บ้านใครเลี้ยงสุนัขต้องอ่าน!..ความจริง 18 ข้อเกี่ยวกับเห็บ และวิธีการกำจัดที่ถูกวิธี
หลาย ๆ ท่านเลี้ยงสุนัขด้วยความรักและผูกพันธ์พามานอนด้วย เคยสังเกตสุนัขบ้างหรือไม่ว่าเค้ามี “เห็บ” ของแถมที่เราไม่ต้องการให้นอนด้วยติดมาหรือเปล่า วันนี้เรามาทำความรู้จักมันให้มากขึ้นและมาดูวิธีกำจัดมันกันเถอะ
อันตรายกว่าที่คิด อย่าเห็นเป็นเรื่องไกลตัว!! เห็บ ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ารังเกียจที่สุดสำหรับคนเลี้ยงสุนัข เพราะถึงแม้คุณจะเป็นคนรักสัตว์แค่ไหน แต่คงไม่มีใครอยากให้เห็บตัวอ้วน ๆ กลม ๆ จำนวนมากมาย มาดูดเลือดสุนัขของคุณแน่นอน แต่ถ้าหากคุณคิดว่า เห็บ ไม่ใช่ปัญหาอะไรใหญ่โตแล้วล่ะก็ ลองมาดูความจริง 18 ข้อเกี่ยวกับเห็บเหล่านี้ ที่จะทำให้คุณเข้าใจเห็บมากขึ้นไปอีก
1. เห็บดูดเลือดพวกเดียวกันเองด้วย
2. เห็บเป็นสัตว์ประเภท “แมง” ดังนั้น มันจึงจัดอยู่ในประเภทเดียวกับ แมงมุมหรือแมงป่อง
3. บนโลกนี้มีเห็บมากกว่า 850 สายพันธุ์ ที่พบได้มากที่สุดในสุนัขเลี้ยงในประเทศไทยคือ Rhipicephalus sanguineus.
4. เห็บสามารถแพร่โรคได้ ซึ่งมักเกี่ยวกับ โรคลายม์ (บวมแดง เป็นไข้ ปวดเมื่อย) โรคพยาธิเม็ดเลือด และโรคไข้พุงพองเทือกเขาร็อกกี้
5. เจ้าของและสัตว์เลี้ยงสามารถติดต่อโรคกันได้จากการโดนเห็บกัดเพียงครั้งเดียว
6. ไม่ควรใช้นิ้วดึงเห็บออก เพราะคุณอาจดึงตัวมันหลุดออกมาจากหัว ที่ยังฝังอยู่ในผิวหนัง
7. เห็บไม่สามารถบินและกระโดด แต่พวกมันจะคลานช้าๆแทน
8. คุณสามารถซื้อสเปรย์เพอร์เมธริน สำหรับฉีดเสื้อผ้า ป้องกันไม่ให้เห็บหมัดมาเกาะได้
9.เห็บสามารถเติบโตได้ดี แม้ในฤดูหนาว
10.เห็บสามารถฝังตัวได้เกือบทุกที่
11. ถ้าสัตว์เลี้ยงของคุณมีพฤติกรรมแปลกๆ หลังจากออกไปนอกบ้าน เช่น อาการชัก หายใจลำบาก เซื่องซึม ให้รีบนำไปปรึกษาแพทย์ทันที เพราะมีโอกาสไม่น้อยที่จะเกิดจากเห็บ
12. เห็บแต่ละสายพันธุ์มีขนาดที่แตกต่างกัน โดยเห็บจะมีการดำรงชีวิต 4 ช่วงด้วยกันคือ ไข่ ตัวอ่อน วัยกระเตาะ และผู้ใหญ่
13. การบี้เห็บที่มีไข่เต็มท้องจนเลือดกระจาย ถึงแม้ไข่บางส่วนจะไม่ถูกทำลาย แต่มันก็ไม่สามารถฟักเป็นตัวอ่อนได้
14. เห็บเพศเมียจะหาที่วางไข่โดยเฉพาะบนพื้นดินบริเวณที่เป็นซอก มุมหรือขอบรอยต่อของบ้าน
15. เห็บตัวเมีย 1 ตัวจะวางไข่ประมาณ 4,000 ฟอง ไข่จะใช้เวลาฟักนานประมาณ 17 – 30 วัน
