ตำนาน “ทวารบาลติดฝิ่น” เรื่องเล่าสุดลี้ลับ เทวดาผู้พิทักษ์ประตู

0

ตำนาน “ทวารบาลติดฝิ่น” เรื่องเล่าสุดลี้ลับ เทวดาผู้พิทักษ์ประตู

เชื่อว่ามีหลายๆ เรื่องที่น่าสนใจอยู่มาก แต่สิ่งที่แปลกกว่าที่อื่นก็คงจะเป็น ทวารบานที่วัดบวรนิเวศวิหารหรือพระอารามหลวงที่มีผู้คนเดินทางไปรอกลับไหว้สักการะอย่างไม่ขาดสายเนื่องจากวัดแห่งนี้มีประตูเสี้ยวกลางตรงด้านหน้าพระอุโบสถที่ได้รับอิทธิพลจากจีนมาอย่างเด่นชัด

เรื่องของ “ทวารบาล” นั้น ผู้ที่เข้าวัดเข้าวาบ่อยๆ คงจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะตามวัดส่วนใหญ่มักจะมีทวารบาลยืนยาม เฝ้าตามประตู หน้าต่าง ผนัง ของโบสถ์วิหาร เพื่อป้องกันภูตผีปีศาจร้าย ทวารบาล มาจากคำ 2 คำ คือ “ทวาร” แปลว่า ประตู ส่วน “อภิบาล” แปลว่า “ดูแลรักษา, ปกครอง” เมื่อรวมกันเข้าจึงมีความหมายว่า “ผู้เฝ้ารักษาประตู”

คติการสร้างรูปทวารบาลที่มีหลักฐานเห็นได้ชัดเจน เริ่มขึ้นในสมัยอินเดียโบราณ เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 ภาพสลักที่โคนเสาซุ้มประตู หรือ โตรณะของสถูปสาญจี ที่ภารหุต มีรูปสลักนูนต่ำของบุคคลหลายคู่ ที่เรียกว่า ยักษ์ (Yaksha) ยืนทำหน้าที่เหมือนเป็นผู้เฝ้าประตูทางเข้าสู่ศาสนสถาน นับแต่นั้นจึงเกิดคติการเขียนทวารบาลในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เรื่อยมา

ส่วนที่บานประตูกำแพงแก้ว วัดบวรนิเวศวิหาร มีทวารบาลจีนแท้ขนาดใหญ่ แต่งตัวถืออาวุธแบบจีนโบราณ ดูเหมือนจะเป็นภาพแกะไม้ หรือปูนปั้น แต่ปิดทองเหลืองอร่ามทั้งองค์ ประตูนี้คนเรียกกันว่า “ประตูเซี่ยวกาง” ที่สร้างตามคตินิยมแบบจีน

การติดสินบนทวารบาล ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย คือ ทวารบาล บริเวณประตูทางเข้าวัด ด้านตรงข้ามโรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัยนั้น ที่ประตูแห่งนี้ที่ปากทวารบาลดูดำปื้น ส่วนตามตัวก็มีพวงมาลัยและถุงกาแฟดำห้อยอยู่ตามจุดต่างๆ นัยว่าเฝ้าประตูนานเดี๋ยวหลับยาม คนบนเลยซื้อมาให้กิน เพื่อตาจะได้สว่างขึ้นบ้าง

ความเฮี้ยนของทวารบาลของประตูเซี่ยวกาง มีเรื่องเล่าสืบกันต่อๆ มาว่า ยุคที่เมืองไทยยังดูดฝิ่นได้ มีชาวจีนคนหนึ่งติดฝิ่นงอมแงม ต่อมาทางการได้ปราบทำลายโรงงานยาฝิ่นจนหมดสิ้น เมื่อแกหาฝิ่นดูดไม่ได้ สุดท้ายเลยไปลงแดงตายตรงประตูนี้

หลังจากนั้นเมื่อทางวัดมาพบ จึงทำพิธีกงเต๊กให้ ต่อมาชาวจีนคนนั้นไปเข้าฝันสมเด็จท่านเจ้าอาวาสว่า ให้ทำที่ให้แกอยู่แล้ว แกจะเฝ้าวัดให้ ทางวัดจึงสร้างกำแพงทำซุ้มประตูแล้วอัญเชิญดวงวิญญาณชาวจีนคนนั้นมาสถิตอยู่ ณ ประตูแห่งนี้

ต่อมามีเรื่องเล่ากันว่า ของในวัดที่เคยถูกขโมยไปหลายครั้ง ล้วนได้คืนกลับมาหมด ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของดวงวิญญาณคนจีนที่คอยเฝ้าวัด ทำให้เกิดการสักการบูชาประตูเซี่ยวกางขึ้น ซึ่งหลายๆ คนต่างเชื่อกันว่าถ้าบนอะไรแล้วก็จะได้สิ่งนั้นตามที่ขอหมด จนทวารบาลองค์นี้ติดฝิ่นไปแล้ว ทุกวันนี้ความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ของทวารบาลวัดบวรฯ ยังคงมีอยู่ แต่เครื่องติดสินบนจากฝิ่นกลับกลายเป็นกาแฟดำ ดอกไม้ ธูปเทียนแทน

วัดบวรนิเวศวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาขึ้น ณ บริเวณอันเป็นที่พระราชทานเพลิงศพเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าดาราวดี พระราชชายา สันนิษฐานว่าคงสถาปนาขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2369 – 2374

เดิมเรียกว่าวัดใหม่ คงเนื่องมาจากสร้างขึ้นใหม่ติดกับวัดรังษีสุทธาวาส ซึ่งมีมาแต่รัชกาลที่ 2 ครั้น พ.ศ. 2379 วัดนี้ว่างเจ้าอาวาส พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงอาราธนาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงผนวชอยู่และประทับจำพรรษา ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาสในปัจจุบัน) ให้เสด็จมาอยู่ครองวัดนี้ อันเป็นเหตุให้ได้พระราชทานนามว่า วัดบวรนิเวศวิหาร หรือเรียกกันสั้น ๆ ในครั้งกระนั้นว่าวัดบน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารเป็นพระองค์แรก และวัดบวรนิเวศวิหารได้ชื่อว่าเป็นวัดธรรมยุตวัดแรก

วัดบวรนิเวศวิหารได้มีเจ้าอาวาสครองสืบต่อกันมา ดังนี้

1. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่และดำรงราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงศ์ พ.ศ. 2379 – 2394

2. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้าฤกษ์) พ.ศ. 2394 – 2435

3. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์มนุษยนาคมานพ) พ.ศ. 2435 – 2464

4. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว. ชื่น นพวงศ์) พ.ศ. 2464 – 2501

5. พระพรหมนุนี (ผิน สุวโจ) พ.ศ. 2501 – 2503

6. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) พ.ศ. 2503 – ปัจจุบัน

วัดบวรนิเวศวิหาร นับเป็นพระอารามที่มีความสำคัญทั้งในทางคณะสงฆ์และในทางบ้านเมือง กล่าวคือ..

ในทางคณะสงฆ์ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นจุดกำเนิดของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย เพราะเป็นที่เสด็จสถิตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงผนวชอยู่และทรงดำริริเริ่มปรับปรุงวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์อันเป็นเหตุให้เกิดเป็นพระสงฆ์คณะธรรมยุตขึ้นในเวลาต่อมา

วัดบวรนิเวศวิหารจึงนับว่าเป็นวัดแรกและวัดต้นแบบของคณะธรรมยุต ธรรมเนียมประเพณีและแบบแผนต่าง ๆ ของคณะธรรมยุตได้เกิดขึ้น ณ วัดนี้

วัดบวรนิเวศวิหารเป็นที่เสด็จสถิตของสมเด็จพระสังฆราช องค์ประมุขของคณะสงฆ์ไทยถึง 4 พระองค์คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช

วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นแหล่งกำเนิดการศึกษาของคณะสงฆ์คือ เป็นที่กำเนิด มหามกุฏราชวิทยาลัย สถานศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณร ซึ่งได้พัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของไทยในปัจจุบัน เป็นที่กำเนิดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า 「นักธรรม」 อันเป็นการศึกษาขึ้นพื้นฐานของคณะสงฆ์ไทย

วัดบวรนิเวศวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของไทย ซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักคือพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ซึ่งสร้างโดยพระมหาธรรมราชาลิไทย สมัยกรุงสุโขทัย สมัยเดียวกับพระพุทธชินราช และทั้ง 3 องค์เคยประดิษฐานอยู่ด้วยกัน ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก นอกจากนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทคู่บนศิลาแผ่นใหญ่สมัยสุโขทัย และพระไสยา (คือพระนอน) ที่งดงามสมัยสุโขทัยด้วย

ในทางบ้านเมือง วัดบวรนิเวศวิหารได้เคยเป็นที่ตั้งกองบัญชาการศึกษาหัวเมือง เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้มีการจัดการศึกษาหัวเมืองทั่ว พระราชอาณาจัก เมื่อ พ.ศ. 2441 โดยทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ให้ทรงอำนวยการในการจัดการศึกษาในหัวเมือง อันเป็นการวางรากฐานการประถมศึกษาของไทย

วัดบวรนิเวศวิหารเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ที่เสด็จออกทรงผนวชทุกพระองค์ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ รัชการที่ 9 ตลอดถึงพระบรมวงศ์ชั้นสูงที่ทรงผนวชเกือบทุกพระองค์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน

ขอขอบคุณ : kaijeaw

แสดงความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่