“ลุงชูเกียรติ” ทำงานภารโรง แม้ไม่มียศศักดิ์ แต่จิตใจสูงส่ง เป็นตัวอย่างที่แท้จริง
หากคนเรานั้นมองที่หน้าตา ยศถาบรรดาศักดิ์ ก็จะมองเห็นแต่คนที่อยู่สูง หลายต่อหลายคนที่ไม่มีเงินทองมากมาย ไม่มีหน้าตาบนสังคม ไม่ออกงานหรู ไม่แต่งตัวแบร์นเนม แต่คนเหล่านั้นเป็นคนดีที่ควรยกย่องและน่านำไปเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตได้อย่างมาก
ซึ่งในวันนี้เราได้มีบุคคลหนึ่งที่อยากจะเล่าให้กับทุกๆท่านได้อ่านกัน… ไม่ได้มีตำแหน่งเป็นครู แต่พวกเราก็เต็มใจเรียกท่านว่าครู “ลุงชูเกียรติ” ภารโรงหัวใจคุณครู รักงานศิลปะจนผู้ใหญ่เห็นความสามารถให้นำวิชามาสอนนร.11 ปี ขัดเกลาจิตใจเด็กให้มีความอดทน แม้ต่ำต้อยยศศักดิ์แต่จิตใจสูงส่ง
ในอาชีพ“ครู” นั้น ถือได้ว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ครูจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกศิษย์ได้สมดังคำที่เขาว่า “แม่พิมพ์” หรือ“พ่อพิมพ์” ของชาติ โดยการเปรียบเสมือนครูนั้นคือเรือจ้าง ที่คอยรับส่งให้ลูกศิษย์ถึงฝั่งดั่งที่ตั้งใจ แต่การเป็นครูนั้นก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่ใครๆคิด ต้องฝ่าอุปสรรค์มานักต่อนัก ต้องเรียน และต้องสอบแข่งขัน เพื่อมาเป็นครู
เช่นเดียวกับ “ชูเกียรติ เอื้อทวีสัมพันธ์” หรือลุงชูเกียรติ อายุ 57 ปี เป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งช่างไม้ ระดับ ช 4 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 1 หน้าที่ที่ลุงชูเกียรติทำภาษาชาวบ้านเรียกว่า “นักการภารโรง” นั่นเอง แต่ภารโรงท่านนี้ได้ใช้ความสามารถส่วนตัวทางด้านงานศิลปะถ่ายทอดให้กับนักเรียนจนเป็นที่ยอมรับในสังคม จนเด็ก ๆ ต่างพากันเรียกว่า“ครู”อย่างสนิทใจ
“ลุงชูเกียรติ” บอกว่า เป็นนักการภารโรงครั้งแรกตั้งแต่ปี 2535 ขณะนั้นประจำอยู่ที่โรงเรียนชุมชนที่ 11 วัดสุวรรณประดิษฐ์ กระทั่งปี 2539 ย้ายมาเป็นนักการภารโรงที่โรงเรียนบ้านแม่ระหัน จวบจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 26 ปี กิจวัตรประจำวันจะต้องมาโรงเรียนแต่เช้าตรู่ เพื่อมาดูแลความเรียบร้อยภายในโรงเรียน อาทิ เปิดห้องเรียนทุกห้อง ทำความสะอาดรอบอาคารเรียน ตัดหญ้า ฯลฯ
“ส่วนตัวลุงเป็นคนชื่นชอบ และรักในงานศิลปะอยู่แล้ว ไม่ได้ไปร่ำเรียนวิชามาจากใครที่ไหน พยายามศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง จนปี 50 ผู้บริหารของโรงเรียนเห็นความสามารถหยิบยืนโอกาสให้นำความรู้ความสามารถมาช่วยสอนเด็กนักเรียนในโรงเรียนบ้านแม่ระหัน ที่มีเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 53 คน ใช้เวลาสอนในกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ เน้นทักษะการเรียนรู้ และตอบสนองความถนัดของผู้เรียนแต่ละคน”