16. ตัวอ่อนของเห็บ (larva หรือ Seed ticks) จะเคลื่อนที่ได้ว่องไวมาก ตัวอ่อนนี้จะขึ้นไปดูดกินเลือดบนตัวสุนัขประมาณ 2 -3 วัน เมื่ออิ่มแล้วจะหล่นจากตัวสุนัข ไปหาที่ลอกคราบ กลายเป็น ตัวกลางวัย(Nymph) ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นและมี 8 ขา
17. ตัวกลางวัยนี้จะขึ้นดูดกินเลือดบนตัวสุนัขอีก และจะหล่นลงสู่พื้น เมื่อกินอิ่มแล้วเช่นกัน จากนั้นจะทำการลอกคราบกลายเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งจะต้องขึ้นบนตัวสุนัขอีกเพื่อดูดเลือดและผสมพันธุ์ต่อไป วงจรชีวิตของเห็บชนิดนี้จะ สมบูรณ์ได้ในเวลา ประมาณ 45-50 วัน
18. การดูดกินเลือดจำนวนมากจากเห็บจำนวนมากจะส่งผลให้สุนัขเเละสัตว์เลี้ยงเกิดภาวะโลหิตจาง
วิธีกำจัดเห็บหมัด ที่เกิดจากสัตว์เลี้ยง ซึ่งยั้วเยี้ยไปทั่วบ้าน ลองมาดูเคล็ดลับรับมือกับปัญหานี้กันเถอะ
บ้านคือวิมานของเรา แต่สัตว์เลี้ยงใจดีดันเชิญเพื่อนร้ายตัวจิ๋วอย่างเห็บหมัดเข้ามาอาศัยอยู่ด้วย ไม่ได้การแล้ว ! เห็นทีต้องรีบกำจัดพวกมันออกไปโดยด่วน เพราะเห็บหมัดเป็นอันตรายทั้งต่อคนและต่อสัตว์ แถมยังแพร่พันธุ์ได้เร็วมาก ๆ วันนี้กระปุกดอทคอมจึงขอเสนอวิธีปราบเห็บหมัดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ให้เพื่อน ๆ เป็นไอเดียไปใช้เพื่อความปลอดภัยของทุกชีวิตในบ้าน ถ้าพร้อมแล้วมาดูกันเลย
วิธีกำจัดเห็บหมัด กำจัดเห็บหมัดที่เข้ามาป่วนในบ้าน
ข้าวของระเกะระกะเป็นที่ซ่อนตัวชั้นดีของเจ้าเห็บหมัดตัวแสบ ดังนั้นหากอยากกำจัดเห็บหมัดที่เข้ามาป่วนในบ้าน ก็ต้องเคลียร์บ้านรกให้เนี้ยบ ตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
– อย่าทิ้งเสื้อผ้ายังไม่ซักกองเรี่ยราดที่พื้น เพราะเห็บหมัดตัวแสบอาจเข้าไปซ่อนตัวอาศัยอยู่ได้
– ถ้าสงสัยว่าเห็บหมัดอาจซ่อนอยู่ในกองผ้าที่ยังไม่ซัก ให้โยนเสื้อผ้าเข้าเครื่อง แล้วซักด้วยระบบน้ำร้อนไปเลย
– ทำความสะอาดบ้านทั้งหลังตั้งแต่บนลงล่าง เช็ดตามตู้ โต๊ะ ใต้เตียง และใช้เครื่องดูดฝุ่นเป็นตัวช่วยสำคัญ ในการดูดเจ้าเห็บหมัดให้เข้าไปอยู่ในถุงเก็บฝุ่น อย่าลืมนำไปทิ้งทันทีที่ดูดฝุ่นเสร็จด้วยล่ะ
– เมื่อกำจัดเห็บหมัดตามวิธีที่กล่าวมาแล้ว ให้โรยหรือพ่นผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดให้ทั่วบ้าน โดยเน้นบริเวณที่นอนของสัตว์เลี้ยง และอย่าลืมบริเวณใต้โต๊ะ ใต้เตียง พรม และผ้าม่านด้วย
เนรเทศเห็บหมัดที่สร้างอาณาจักรนอกบ้าน
เห็บหมัดกวนใจที่สร้างอาณาจักรอยู่นอกบ้าน ในไม่ช้าก็จะเดินทัพกันเข้ามาในบ้านแน่นอน ดังนั้นต้องใช้วิธีกำจัดพวกมันอย่างเฉียบขาด!
