วิธีการเพาะเห็ดตับเต่า แบบยั่งยืน
สวัสดีครับ วันนี้เรามาแนะวิธีการเพาะ เห็ดตับเต่า แบบยั่งยืนกัน โดยเห็ดนี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ลักษณะดอกค่อนข้างใหญ่ ทรงหมวกเห็ดมน กระทะคว่ำ ผิวมัน เนื้อแข็ง แต่ไม่ถึงกับแข็งมาก ดอกสีน้ำตาลเข็ม ด้านล่างหมวกมีสปอร์กลมเล็กๆ สีเหลือง มีความต้องการของตลาดสูงมาก สามารถปรุงเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู จะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อให้ราคาสูงมีการซื้อ – ขาย ถึงกิโลกรัมละ 80 -120 บาท ทางภาคเหนือเรียกว่า “เห็ดห้า” เนื่องจากมักเจอเห็ดตับเต่าอยู่ใต้ต้นหว้า(ต้นห้า) ทางภาคอีสานเรียกว่า“เห็ดผึ้ง” หรือ “เห็ดเผิ่ง” เพราะเมื่อนำเห็ดตับเต่าไปประกอบอาหาร สีของน้ำแกงจะเหมือนสีน้ำผึ้ง
เห็ดตับเต่า เป็นเห็ดราอยู่ในกลุ่มเอคโตไมคอร์ไรซา ( ectomycorrhiza ) คำว่า ไมคอร์ไรซา (mycorrhiza) นั้น เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเห็ดรากับระบบรากของพืชอาศัยชั้นสูง โดยเห็ดรานั้น ต้องไม่ใช่ราที่เป็นสาเหตุของโรคพืช ส่วนรากพืชต้องเป็นรากที่มีอายุน้อยหรือรากขนอ่อน เอคโตไมคอร์ไรซา หมายถึง ไมคอร์ไรซ่าที่อาศัยอยู่บริเวณเซลล์ผิวภายนอกของรากพืช เส้นใยของเห็ดราจะประสานตัวกันเป็นแผ่น หรือเป็นเยื่อหุ้มอยู่รอบ ๆ รากช่วยหาน้ำและธาตุอาหารให้แก่รากบริเวณผิวดิน ลักษณะรากพืชจะบวมโตขยายออกทางด้านเส้นผ่าศูนย์กลางทำให้รากใหญ่ขึ้น รากจะมีลักษณะแตกกิ่งและแขนงเพิ่มมากขึ้น อาจจะมีรูปร่างเป็นกระจุก เป็นง่ามหรือหลายง่าม มีสีต่าง ๆ กัน เช่น สีขาว เหลือง น้ำตาล น้ำตาลแก่ ดำ หรือสีแดง ขึ้นอยู่กับอายุและชนิดของเห็ดรา (ไมคอร์ไรซาแบ่งเป็น 7 กลุ่ม ซึ่ง ectomycorrhiza เป็น 1 ใน 7 กลุ่มนี้ )
การมีชีวิตอยู่ร่วมกันของเห็ดรานี้กับต้นไม้ มีบทบาทอย่างสำคัญยิ่งต่อกระบวนการทางสรีรวิทยาและระบบนิเวศน์ของพืชป่าไม้ ตามรากของต้นไม้ในป่าธรรมชาติจะมีเชื้อราไมคอร์ไรซ่ากระจายอยู่ทั่วไป เช่น ป่าสน ป่าเต็งรัง ป่ายาง และสวนยูคาลิปตัส เป็นต้น การกระจายของราพวกนี้มีความสัมพันธ์กับสภาพทางภูมิศาสตร์ ความชื้น และปัจจัยทางระบบนิเวศน์ของป่าในทั่วทุกภาคของประเทศ ส่วนใหญ่ เชื้อรากลุ่มเอกโตไมคอร์ไรซ่า จะเป็นราชั้นสูง ซึ่งสามารถสร้าง ดอกเห็ดได้ดี มีทั้งที่ดอกเห็ดรับประทานได้ และเห็ดพิษ/เห็ดเมา โดยจะเกิดสร้างดอกเห็ดชูเหนือพื้นดินเล็กน้อย ใต้ร่มไม้บริเวณรากพืชอาศัย
