สิทธิที่คนทำงานต้องรู้ : แจ้งลาออกล่วงหน้าจำเป็นแค่ไหน มีสิทธิอะไรบ้างที่ควรจะได้

0

สิทธิที่คนทำงานต้องรู้ : แจ้งลาออกล่วงหน้าจำเป็นแค่ไหน มีสิทธิอะไรบ้างที่ควรจะได้

“ต้องแจ้งลาออกล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน” กฎที่บริษัทระบุไว้ ถ้าไม่ทำตามจะผิดกฎหมายหรือเปล่า

ในเรื่องของการแจ้งลาออก กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องแจ้งล่วงหน้านานแค่ไหน เราอาจจะยื่นจดหมายลาออกวันนี้ แล้วพรุ่งนี้จะไม่มาทำงานเลยก็ทำได้ เพียงแต่การทำแบบนี้จะทำให้เราดูไม่เป็นมืออาชีพ ไม่มีความรับผิดชอบ เพราะปกติแล้วการที่บริษัทมักจะให้แจ้งล่วงหน้า 30 วัน ก็เพื่อที่เขาจะได้เตรียมหาคนใหม่ และมีเวลาจัดการงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของเราว่าจะถ่ายโอนงานจากเราไปให้คนอื่น ๆ ดูแลแทนอย่างไรได้บ้าง การที่เราไม่แจ้งล่วงหน้า และไม่เผื่อเวลาให้เขาได้เตรียมตัว อาจจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของคนอื่น ๆ ได้

ซึ่งสิ่งที่สำคัญในการแจ้งลาออกก็คือ เราจำเป็นจะต้องแจ้งลาออกโดยการยื่นจดหมายลาออกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเสมอ ถ้าหากแจ้งลาออกด้วยคำพูดเพียงอย่างเดียวแล้วไม่มาทำงาน ก็จะไม่มีหลักฐานการลาออก และบริษัทอาจถือว่าเป็นการขาดงานเกินสามวันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทำให้บริษัทมีสิทธิบอกเลิกจ้างเราโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ ซึ่งอาจจะทำให้เราต้องเสียสิทธิต่าง ๆ ที่เราควรจะได้ไปด้วย เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือสวัสดิการบางอย่างที่บริษัทมีให้ โดยที่มีเงื่อนไขว่าจะต้องออกจากงานโดยไม่ใช่การถูกเลิกจ้าง

ยื่นจดหมายลาออกแล้วแต่นายจ้างไม่อนุมัติให้ออก เขามีสิทธิไหมในการทำแบบนี้

ในกรณีนี้ไม่สามารถทำได้ ถ้าเรายื่นจดหมายลาออกที่เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างถูกต้องเรียบร้อยแล้ว เราสามารถที่จะไม่มาทำงานตามวันที่เราแจ้งไว้ในจดหมายลาออกได้เลย โดยที่ไม่จำเป็นต้องรอการอนุมัติจากนายจ้าง รวมทั้งเขาเองก็ไม่มีสิทธิมาบังคับไม่ให้เราออกด้วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ต่อให้นายจ้างไม่อนุมัติ แต่คนทำงานส่วนใหญ่ก็คงจะไม่อยู่ทำงานต่อ หลังจากครบกำหนดวันสุดท้ายของการทำงานที่ระบุไว้ในจดหมายลาออกอยู่ดี

ลาออกเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ใช่ว่าจะทำได้ในทุกกรณีเสมอไป

ที่บอกว่าเรามีสิทธิที่จะแจ้งลาออกและระบุวันที่เราจะมาทำงานวันสุดท้ายล่วงหน้านานแค่ไหนก็ได้นั้น ไม่ใช่ว่าคนทำงานทุกคนจะสามารถทำได้เสมอไป ถ้าอยากรู้ว่าเราสามารถยื่นใบลาออกได้ตลอดเวลาไหม ก็ให้ดูในสัญญาจ้างงานที่เราเซ็นกับบริษัทว่าเป็นสัญญาแบบไหน ซึ่งจะมีอยู่สองประเภท คือ สัญญาแบบไม่มีระยะเวลา และ สัญญาแบบมีกำหนดระยะเวลา

สัญญาแบบไม่มีระยะเวลา

สัญญาแบบไม่ที่มีระยะเวลา ก็คือสัญญาจ้างงานของพนักงานทั่ว ๆ ไป ที่เราเรียกกันว่า “พนักงานประจำ” สัญญาแบบนี้จะไม่ได้ระบุเอาไว้ในเอกสารสัญญาว่าต้องทำงานนานแค่ไหนทั้งเราและนายจ้างมีสิทธิยกเลิกสัญญาได้ทั้งคู่ ดังนั้นถ้าเราเซ็นสัญญาประเภทนี้ เราก็จะสามารถลาออกเมื่อไหร่ก็ได้ตามที่เราต้องการ

สัญญาแบบมีกำหนดระยะเวลา

สัญญาแบบมีกำหนดระยะเวลา คือสัญญาจ้างงานที่มีการกำหนดระยะเวลาทำงานที่ชัดเจน เช่น สัญญาจ้าง 6 เดือน หรือ สัญญาจ้าง 1 ปี เมื่อครบกำหนดเวลาทำงานที่ระบุไว้ในสัญญาแล้ว เราสามารถไม่ไปทำงานได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้า แต่ถ้าเราต้องการลาออกก่อนครบกำหนดในสัญญา ก็อาจจะทำให้เราต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัท ซึ่งจะมากน้อยแค่ไหนก็ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและรายละเอียดต่าง ๆ ในสัญญาที่เราเซ็น