– เริ่มสำรวจพื้นที่ โดยจำไว้ว่าเห็บหมัดชอบอาศัยอยู่ในที่ชื้น ดังนั้นจับตามองบริเวณเหล่านั้นให้ดี
– ตัดหญ้าที่ขึ้นสูง และเล็มต้นไม้ออกบ่อย ๆ โดยพยายามให้แดดส่องถึงทั่วพื้นที่ เพราะเห็บหมัดกลัวแสงแดดเป็นที่สุด
– หมั่นเก็บกวาดซากพืชและใบไม้ที่แห้งหรือตายแล้วไปทิ้ง เพราะหลังจากไม่มีหญ้าขึ้นสูงให้อาศัย เห็บหมัดอาจเลือกย้ายไปหลบแดดในนั้นแทน
– ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงในบริเวณที่เห็บหมัดอาจอาศัยอยู่ โดยให้ทำในตอนมีแดดจะได้ผลเร็วขึ้น
วิธีกำจัดเห็บหมัด เคล็ดลับป้องกันเห็บหมัดจอมแสบ
หลังจากกำจัดเห็บหมัดทั้งในบ้านและนอกบ้านไปแล้ว ก็ถึงเวลาต้องมาป้องกันไม่ให้พวกมันกลับมาอีก ด้วยวิธีการดังนี้
– ปิดประตูรั้วบ้านเสมอ เพื่อไม่ให้สัตว์นอกบ้านเข้ามาแพร่เห็บหมัดได้
– พยายามอย่าให้มีบริเวณที่อับชื้น เพราะเป็นที่อยู่อาศัยชั้นดีของเห็บหมัดเลย
– หมั่นตรวจตราร่างกายทั้งคนและสัตว์อยู่เสมอ ว่ามีเห็บหมัดมาหลบซ่อนตัวอยู่หรือไม่ โดยเน้นบริเวณแนวผม ข้อพับ ใต้รักแร้ และหากเจอให้ใช้แหนบดึงออก แต่พยายามอย่าบีบจนตัวเห็บหมัดแตก เพราะอาจจะแพร่เชื้อโรคจากเลือดมาสู่คนและสัตว์เลี้ยงได้
– ทำผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดใช้เอง โดยต้มน้ำปริมาณ 2 ถ้วย กับมะนาวหรือส้ม 2 ชิ้น นานประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น จากนั้นนำใส่ขวดสเปรย์เพื่อใช้ฉีดพ่นทั้งคน สัตว์เลี้ยง และบริเวณที่คาดว่าน่าจะมีเห็บหมัด
เมื่อกำจัดเห็บหมัดตามวิธีที่แนะนำกันแล้ว อย่าลืมพาสัตว์เลี้ยงไปหาสัตวแพทย์ใกล้บ้าน เพื่อกำจัดเห็บหมัดให้หมดไป รวมถึงหาทางป้องกันไม่ให้กลับมาใหม่ และอย่าลืมตรวจตราร่างกายทุกครั้งที่ออกไปเดินป่า เพราะคุณก็อาจพาวายร้ายตัวจิ๋วนี้กลับมาได้เช่นกัน เพียงเท่านี้บ้านก็จะปลอดภัยไร้เห็บหมัดแล้วจ้า
ขอขอบคุณ : liekrl, home.kapook