ประโยชน์ของการใส่บาตร “ในตอนเช้า” ที่อาจคาดไม่ถึง
ความงดงามหนึ่ง ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้หลั่งไหลข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาเก็บเกี่ยวบรรยากาศถึงแดนดินถิ่นไทย คือ ภาพของพระสงฆ์สามเณรผู้สงบเรียบร้อย ออกเดินเรียงรายบิณฑบาตในยามเช้า ซึ่งสีของจีวรและความงดงามของจริยวัตรพระสงฆ์ไทย ที่ได้รับการยอม รับจากชาวพุทธทั่วโลกว่ามีความอุดมด้วยปฏิปทาอันน่าเลื่อมใสที่สุด ยังคงสง่างามและศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอเมื่อกระทบกับแสงทองของดวงอาทิตย์ที่ฉายแสงสุกประกายในยามเช้า
ประเทศไทยนับว่าเป็นเมืองที่มีโชค ที่ทุกวันนี้เรามีโอกาสได้เห็นสมณะออกเดินบิณฑบาตในยามเช้าแทบทุกตรอกซอกซอย โดยไม่ต้องลำบากลำบนดิ้นรนหาพระสงฆ์เพื่อใส่บาตรเหมือนกับประเทศอินเดีย-เนปาล ที่เคยเป็นถึงต้นกำเนิดพระพุทธศาสนา ไม่ต้องกระเสือกกระสนดั้นด้นบินลัดฟ้ามาเพื่อชมความงามของประเพณีการบิณฑบาตอย่างพวกฝรั่งมังค่า แต่ด้วยความที่ในปัจจุบันสังคมมีการแข่งขันและเร่งรีบมากขึ้น จึงทำให้ชาวพุทธเราเองกลับยิ่งออกห่างจากประเพณีอันดีงามอย่างการตักบาตรพระในยามเช้า ทั้งที่คุณประโยชน์ของการใส่บาตรในตอนเช้ามีมากมายหลายประการด้วยกัน คือ
๑. การใส่บาตรทุกวัน ย่อมได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ ที่ตามพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ ๑) เป็นที่รักของผู้คนทั้งหลาย ๒) คนดีมีปัญญาย่อมชอบคบค้าสมาคมด้วย ๓) มีชื่อเสียงที่ดีงาม ๔) เป็นผู้ไม่ห่างไกลธรรม และ ๕) เมื่อตายแล้วย่อมเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์
๒. การใส่บาตรทุกวัน ทำให้จิตใจเกาะอยู่กับความดี เป็นการฝึกจิตให้คลุกเคล้าอยู่กับกุศล ซึ่งเป็นทางแห่งความเจริญ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรับรองว่า “ผู้ฝึกจิตดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้” เพราะเมื่อตื่นขึ้นมา สิ่งแรกที่จะนึกถึงคือจะหาอะไรใส่บาตรดี ซึ่งจุดนี้ก็เรียกว่าเป็นสังฆานุสติ เพราะนึกถึงพระสงฆ์ และจาคานุสติ เพราะนึกถึงสิ่งที่จะนำใส่บาตรพระ ถือเป็นบุญการเจริญพระกรรมฐานถึง ๒ กองด้วยกัน
๓. เป็นการลดความตระหนี่ บรรเทาความเห็นแก่ตัว สร้างใจให้เป็นสุขและ สร้างสังคมให้ร่มเย็น เพราะเป้าหมายหลัก ของการให้ทานที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ เพื่อกำจัดความตระหนี่ มุ่งสู่ความดีและความเสียสละ
๔. เป็นการต่อบุญต่อลาภให้แก่ตนเอง เพราะการใส่บาตรเป็นการเสริมทานบารมีโดยตรง เป็นการสร้างทางแห่งความมั่งคั่งร่ำรวยและความคล่องตัวในโลก ยิ่งทำทุกวัน กุศลก็ยิ่งส่งผลอย่างต่อเนื่อง จนสามารถหลีกพ้นความยากจนได้อย่างถาวร
๕. เพื่อการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุคคลอันเป็นที่รักที่ล่วงลับไปแล้ว อันเป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้มีคุณ
๖. เป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของเรา เอาไว้ เพื่อความงดงามและมีเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติ
๗. เป็นแบบอย่างการส่งต่อความดีจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้ลูกหลานมีแบบอย่างในการทำความดีสืบต่อไป เพราะถ้าคนเป็นพ่อแม่ไม่ทำตัวอย่างไว้ ลูกหลานก็ไม่มีตัวอย่างดู ต่อไปคนรุ่นใหม่ก็จะไม่กล้าทำ แล้ววัฒนธรรม ที่ดีงามของเราก็จะสูญสลายไปในที่สุด
๘. เป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เพราะพระสงฆ์สามเณรต้องอยู่ด้วยการบิณฑบาตเลี้ยงชีพ ถ้าไม่มีใครใส่บาตร ก็ไม่มีอาหาร เมื่อไม่มีอาหารย่อมไม่อาจดำรงชีพอยู่ได้ แล้วพุทธศาสนาก็อาจจะสิ้นสุดลงในยุคปัจจุบัน
๙. การใส่บาตรเป็นการสร้างความปรองดองให้กับชาวพุทธ เป็นการหยุดวิกฤตความศรัทธา เพราะถ้าชาวพุทธทุกบ้านพร้อมเพรียงกันใส่บาตร จะเกิดเป็นพลังแห่งความสามัคคีขึ้น ซึ่งพลังนี้จะช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสงบสุข ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ความสามัคคีของหมู่คณะ ย่อมทำให้เกิดสุข” ทำให้ชาวพุทธมีความเข้มแข็ง และสามารถจะสร้างกรอบอันดีงามให้แก่ภิกษุสามเณรทั้งหลายไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางได้
ประโยชน์ ๙ ประการของการใส่บาตรนี้ นับเป็นคุณอนันต์ เป็นลาภมหันต์ของชาวพุทธ ที่สามารถสร้างเสริมใส่ตัวได้ทุกวัน …เมื่อการใส่บาตรมีคุณค่าถึงเพียงนี้ แล้ว เราในฐานะชาวพุทธจะยอมปล่อยให้เสียประโยชน์และความสุขในส่วนนี้ไปเปล่าๆ ได้เชียวหรือ?
ขอขอบคุณ : onab