เรื่องย่อ “พระมหาชนก”
พระเจ้ามหาชนก พระมหากษัตริย์ผู้ครองราชย์อยู่ยังนครมิถิลา เมืองหลวงแห่งแคว้นวิเทหะ ทรงมีพระราชโอรสสองพระองค์ คือ พระอริฏฐชนก และพระโปลชนก หลังจากพระราชบิดาสวรรคต พระอริฏฐชนกผู้เป็นพระมหาอุปราช ก็เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อมา โดยทรงแต่งตั้งพระโปลชนก ผู้อนุชาเป็นพระมหาอุปราช
ในเวลาต่อได้มีเหล่าอำมาตย์ผู้ทุจริตบางคนออกอุบายให้พระอริฏฐชนกเกิดความระแวงพระอนุชา โดยพากันเพ็ดทูลว่า พระโปลชนกกำลังวางแผนคิดการเป็นขบถ พระราชาทรงหลงเชื่ออำมาตย์เหล่านั้น จึงทรงให้ราชมัลจับกุมพระโปลชนกไปขังไว้ ทว่าด้วยบุญบารมีของพระโปลชนก พระองค์จึงสามารถหลบออกจากที่คุมขัง และเสด็จหนีไปยังชายแดนได้
ครั้นเมื่อไปถึง ก็มีบรรดาราษฏรผู้ที่จงรักภักดีต่อพระองค์พากันมาเข้าเป็นพวกด้วยเป็นอันมาก และเมื่อถึงกาลที่เอื้ออำนวย พระโปลชนกก็ทรงตัดสินพระทัยยกกองทัพไปยังนครมิถิลา ครั้นเมื่อทัพของพระองค์ไปถึง บรรดาทหารรักษาเมืองจำนวนมากได้พากันแปรภักดิ์ มาเข้ากับพระโปลชนกเนื่องจากเห็นใจที่พระโปลชนกถูกจับไปขังไว้โดยไม่ยุติธรรม เมื่อพระพระอริฏฐชนกทรงทราบว่าพระอนุชายกทัพมาชิงราชสมบัติ และได้มีเหล่าไพร่พลจำนวนมากไปเข้าด้วย พระองค์ตรัสสั่งพระมเหสี ซึ่งกำลังทรงครรภ์แก่ ให้ทรงหลบหนีเอาตัวรอด ส่วนพระองค์เองทรงยกทัพออกทำสงครามกับพระอนุชาจนสิ้นพระชนม์ในสนามรบ พระโปลชนกจึงทรงได้เป็นกษัตริย์ ครองนครมิถิลาสืบต่อมา
ฝ่ายพระมเหสีของพระพระอริฏฐชนกได้เสด็จหนีไปยังเมือง กาลจัมปากะ โดยระหว่างทางพระอินทร์เสด็จลงมาช่วย โดยทรงแปลงกายเป็นชายชราขับเกวียนพาพระนางเสด็จไปถึงยังเมืองนั้น และให้พระนางนั่งพักอยู่ในศาลาแห่งหนึ่งภายในเมือง บังเอิญพราหมณ์ทิศาปราโมกข์เดินผ่านมา เกิดความเอ็นดูสงสาร จึงรับพระนางไปอยู่ด้วย และอุปการะเลี้ยงดูดุจเป็นน้องสาว ไม่นานนัก พระมเหสีของพระเจ้าอริฏฐชนกก็ประสูติพระโอรส ทรงตั้งพระนามว่า มหาชนกกุมาร ตามพระนามของพระอัยกา
วันหนึ่ง มหาชนกกุมารได้ชกต่อยกับเพื่อนเนื่องจากถูกล้อเลียนว่าเป็นลูกไม่มีพ่อ มหาชนกกุมารพยายามถามความจริง พระมารดาจึงตรัสเล่าเรื่องทั้งหมดให้ทราบ พระองค์จึงตั้งพระทัยว่า เมื่อเติบใหญ่ก็จะเสด็จไปเอาราชสมบัติเมืองมิถิลากลับคืนมา
ครั้นเมื่อพระมหาชนกกุมารเจริญวัยเติบใหญ่ พระองค์ก็ตรัสแก่พระมารดาว่าจะไปล่องเรือสู่ดินแดนสุวรรณภูมิเพื่อทำการค้าสะสมทุนรอน และกำลังคนเพื่อชิงเอาราชสมบัตินครมิถิลากลับคืน พระมารดาจึงทรงนำเอาทรัพย์สินมีค่ามาจากมิถิลา ๓ สิ่ง คือ แก้วมณี แก้วมุกดา และแก้ววิเชียร เพื่อเป็นทุนล่องเรือไปค้าขายที่สุวรรณภูมิ
