ชาวเกษตรเผยเคล็ดลับปลูก “มะพร้าวน้ำหอม” ให้ได้ผลผลิตตลอดปี โดยใช้เวลาไม่นาน

0

ชาวเกษตรเผยเคล็ดลับปลูก “มะพร้าวน้ำหอม” ให้ได้ผลผลิตตลอดปี โดยใช้เวลาไม่นาน

เราจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ของมะพร้าวในประเทศบ้านเรานั้นไม่สู้ดีนัก เพราะมีราคาที่ตก ส่งผลทำให้เกษตรกรในวงกว้างขาดทุนได้กำไรน้อย เพราะค้าขายไม่ดีอีกทั้งยังมีราคาที่ตกต่ำจากเดิมมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีชาวเกษตรกรอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเห็นต่างไป ยังมุ่งมั่นที่จะผลิตมะพร้าวต่อไป และเชื่อได้ว่ามะพร้าวนับเป็นพืชมัศจรรย์ที่สามารถขายประโยชน์ได้ในทุกส่วน และการปลูกมะพร้าวก็สามารถสร้างเป็นรายได้ที่ดีสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวในอนาคตได้

ซึ่งในวันนี้เราได้มีตัวอย่างจากคุณแดง ที่อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 311 หมู่ 6 ตำบลสามกระทาย อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บัณฑิตแม่โจ้ เป็นชาวเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งในก่อนหน้านี้พี่แดงได้ถือว่าเป็นเซียนในเรื่องของการทำอาชีพเกษตร เพราะทำมาแล้วหลายอย่าง หลายแขนง ปลูกพืชผักผลไม้มาหลายชนิด ทั้งพืชอายุสั้น ผลไม้ แต่ต้องเลิกทำด้วยเหตุผลที่ว่าการปลูกพืชผักผลไม้นั้นจะต้องใช้คนงานที่เยอะ และต้องมีเวลาในการเข้าสวน ดูแลทุกวันซึ่งตัวเองนั้นไม่สามารถปลีกตัวไปทำอาชีพเสริมได้ คุณแดงจึงได้เริ่มมาลองศึกษาเรื่องการปลูกมะพร้าวน้ำหอมแทน เพราะคิดว่ามะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชชนิดหนึ่งที่สร้างรายได้ได้แน่นอน มีรายได้เข้ามาในที่ทุกเดือน โดยคุณแดงได้คิดง่ายๆว่า…

“เราเลี้ยงลูก ลูกโตไปโอกาสที่เขาจะกลับมาเลี้ยงดูเราก็ไม่แน่นอน เพราะเราบังคับไม่ได้ แต่ถ้าปลูกมะพร้าว มะพร้าวเลี้ยงเราได้แน่นอน จากที่พิสูจน์มา เพราะผมปลูกมะพร้าวเลี้ยงแม่มาตั้งแต่ ปี’34 มีรายได้เข้าทุกเดือน เดือนละเกือบ 20,000 บาท โดยไม่ต้องทำอะไร ถึงเวลาก็มีคนมาตัดถึงสวน” พี่แดง บอก

ปลูกมะพร้าวน้ำหอม 15 ไร่ มีรายได้เข้ากระเป๋าทุกเดือน ปัจจุบัน พี่แดง ปลูกมะพร้าวน้ำหอม จำนวน 15 ไร่ ปลูกในระยะห่าง 4×6 เมตร ได้จำนวน 950 ต้น… 1 ไร่ ปลูกได้ 66 ต้น

ปลูกมะพร้าวอยู่ 2 พันธุ์ ด้วยกัน คือพันธุ์จีบบ้านแพ้ว และพันธุ์ดำเนินต้นเตี้ย มีจุดเด่นแตกต่างกัน