การอยู่ร่วมกันแบบนี้ เป็นการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน เอื้ออำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกัน เซลล์ของรากพืชและรา สามารถดูดซึมแร่ธาตุอาหารให้กันและกันได้ ต้นพืชได้รับน้ำและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตจากเห็ดรา ส่วนเห็ดราได้รับสารอาหารจากต้นพืช ผ่านมาทางระบบราก เช่น พวกแป้งน้ำตาล โปรตีน และวิตามินต่าง ๆ นอกจากนี้ไมคอร์ไรซายังช่วยป้องกันรากพืชจากการเข้าทำลายของเชื้อโรคด้วย
การแพร่กระจายเชื้อเห็ดตับเต่า เกิดขึ้นได้หลายวิธี ได้แก่
- สปอร์ของเห็ดที่บานเต็มที่แล้ว ถูกฝนชะล้างไปในบริเวณใกล้เคียง ที่มีพืชอาศัยอยู่ใกล้กัน
- เส้นใยเห็ดราที่เจริญแพร่ขยายแตกแขนงไปในดิน วิธีนี้ ต้องมีพืชอาศัยชนิดเดียวกัน การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างช้าๆ แต่มีโอกาสแน่นอนกว่า
- มนุษย์ เช่นชาวบ้านไปเสาะหาดอกเห็ดที่บานเต็มที่ มาขยี้ละลายในน้ำแล้ว นำน้ำนั้นไปรดบริเวณโคนต้นไม้ที่เป็นพืชอาศัย วิธีนี้จะได้การแพร่กระจายที่กว้างขวางมาก
- การเพาะเลี้ยงในอาหารวุ้นหรืออาหารเหลว เพาะจนมีปริมาณมากพอแล้วนำไปปั่นกับน้ำ ทำให้เส้นเล็กละเอียด แล้วนำไปรดบริเวณที่เป็นพืชอาศัย หรือนำน้ำที่ปั่นนั้น ไปรดหรือคลุกดินที่จะใช้ปลูกกล้าของพืชอาศัยของเห็ดแต่ละชนิด วิธีนี้ต้องทำในห้องปฏิบัติการที่ปลอดเชื้อ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากราชนิดอื่น
พืชอาศัย เห็ดตับเต่าที่ขึ้นบนลำต้นพืช และบริเวณใต้ต้นไม้ เป็นการอาศัยแบบเอื้ออำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกัน ต้นไม้ได้รับน้ำและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตจากเชื้อราและเชื้อราไมคอร์ไรซา ยังช่วยป้องกันรากพืชจากการเข้าทำลายของเชื้อโรคด้วย ส่วนเชื้อราก็จะได้รับสารอาหารที่ต้นไม้ปลดปล่อยออกมาทางระบบราก ได้แก่ พวกน้ำตาล โปรตีน และวิตามินต่างๆ พืชอาศัยของเห็ดตับเต่า มีหลายชนิด ได้แก่ หว้า โสน ยางนา ไม้รัง มะกอกน้ำ มะม่วง ขนุน หางนกยูง ทองหลาง ลำไย มะขาม ส้มโอ ฯลฯ แต่เห็ดตับเต่าไม่สามารถเพาะให้เกิดดอกเห็ดได้ในสภาพโรงเรือน เหมือนเช่นเห็ดอื่นๆ จำเป็นต้องอยู่ร่วมกับรากต้นพืชอาศัย
วิธีการเพาะเชื้อเห็ดตับเต่า
ที่พบในปัจจุบัน มี 3 วิธี ได้แก่
- เพาะเชื้อด้วยดอกเห็ดตับเต่าโดยตรง โดยการนำดอกเห็ด(ยิ่งแก่ยิ่งดี เนื่องจากจะมีสปอร์มาก) นำมาสับแล้วนำไปฝังบริเวณใกล้ๆรากของพืชอาศัย หรือ อาจจะสับดอกเห็ดให้ละเอียด แล้วนำไปผสมกับน้ำ แล้วนำไปราดบริเวณรากของพืชอาศัย เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด มีขั้นตอนและวิธีการ ดังนี้
