ขับเกียร์ออโต้ ‘ขึ้นเขา-ลงเขา’ อย่างปลอดภัย ทำตามคำแนะนำ
เป็นเรื่องที่ค่อนข้างอันตรายสำหรับมือใหม่ในการขับรถยนต์ขึ้นเขาลงเขา โดยเฉพาะผู้ที่หัดขับใหม่ๆ ยิ่งไม่ควรเพราะต้องใช้ความชำนาญค่อนข้างมาก กำลังเครื่องยนต์ที่เหมาะสมในการขับรถขึ้นเขาอยู่ที่ 1500 ซีซีขึ้นไป แต่สมัยนี้ผู้คนนิยมใช้อีโคคาร์ที่มีกำลังเครื่อง 1200 ซีซี ก็ถือว่าใช้ได้ ขึ้นอยู่กับความสามารถส่วนบุคคลของผู้ใช้รถด้วย
เรามีหลักการง่ายๆ ในการขับรถขึ้น-ลงเขามาฝากแก่คุณผู้อ่านที่อาจจะเป็นมือใหม่ใช้เกียร์ออโต้ หรือยังขับรถขึ้น-ลงเขาได้ไม่เก่งนัก ทางที่ดีควรมีผู้ชำนาญการขับขี่คอยคอบคุมดูแลด้วยนะ
หลักการขับรถขึ้นเขา
1. ใช้เกียร์ D2-D1 ขึ้นอยู่กับความชันน้อยหรือมาก เปลี่ยนไปใช้เกียร์ D บ้าง เมื่อรถอยู่ในทางราบ
2. เหยียบคันเร่งตามจังหวะความชัน พยายามให้รอบเครื่องอยู่ประมาณ 2000-3500 ควบคุมไม่ให้เกิน 4500
3. ควรใช้ความเร็วเพียง 50-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ไม่ต้องรีบ ไม่ต้องแข่ง ไม่ต้องแซงใคร ถ้ามีรถหลังมาด้วยความเร็วสูง ควรชิดซ้ายเพื่อเปิดทางให้เขาแซงไปก่อน
4. เว้นระยะจากรถคันหน้าประมาณ 30-50 เมตร เผื่อกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินที่รถคันหน้า เช่น รถเบรกกระทันหัน ขึ้นไม่ไหว หรือรถดับกลางทาง หรืออาจมีเหตุเกิดขึ้นกับรถของคุณเอง เพื่อคุณจะได้มีโอกาสหลีกเลี่ยงได้อย่างปลอดภัย ที่สำคัญการเว้นระยะจะทำให้คุณสามารถเร่งรถขึ้นเขาได้ง่ายมากขึ้นด้วย
5. เมื่อต้องขับรถโค้งต่อเนื่องรูปตัว S ต้องมองเส้นทางให้เฉียบ มองให้ไกล และต้องมั่นใจว่าถนนโล่ง ไม่มีรถสวนมาแน่นอน จากนั้นให้ถอนคันเร่ง แล้วเสียบตัดโค้งให้แนวทางการขับขี่เป็นเส้นตรงมากที่สุด
6. ถ้าต้องขับรถในทัศนวิสัยที่ไม่ดี หรือเจอเส้นทางโค้งแคบและมีสันเขาบังสายตา ควรเข้าโค้งแบบธรรมดา และต้องบีบแตรส่งสัญญาณเสมอเพื่อป้องกันรถที่วิ่งสวนมา
หลักการขับรถลงเขา
1. ห้ามใส่เกียร์ว่าง ‘N’ ตอนลงเขาเด็ดขาด! เพราะรถจะไหลลงด้วยความเร็วสูง โดยไม่มีแรงหน่วงของเครื่องยนต์ ให้ใช้เกียร์ D หรือ D2-D1 เช่นเดียวกันตอนขึ้นเขา ที่สำคัญอย่าลืมควบคุมความเร็วของรถให้สัมพันธ์กับเกียร์ด้วย
2. วิธีการเบรก ควรแตะเบรกเบาๆ เป็นช่วงๆ ให้รถค่อยๆ ชะลอความเร็วลง ห้ามย้ำเบรก หรือเหยียบเบรกค้างนานๆ เพราะจะทำให้ผ้าเบรคไหม้ คุมรถไม่อยู่ หรือ “เบรกแตก” ได้
3. วิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือ ปล่อยให้รถลงมาเองด้วยเกียร์ D/D1-2 หากไม่จำเป็นไม่ควรเหยียบคันเร่ง
4. หากเจอช่วงโค้งหักศอกแล้วลาดลง ให้แตะเบรกและผ่อนความเร็วลงมาที่ 40-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
5. อย่าแซงรถใหญ่หรือรถบรรทุกหนักในช่วงทางลงเขาชัน เพราะรถพวกนี้จะมีอัตราเร่งสูงกว่ารถทั่วไป
การขับรถขึ้นลงเขาเป็นการขับขี่ที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งเส้นทางที่สูงชันหรือคดเอียง มีสิทธิ์ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูง แม้จะขับรถเก่งแล้ว อย่างไรก็ตามผู้ขับรถยนต์ต้องมีสติมากๆ และต้องไม่ประมาทโดยเด็ดขาด เพื่อลดความเสี่ยง และเพิ่มความปลอดภัยแก่ตัวเองและผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ ด้วย
ขอบคุณข้อมูล : kapook