1. จีบบ้านแพ้ว

ลักษณะเด่น จะได้ผลที่ใหญ่ การออกผลหลังปลูก เฉลี่ย 3 ปี จีบบ้านแพ้วถ้าสังเกตให้ดีโดยต้นจะมีสะโพกเล็กน้อย คือถ้าเทียบกับดำเนินต้นเตี้ยจะดูรู้เลย ลักษณะจั่นจะมีเอกลักษณ์เฉพาะ ปลายจั่นมน ระยะเรียงตัวของจั่นค่อนข้างยาว แล้วพ้นคอคือไม่ติดอยู่ในคอ ถือเป็นลักษณะดี ดังนั้น การติดผลจะดก ใบจะมีสีเขียวสดใสเป็นเอกลักษณ์ ลูกใหญ่แต่ความหวานของน้ำสู้ดำเนินต้นเตี้ยไม่ได้ เหมาะแก่การทำตลาดมะพร้าวควั่น มะพร้าวส่งออก เพราะว่าลูกใหญ่สวย การติดผลดีสม่ำเสมอ

จีบบ้านแพ้วการบำรุง ช่วงใกล้เวลาผลผลิตออก ปรุงด้วยปุ๋ย สูตร 13-13-21 ให้มีความหวานเพิ่มขึ้นได้ ถือว่าเป็นเทคนิคการตลาด ตลาดต้องการทุกที่

2. ดำเนินต้นเตี้ย

มีลักษณะใกล้เคียงกับจีบบ้านแพ้ว สันนิษฐานว่าสายพันธุ์อาจจะผสมกัน แต่ดำเนินต้นเตี้ยอาจจะมีพวงร้อยเข้ามาผสมอยู่บ้าง เพราะลักษณะเวลาพบปัญหา จะเหมือนพวงร้อย ลักษณะลูกจะต่างกัน การติดผลจะดกกว่า ลักษณะต้นไม่มีสะโพก ต้นตรง จั่นจะชิดอยู่ที่คอ ไม่ค่อยพ้นกาบ ซึ่งปัญหาตรงนี้ต้องดูตอนออกจั่นครั้งแรกอายุหลังปลูก 18 เดือน ถือว่าออกลูกเร็ว เพียง 2 ปีครึ่ง จะเริ่มตัดได้แล้ว ต้นจะเล็กและเตี้ยกว่า ตัวนี้เคยบันทึกแล้วได้ 18 จั่น ต่อปี ระยะบางทีไม่ถึง 20 วัน ตัดได้ รสชาติน้ำหวานกว่าจีบบ้านแพ้ว ตลาดเดินดีมาก เพียงแต่ว่าต้องอาศัยเทคนิคทำให้ลูกใหญ่ เพราะลักษณะลูกค่อนข้างเล็ก

เทคนิคน้ำสลับแห้ง ทำให้น้ำมะพร้าวรสชาติหวานอร่อย

การปลูกที่นี่จะไม่ใช้การขุดหลุมระยะ 50x50x50 เซนติเมตร แต่จะใช้วิธีการไถดะผาล 3 แล้วไถแปร ขุดหลุมเพียงหน้าจอบเดียวแล้วปลูก คือแค่ให้ถมได้ครึ่งลูก แล้วไถยกร่องอีกครั้งหนึ่ง และทำร่องมาอยู่ข้างๆ เพื่อการจัดการในอนาคต ขับซาเล้งเข้ามาเก็บได้เลย ไม่ต้องใช้แรงงานขนออกมาจากสวน ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้มาก สวนมะพร้าวทั่วไปจะอยู่ตรงกลาง ต้องร่องเรือออกมา นับว่าเสียเวลา

ระบบน้ำสลับแห้ง ที่นี่เป็นดินร่วนปนทราย การให้น้ำมีระบบชลประทาน สวนจะต่อกับระบบผ่านร่องสวนมา แต่ต้องใช้วิธีน้ำสลับแห้ง ไม่ใช่ขังร่องเหมือนที่ดำเนินสะดวก บ้านแพ้ว หรือสมุทรปราการ จะมีน้ำขังไว้เต็มร่องตลอด แต่จะผันน้ำเข้า 1 เดือน ผันน้ำเข้าครั้งหนึ่ง พอประมาณ 1 สัปดาห์ วงรอบการเปิดน้ำชลประทานจะปิด น้ำก็จะแห้ง ดังนั้น ก็จะได้รสชาติของน้ำที่หวานกว่า เพราะปริมาณน้ำไม่ได้ขังอยู่ตลอด