นำดอกเห็ดตับเต่าที่แก่จัด มาบดหรือปั่นให้ละเอียด ผสมน้ำสะอาด 1 เท่าตัว ( น้ำสะอาดไม่มีกลิ่นคลอรีน )หมักทิ้งไว้ประมาณ 1 คืนผสมน้ำสะอาดอีกประมาณ 2 – 3 เท่าตัวเพื่อเพิ่มปริมาณให้มีมากขึ้น ขุดหลุมลึกประมาณ 1 ฝ่ามือ บริเวณร่มเงาชายพุ่มต้นพืชที่ต้องการเพาะเห็ดแต่ละหลุมขุดห่างกันประมาณ 1 ศอก ทำรอบร่มเงาชายพุ่มต้นพืช ใส่เชื้อเห็ดประมาณ 1 แก้วเล็ก ต่อ 1 หลุมกลบทับด้วยดินเหมือนเดิม รอเวลาประมาณ 1 – 3 ปี จะเกิดดอกเห็ด หมายเหตุ บริเวณที่ปลูกเห็ด ให้ งด การใช้สารเคมีทุกชนิด เช่น ปุ๋ยเคมี , ยาฆ่าหญ้า เป็นต้น และให้รักษาสภาพแวดล้อมให้มีความชุ่มชื้นอยู่สม่ำเสมอ
- เพาะเชื้อด้วยเชื้อเห็ดที่เจริญบนอาหารวุ้น พี.ดี.เอ. ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงรายได้ทำการทดลองเพาะเห็ดตับเต่า โดยนำดอกเห็ดมาแยกเชื้อบริสุทธิ์ บนอาหารวุ้น พี.ดี.เอ. ซึ่งมีส่วนประกอบของมันฝรั่ง น้ำตาลเด็กโตรส และ ผงวุ้น เชื้อเห็ดที่เจริญบนอาหารวุ้นพี.ดี.เอ.นี้ จะมีเส้นใยสีคล้ำเช่นเดียวกับสีของดอกเห็ด เมื่อเชื้อเห็ดเจริญจนเต็มอาหารวุ้น ก็นำเชื้อเห็ดออกจากขวด นำมาปั่น(หรือขยำ)ให้ละเอียดในน้ำ แล้วจึงนำไปราดบริเวณรากต้นพืชอาศัย
- เพาะเชื้อด้วยเชื้อเห็ดที่เจริญบนเมล็ดข้าวฟ่าง นำเชื้อบริสุทธิ์ของเชื้อเห็ดตับเต่าที่เจริญบนอาหารวุ้น มาเพาะขยายในเมล็ดข้าวฟ่างที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว เมื่อเส้นใยเจริญเต็มที่ จึงนำไปถ่ายเชื้อลงบนพืชอาศัย โดยนำเมล็ดข้าวฟ่างที่มีเชื้อเห็ดเจริญอยู่ มาขยำกับน้ำ กรองเอาแต่น้ำ นำไปราดบริเวณรากต้นพืชอาศัย (ไม่นำเชื้อบนเมล็ดข้าวฟ่าง ไปฝังบริเวณรากพืชอาศัย เพื่อหลีกเลี่ยงแมลงในดินที่จะมากินเมล็ดข้าวฟ่าง) ต้องทำการปลูกเชื้อเห็ดตับเต่าซ้ำบนพืชอาศัยต้นเดิมอย่างน้อย 3 – 4 ครั้ง เพื่อให้เชื้อเห็ดตับเต่าเข้าเจริญอยู่ร่วมกับรากพืช อาศัย ซึ่งภายใน 1- 2 ปี อาจจะยังไม่มีดอกเห็ดเกิดขึ้น เนื่องจากเชื้อเห็ดต้องการเวลาในการเจริญเพื่อเพิ่มปริมาณบริเวณรากพืชจนมากพอที่จะพัฒนาเป็นดอกเห็ดต่อไป
การกระตุ้นการเกิดดอกเห็ดตับเต่า
กรณีที่ต้นไม้ในบริเวณบ้านหรือสวนของเรา มีเชื้อเห็ดตับเต่าเจริญร่วมกับรากพืชแล้วโดยธรรมชาติ มักจะพบมากในฤดูฝน เพราะต้องอาศัยความชื้นในการกระตุ้นการเกิดดอกเห็ดเราสามารถกระตุ้นให้เกิดดอกเห็ดตับเต่านอกฤดูได้ โดยการให้น้ำแก่ต้นพืชอาศัยโดย ใช้ระบบสปริงเกอร์ โดยให้น้ำวันละ 2 ชั่วโมง ติดต่อกัน 3 วัน เว้น 5 วัน หลังจากนั้น ให้น้ำอีกสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง พบว่าหลังจากให้น้ำประมาณ 2 สัปดาห์ จะพบดอกเห็ดตับเต่า เกิดขึ้นบริเวณใต้ทรงพุ่มของต้นพืชอาศัย เช่น ต้นหว้า มะขาม มะกอกน้ำ หรืออาจจะขึ้นติดกับโคนต้นพืชอาศัย และหลังจากให้น้ำเรื่อยๆ ก็มีดอกเห็ดตับเต่าขึ้นอยู่จนกว่าจะถึงฤดูฝน ซึ่งไม่ต้องให้น้ำ ก็จะมีดอกเห็ดตับเต่าขึ้นตามธรรมชาติ