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเจอสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา แต่ในสัญญากลับมีเงื่อนไขว่านายจ้างสามารถเลิกจ้างพนักงานเมื่อไหร่ก็ได้ หรือพนักงานสามารถลาออกเมื่อไหร่ก็ได้ ก็จะถือว่าสัญญานี้เป็นสัญญาที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาเช่นกัน

ลาออกแล้วคนทำงานอย่างเราจะได้ค่าชดเชยอะไรบ้างไหม

ในกรณีที่เราลาออกเอง เราจะไม่ได้ค่าชดเชยอะไรจากบริษัท แต่เราจะมีสิทธิขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากประกันสังคมได้ ถ้าเราได้จ่ายประกันสังคมมาแล้วเกิน 6 เดือน ภายใน 15 เดือน

สิ่งที่เราต้องทำก็คือ เมื่อลาออกจากงานแล้ว เราต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักจัดหางานของรัฐ หรือขึ้นทะเบียนออนไลน์ที่เว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน (https://empui.doe.go.th) ภายใน 30 วัน หลังลาออก ในกรณีที่เราขึ้นทะเบียนหลังจากผ่าน 30 วันไปแล้ว เราจะไม่สามารถเรียกร้องสิทธิย้อนหลังได้ และหลังจากขึ้นทะเบียนเสร็จแล้ว เราจะต้องรายงานตัวกับสำนักงานจัดหางานตามระยะเวลาที่เขากำหนด (เดือนละ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย) รวมถึงถ้าทางสำนักจัดหางานมีงานมาแนะนำเรา เราก็ต้องไปสมัครและสัมภาษณ์งานตามที่เขาแนะนำมาด้วย

โดยเงินทดแทนกรณีว่างงานที่เราจะได้รับก็คือ ร้อยละ 30 ของเงินเดือนล่าสุด และจะได้รับเงินทดแทนได้ปีละไม่เกิน 90 วัน ตัวอย่างเช่น ถ้าเงินเดือนล่าสุดของเราคือ 10,000 บาท เราจะได้เงินทดแทนเฉลี่ยเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งแต่ละครั้งที่เราได้รับเงิน เราอาจจะไม่ได้รับ 3,000 บาท พอดี เพราะเขาจะคิดตามจำนวนวันจากวันที่เราไปขึ้นทะเบียนครั้งแรก จนถึงวันที่เราไปรายงานตัวตามนัดครั้งแรก ซึ่งอาจจะไม่ใช่ 30 วันพอดีนั่นเอง

อย่างไรก็ตามเงินทดแทนที่เราจะได้คิดจากฐานเงินเดือนสูงสุดที่ 15,000 บาท เท่านั้น ความหมายก็คือ ไม่ว่าเราจะได้เงินเดือน 15,000 บาท หรือ 20,000 บาท เราก็จะได้เงินชดเชยเฉลี่ยเดือนละ 4,500 บาท เท่ากัน

นอกจากนั้น หากเราเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ คลอดบุตร ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต หลังจากลาออกเราก็ยังสามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อได้อีก 6 เดือน โดยไม่ต้องจ่ายเงินเข้าประกันสังคมได้อีกด้วยเช่นกัน

แม้การลาออกของเราจะถูกกฎหมาย แต่ก็อย่าปล่อยให้มันมาทำลายความสัมพันธ์

ถึงแม้กฎหมายจะไม่กำหนดระยะเวลาในการยื่นจดหมายลาออก ไม่บังคับให้เราต้องรอคำอนุมัติจากนายจ้าง แต่โดยมารยาทในการลาออกแล้ว เราก็ควรที่จะแจ้งลาออกล่วงหน้าตามที่กฎของบริษัทกำหนดไว้ เพราะนอกจากจะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของคนอื่น ๆ ที่ยังอยู่แล้ว ยังเป็นการรักษาน้ำใจ รักษาความสัมพันธ์อันดีต่อเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าอีกด้วย เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าในอนาคตเราอาจจะต้องร่วมงานกับพวกเขาเหล่านั้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอีกหรือไม่ และการจากกันพร้อมกับความรู้สึกที่ไม่ดี อาจจะส่งผลกระทบต่อตัวเราไม่น้อยเลยก็ได้

และยิ่งถ้าหากว่าตำแหน่งที่เราทำมีความสำคัญกับบริษัท หรือทำงานในตำแหน่งที่หากลาออกไปอย่างกะทันหันแล้วจะส่งผลเสียหรือทำให้บริษัทเกิดความเสียหายแล้วล่ะก็ นอกจากความรู้สึกและความสัมพันธ์ที่ต้องเสียไปแล้ว บริษัทอาจมีการยื่นฟ้องร้องเราได้เช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้นคงจะดีกว่าถ้าเราลาออกอย่างถูกต้องทั้งกฎหมายและกฎบริษัท เพื่อให้การลาออกของเรานั้นส่งผลดีต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะในแง่ของการทำงานหรือความรู้สึก

ขอขอบคุณ : jobthai

แสดงความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่