ในระหว่างทางเกิดพายุใหญ่ โหมกระหน่ำอย่างรุนแรงจนเรือจะล่ม บรรดาลูกเรือต่างหวาดกลัว และร้องคร่ำครวญหนีตายจนเกิดโกลาหล ฝ่ายมหาชนกกุมารนั้น เมื่อทรงทราบว่าเรือจะจมแน่แล้ว ก็เสวยอาหารจนอิ่มหนำ จากนั้นทรงนำผ้ามาชุบน้ำมันจนชุ่ม แล้วนุ่งผ้านั้นอย่างแน่นหนา ครั้นเมื่อเรือจมลง เหล่าพ่อค้าและกลาสีเรือทั้งปวงก็จมน้ำกลายเป็นอาหารของปลาและเต่า
ส่วนพระมหาชนกทรงแหวกว่าย อยู่ในทะเลถึง ๗ วัน นางมณีเมขลา เทพธิดาผู้รักษามหาสมุทร เห็นพระมหาชนก ว่ายน้ำอยู่เช่นนั้น จึงสนทนาแลกเปลี่ยนกัน จนนางมณีเมขลาเข้าใจในปรัชญาของการบำเพ็ญวิริยบารมี นางมณีเมขลาจึงช่วยอุ้มพามหาชนกกุมาร ไปจนถึงฝั่งเมืองมิถิลา
ยามนั้นที่นครมิถิลา ฝ่ายพระเจ้าโปลชนกทรงประชวรหนัก พระองค์ไม่มีพระโอรส มีแต่พระธิดาพระนามว่า สิวลี พระโปลชนกทรงรู้ว่าพระองค์ใกล้สิ้นพระชนม์แล้ว จึงตรัสสั่งอำมาตย์ว่า ผู้ใดสามารถไขปริศนาขุมทรัพย์ได้ก็ยกบ้านเมืองให้แก่ผู้นั้น ในที่สุด หลังจากพระโปลชนกสิ้นพระชนม์ลง บรรดาเสนาข้าราชบริพารจึงตั้งพิธีเสี่ยงราชรถราชรถได้มาหยุดอยู่หน้าศาลาที่พระมหาชนกกุมารทรงประทับอยู่ พระองค์ทรงไขปริศนาได้ทั้งหมด ผู้คนจึงพากันสรรเสริญปัญญาของพระมหาชนก ก่อนจะอัญเชิญพระองค์อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงสิวลี และขึ้นครองราชย์สมบัติแคว้นวิเทหะ พระมหาชนกทรงครองราชย์ด้วยความผาสุกมาโดยตลอด เนื่องด้วยทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม ต่อมาพระนางสิวลีประสูติพระโอรส ทรงนามว่า ทีฆาวุกุมาร ครั้นเมื่อเจริญวัยขึ้น พระบิดาทรงโปรดให้ดำรงตำแหน่งมหาอุปราช
อยู่มาวันหนึ่ง พระราชามหาชนกได้เสด็จอุทยานทอดพระเนตร เห็นมะม่วงต้นหนึ่งมีผล ต้นหนึ่งไม่มีผล โดยต้นที่มีผลนั้น ผลมีรสชาติอร่อย พระองค์ได้ทรงชิมและตรัสชม ทั้งทรงตั้งใจว่าจะกลับมาเสวยอีกครั้งในยามเย็น ทว่าเมื่อทรงออกจากพระราชอุทยานไปแล้ว มะม่วงต้นที่มีผลรสชาติดีก็เสียหายจนหมดเพราะผู้คนพากันมาโค่นเพื่อเอาผลมะม่วง ส่วนต้นที่ไม่มีผลยังอยู่รอดได้
เมื่อพระมหาชนกทรงทราบเรื่อง จึงทรงคิดได้ว่า ราชสมบัติ ก็เปรียบเหมือนต้นไม้มีผลที่อาจถูกทำลาย แม้จะไม่ถูกทำลายก็ต้องคอยระแวดระวังรักษา ให้เกิดความกังวล พระองค์ประสงค์จะทำตนเป็นผู้ไม่มีกังวลเหมือนต้นไม้ไม่มีผล แต่ก็ไม่ทรงทำเช่นนั้นเพราะคิดว่าเป็นหน้าที่ของพระราชาที่จะทำให้สังคมอยู่รอดพ้นก่อน ทั้งนี้เนื่องด้วยเพราะผู้คนในสังคมยังขาดสติปัญญาเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้า ดุจดังผู้ที่ทำลายต้นมะม่วงเพียงเพราะต้องการผลมะม่วงโดยไม่คิดเก็บไว้กินในวันหน้า
แหล่งที่มา : https://sites.google.com/site/phramahachanok/reuxng-yx