ภารโรงหัวใจคุณครู บอกต่อว่า ระยะแรกจะเน้นสอนวาดรูป-ระบายสี จนเด็กนักเรียนมีฝีมือเพิ่มขึ้นสามารถนำผลงานไปแสดงโชว์-ไปแข่งขันในงานศิลปหัตถกรรม ซึ่งนักเรียนสามารถคว้ารางวัลมาแล้ว ต่อมาเห็นว่างานศิลปะอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะเด็กนักเรียนบางคนอาจจะไม่ชอบศิลปะ จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนเป็นงานจักสานไม้ไผ่ งานปั้นกระถางต้นไม้ งานดัดแปลงขวดน้ำเป็นแจกัน งานแทงหยวก รวมถึงสอนดนตรีไท ย ทั้งขลุ่ย ระนาด กลอง ฉิ่ง เป็นต้น ทำให้เด็กนักเรียนที่มาเรียนกับลุงต่างเรียกคำนำหน้าว่า “ครูเกียรติ” ตอนแรกรู้สึกอึดอัดใจมาก เพราะเราเป็นแค่เพียงนักการภารโรง ไม่ได้เป็นข้าราชการครูจริงๆ
ด.ช.อนุรักษ์ ขวัญเนตร และ ด.ญ.แพรพรรณ ช้างพินิจ ทั้งคู่อายุ 12 ขวบ กำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 บอกว่า “พวกเราทุกคน รู้สึกชื่นชอบวิชาศิลปะที่ครูเกียรติสอนให้เป็นอย่างมาก เพราะว่าได้ผ่อนคลายความเครียดจากการเรียนวิชาปกติ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ที่ต้องใช้หลักการคำนวณ ครูเกียรติจะสอนวิชาศิลปะเพื่อให้มีสมาธิ และฝึกความอดทนไม่ได้สอนให้วาดภาพสวยงามเท่านั้น หากใครต้องการอยากเรียนวิชาศิลปะเพิ่มเติม ครูเกียรติก็จะนัดมาเรียนในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เด็กนักเรียนทุกคนในโรงเรียนจึงรักและเคารพครูเกียรติเหมือนครูผู้สอนคนอื่นๆ เช่นกัน
นอกจากผลงานศิลปะที่นำไปแสดงตามงานต่าง ๆ เป็นที่ชื่นชอบของผู้พบเห็นแล้ว…มีครูอยู่ท่านหนึ่งถึงกับมาขอให้ให้ลุงชูเกียรติสอนวิชาแทงหยวกให้จนคล่องแคล่วฝีมือชำนาญ ก่อนจากกันครูคนดังกล่าวได้นำพวงมาลัยดอกมะลิเข้ามาไหว้คารวะแสดงความมีน้ำใจ และนับถือลุงชูเกียรติเปรียบเสมือนครูที่สั่งสอนลูกศิษย์
ในตอนนั้นลุงชูเกียรติไม่ขอรับไว้ เนื่องจากตัวเองเป็นแค่เพียงนักการภารโรง จนครูที่เป็นลูกศิษย์พูดขึ้นว่า “ทำไมจะเป็นครูไม่ได้ ในเมื่อลุงเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้วิชาแทงหยวกให้ ผมก็ต้องเรียกว่าครูเช่นกัน” สร้างความประทับใจให้กับลุงชูเกียรติเป็นอย่างมาก จนถึงทุกวันนี้แกยังเก็บพวงมาลัยเอาไว้ ถึงแม้จะเหี่ยวอับเฉาไปตามกาลเวลาก็ตาม แต่มันมีคุณค่าทางจิตใจอย่างมาก คนอย่างลุงภารโรงคนนี้ อยากบอกว่า ต่ำต้อยยศศักดิ์ แต่สูงส่งด้วยจิตใจจริง ๆ
ที่น่าชื่นใจ และยินดีมาก ๆ อีกอย่างคือ เรื่องราวความสามารถของนักการภารโรงหัวใจครูท่านนี้ทราบถึงนายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ เมื่อท่านรู้ว่าในพื้นที่มีคนทำความดีก็เรียกประชุมปรึกษาหารือร่วมกับผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 1 จัดพิธีมอบโล่ และเกียรติบัตรเชิดชูความดีแก่บุคคลผู้ทำประโยชน์ให้แก่องค์กรให้ทันที ทั้งนี้เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับลุงชูเกียรติปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับครูได้นำแนวทางในการเรียนการสอนลูกศิษย์ให้เป็นคนดีในสังคมต่อไปด้วย
เรียกได้ว่าเป็นบุคคลที่น่าชื่นชมและน่ายกย่อง คนเราหากมีคุณความดีอยู่กับตัวความดีเหล่านั้นก็จะไม่หนีไปไหนจะอยู่ติดตัวเรา ถึงแม้ว่าไม่ประกาศให้ใครได้รู้ แต่เชื่อว่าคนเหล่านั้นจะเห็นได้เอง
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : dailynews , liekr