แนวทางการป้องกัน ที่ดินตาบอด คืออะไรและมีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง มาดูกัน
“ที่ดินตาบอด” เป็นที่ดินที่คนส่วนใหญ่หากเลือกได้ก็จะไม่เลือกเด็ดขาด เพราะมันมีปัญหาหลายอย่างตามมา แค่ชื่อก็ไม่เป็นมงคลซะแล้ว ประกอบกับลักษณะที่เข้า-ออกก็ลำบาก แม้จะเป็นเจ้าของที่ดินแท้จริงก็ตามที เพราะมันเป็นที่ดินที่ไม่ติดทางสาธารณะ หรือไม่มีทางเชื่อมไปสู่ทางสาธารณะได้ จะไปไหนทีก็ต้องเป็นภาระหรือข้อพิพาทกับเพื่อนบ้านอยู่เรื่อยๆ
แต่ถ้าจำเป็นต้องได้ที่ดินลักษณะดังกล่าวนี้จะทำอย่างไร? ลองมาดูกรณีศึกษาต่อไปนี้กัน
“เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่าช่วงหลังสงกรานต์พี่เลี้ยงที่บ้านดิฉันขออนุญาตลางานกลับบ้านต่างจังหวัด เพื่อไปเคลียร์ปัญหาที่ดินหลังจากมีการขายที่และแบ่งโฉนดแล้วเกิดปัญหาบ้านอยู่ในที่ “ดินตาบอด”
จึงพยายามเจรจาขอใช้ทางของที่ดินข้างเคียงเพื่อจะออกจาก ที่ดินตาบอด ไปถนนสาธารณะ เเต่ไม่สำเร็จ นางจึงโทรศัพท์กลับมาปรึกษาว่าทำอย่างไรดี มีข้อกฎหมายอะไรช่วยได้หรือเปล่า
ได้ยินคำถามจากพี่เลี้ยงแล้ววิญญานนักกฎหมายเก่าของดิฉันเข้าสิงร่างทันที 555 ก่อนอื่นต้องอธิบายความหมายของที่ดินตาบอดก่อนนะคะ ตามประมวลกฏหมายเเพ่งเเละพาณิชย์มาตรา 1349 ที่ดินตาบอด หมายถึงที่ดินเเปลงหนึ่งที่มีที่ดินเเปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงสาธารณะได้ หรือที่ดินเเปลงนั้นมีทางออกสู่สาธารณะได้ เเต่ต้องข้ามบึงหรือที่ชัน ซึ่งทำให้เจ้าของที่ดินนั้นเดือดร้อนเกินสมควร ด้วยเหตุนี้เองกฏหมายจึงให้สิทธิ์เเก่เจ้าของที่ดินเเปลงนั้น สามารถเดินผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ค่ะ
ซึ่งทางเดินผ่านนี้ในสายตาของกฏหมายเรียกว่า ทางจำเป็น ดังนั้นหากที่ดินของคุณถูกล้อมโดยที่ดินเเปลงอื่น ก็ถือว่าเป็นที่ดินตาบอด ซึ่งสามารถขอให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงเปิดทางจำเป็นนี้ได้ เเต่วิธีทำทางผ่านนั้นจะต้อง
1.เลือกให้พอควรเเก่ความจำเป็นเเละต้องคำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
2.การใช้ประโยช์นจากทางจำเป็นนี้ คุณต้องทดเเทนให้เเก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ด้วย โดยอาจจะกำหนดกันเป็นเงินรายปีก็ได้
เเละถ้าเจ้าของที่ดินข้างเคียงไม่อนุญาตให้ออก คุณก็สามารถร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งเปิดทางจำเป็นได้โดยเสียค่าทดเเทนเเก่เจ้าของที่ดินข้างเคียงเพื่อใช้ที่ดินของเขาเป็นทางจำเป็นออกสู่ถนนสาธารณะค่ะ
ส่วนเรื่องของพี่เลี้ยงดิฉันนั้นหลังจากรับคำปรึกษาไป นางยังคงงงงวยเจรจาไม่ถูก สุดท้ายต้องส่งโทรศัพท์ให้ดิฉันเจรจาแทนจึงตกลงกันได้เรียบร้อย ไม่ต้องไปร้องขอต่อศาลให้เสียเวลา และเสียมิตรภาพต่อกัน เชื่อดิฉันสิคะ บ้านใกล้เรือนเคียงหากถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกัน การดำเนินชีวิตของคุณจะมีความสุขแน่นอนค่ะ”
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๔๙ บัญญัติไว้ว่า
ที่ดินแปลงใด มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ จนไม่มีทางออกถึงสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่า เจ้าของที่ดินแปลงนั้น จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ ไปสู่ทางสาธารณะได้
ที่ดินแปลงใด มีทางออกได้ แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือ ทะเล หรือ มีที่ชัน อันระดับที่ดิน กับทางสาธารณะ สูงกว่ากันมากไซร้ ท่านว่า ให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับ
ที่ และ วิธีทำทางผ่านนั้น ต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็น ของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึง ที่ดินที่ล้อมอยู่ ให้เสียหายแต่น้อยที่สุด ที่จะเป็นได้
ถ้าจำเป็น ผู้มีสิทธิจะผ่าน จะสร้างถนน เป็นทางผ่าน ก็ได้
ผู้มีสิทธิจะผ่าน ต้องใช้ค่าทดแทน ให้แก่เจ้าของที่ดิน ที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหาย อันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ค่าทดแทนนั้น นอกจากค่าเสียหาย เพราะสร้างถนน ท่านว่า จะกำหนดเป็นเงินรายปี ก็ได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : บ้านและสวน,thai-civil-code.blogspot