผลิตในฤดูหนาวจะมีน้ำหนักถึงแผงละ 12-14 กิโลกรัม ส่วนหน้าฝนจะมีผลผลิตประมาณ 8-11 กิโลกรัม ส่วนหน้าร้อนผลผลิตสาหร่ายจะลดลงเหลือแค่ 6-8 กิโลกรัมเท่านั้น
วิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิต
ในฟาร์มนายหัวจะแบ่งเป็นบ่อเลี้ยง 12 บ่อ บ่อเพาะพันธุ์ 2 บ่อ รวมเป็น 14 บ่อ โดยปกติจะเลี้ยงคราวละ 3 บ่อ เพื่อให้มีผลผลิตต่อเนื่อง การเก็บสาหร่ายก็สามารถทำได้ง่ายๆ โดยดึงแผงเลี้ยงสาหร่ายขึ้นจากน้ำแล้วเอาสันมือกดลงไปที่ตาข่าย ช้อนเอาสาหร่ายมาใส่ภาชนะจนหมดแผง แล้วนำมาใส่บ่อที่มีเครื่องตีออกซิเจนที่มีขนาดเล็กกว่าบ่อเลี้ยง เพื่อให้สาหร่ายสะอาดปราศจากสิ่งเจือปนและเป็นการพักฟื้นให้สาหร่ายแข็งแรงทนทานต่อการขนส่งรวมถึงการเก็บรักษา ใช้เวลาในบ่อ 2-3 วัน จึงนำมาจำหน่าย
สาหร่ายเม็ดพริกจะถูกบรรจุในถุงซิปพลาสติกขนาดบรรจุ 1-2 กิโลกรัม แล้วใส่กล่องโฟมอีกที เพื่อไม่ให้ช้ำเสียหาย ส่งทางขนส่งสาธารณะทั่วไป ส่วนผู้ซื้อเมื่อได้รับสาหร่าย มีคำแนะนำว่าห้ามแช่น้ำจืดเด็ดขาดเพราะสาหร่ายจะละลายหายไปกับน้ำจืดและห้ามแช่ตู้เย็นสาหร่ายจะละลายเป็นน้ำ แนะนำให้เก็บในอุณหภูมิห้องซึ่งสามารถเก็บได้นาน 7-10 วัน และหมั่นรินน้ำที่ค้างถุงทิ้งด้วย สนนราคาสาหร่ายเม็ดพริกอยู่ที่กิโลกรัมละ 200-250 บาท ค่าขนส่งกิโลกรัมละ 100 บาท ค่ากล่องโฟม 40-100 บาท กล่องโฟมใหญ่สามารถบรรจุได้ 10 กิโลกรัม
สนใจลองชิมส้มตำสาหร่ายได้ที่ ร้านจ๊อสพิซซ่า หน้าหาดท้ายเหมือง หรือติดต่อสั่งซื้อสาหร่ายเม็ดพริกได้ที่ คุณจิระศักดิ์ มุสิแดง โทรศัพท์ (087) 566-9855
ขอขอบคุณ : เทคโนโลยีชาวบ้าน