เทคนิคการเพาะแบบชาวบ้าน
เกษตรกรท้องที่ตำบลสามเรือน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา สังเกตพบว่าเห็ดตับเต่าชอบขึ้นตามที่ลุ่มปะปนกับต้นโสน เมื่อมีฝนตกลงมาพอสมควร ชาวบ้านจะเริ่มเผาวัชพืชตามพื้นที่ลุ่มริมคลองก่อน จากนั้นจะติดตั้งสปริงเกอร์ให้น้ำเพื่อให้เมล็ดต้นโสน ที่จมฝังตามพื้นดินทีมีอยู่ตามธรรมชาติ งอกเจริญเติบโตเป็นป่าโสน เมื่อต้นโสนมีอายุประมาณ 1 เดือนเศษจะมีความสูงท่วมหัว เป็นช่วงจังหวะที่ชาวบ้านจะเข้าทำความสะอาดกำจัดวัชพืชใต้ต้นโสนอีกครั้งโดย ใช้วิธีถอนหรือถางต้น จะไม่ใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น การติดตั้งสปริงเกอร์ให้น้ำแทนฝนตกพบว่าได้ผลเกินคลาด เห็ดจะเจริญเติบโตออกดอกก่อนกำหนด ก่อนที่ฝนจะตกมาตามฤดูปกติปัจจุบัน มีชาวบ้านท้องที่ตำบลสามเรือน เพาะเห็ดตับเต่าขายไม่ต่ำกว่า 200 ราย เพราะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จึงเพาะเห็ดได้มากกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน สามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี
เกษตรกรท้องที่ ตำบลระแหง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี สามารถผลิตเห็ดตับเต่าขายได้ตลอดปี พืชอาศัยคือมะกอกน้ำที่ปลูกบนคันนาแบบยกร่อง เทคนิคคือ เริ่มจากการโกยใบมะกอกน้ำที่ถูกย่อยสลายจมอยู่ในท้องร่อง โกยแล้วสาดกระจายบนคันนาให้ทั่วแปลง หว่านปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกแห้ง กระจายบางๆ ด้านบนทับใบมะกอกน้ำ รดน้ำให้ดินชุ่มชื้นเสมอ เมื่อรดน้ำต่อเนื่อง10 -15 วัน ดอกเห็ดจะเริ่มแทงดอกขึ้นจากดิน การออกดอกเห็ดจะเร็วหรือช้าขึ้นกับความชื้นในดิน ถ้าดินแห้ง เห็ดจะไม่ออกดอกเลย ดอกเห็ดตับเต่านอกฤดู มีคนมาซื้อถึงในสวน ดอกตูม กก.ละ 70 – 80 บาท ดอกบาน กก.ละ 50 บาท (ห้ามใช้สารกำจัดวัชพืชโดยเด็ดขาด เพราะเห็ดจะไม่ออกดอกเลย ) และเก็บเห็ดได้ต่อเนื่องอยู่นาน ปัจจุบันผลมะกอกน้ำราคาถูก การขายเห็ดมีรายได้มากกว่า การผลิตเห็ดตับเต่าปีหนึ่งทำได้หลายรุ่น จนกลายเป็นรายได้หลัก ปลูกมะกอกน้ำเพื่อผลิตเห็ดตับเต่าขาย ส่วนผลมะกอกน้ำนั้น ถือว่าเป็นผลพลอยได้
ที่มา : http://raichayatip.blogspot.com/