ผลผลิตต่อต้น ต่อปี จั่นละ 10 ลูก 180 ผล ต่อต้น ต่อปี โดยประมาณ ช่วงแรกที่ปลูกความสมบูรณ์ของต้นจะยังไม่มี ช่วงที่ติดผลใหม่ๆ ลูกจะเยอะ แต่อย่าเพิ่งไปดีใจ พอจั่นที่ 5-6 จะไม่ค่อยติดลูก ดังนั้น ต้องรออายุ 5 ปีขึ้น จึงจะมีความสม่ำเสมอของต้น คือติดทะลายสม่ำเสมอ

เทคนิคการเอาตัวรอดจากผลผลิตราคาตก พี่แดง บอกไม่ยาก

1. เพียงแค่เจ้าของสวนต้องมีความพอเพียง การปลูกมะพร้าวสามารถพอเพียงได้ เราพอใจแค่ไหน ก็เอาแค่นั้น อย่าไปเห่อตามกระแส มีการบริหารจัดการที่ดี ส่วนหนึ่งส่งขายที่โรงแรมแถวๆ ปราณบุรี ส่วนหนึ่งที่ส่งไม่หมด เพราะมะพร้าวที่สวนช่วงพีคสุด อยู่ที่ 5,000 ลูก ต่อเดือน ก็จะไปส่งที่แผง

“หมายความว่า คนที่จะมาต่อยอดสินค้าของเรา ก็จะมีลูกหลานนำไปต่อยอดต่อ ดังนั้น การทำเกษตรที่คิดว่าจะเอาราคาแพงอย่าไปคิด คิดแค่ว่าจะสามารถปลูกแล้วให้คนอื่นมาต่อยอด เราอยู่ได้ เขาอยู่ได้ และถือเป็นการช่วยกันสร้างอาชีพ เช่น ใครจะทำขนม หรือทำวุ้น หรือขายข้างทาง ก็มาติดต่อเราได้ เราพอใจที่ตัวเลขกลมๆ อย่างที่สวนพอใจที่ลูกละ 10 บาท แล้วให้เข้ามาตัดเองที่สวน เจ้าของสวนรับเงินอย่างเดียว 10 บาท ส่งโรงแรม ลูกละ 15 บาท เราพอใจแค่นี้ เพราะถือว่ามีเงินเดือนกินแล้ว สมมุติว่า มะพร้าว 5,000 ลูก ลูกละ 10 บาท ก็ 50,000 บาทแล้ว เงินเดือน 50,000 บาท เราไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยทุกวัน เหนื่อยเฉพาะช่วง 3 ปีแรก 20 วัน ก็ตัดขายได้ใหม่ อย่าไปคิดว่า ขายจากสวน 20 บาท เพราะแบบนี้ไม่ยั่งยืน เพราะเมื่อไรที่ขายแพง คนไท ยไม่ได้ประโยชน์ ส่งออกอย่างเดียว พอส่งออกไม่ได้ก็เกิดผลกระทบราคาตก” พี่แดง ขยายความ

2. มองตลาดให้กว้าง และรู้จักแนะนำลูกค้า ตอนนี้สินค้าเพื่อสุขภาพกำลังมาแรง โรงแรมหลายแห่งต้องการมะพร้าวที่มีคุณภาพอีกมาก ตลาดโรงแรมมีมานานแล้ว เพียงแต่ว่าไม่ได้มาเข้าถึงสวน คือมาตรฐานโรงแรมทั่วไปยังคิดผิด ที่ว่าสินค้าโรงแรมถ้าลูกนี้ไซซ์นี้ ก็คือต้องไซซ์นี้ ซึ่งหากเชฟของโรงแรมเข้ามาถึงสวน เจ้าของสวนต้องอธิบายว่า ถ้าคุณต้องการมะพร้าวจากสวน สวนจะกำหนดไม่ได้ว่ามะพร้าวไซซ์ที่ต้องการจะได้เท่ากันทุกลูก มันอาจจะมีสองไซซ์ถึงสามไซซ์ ดังนั้น ถ้าคุณจะเอาจากสวน จะกำหนดขนาดไซซ์ไม่ได้ แต่ถ้าคุณกำหนดปริมาณว่าคุณต้องการน้ำเท่านี้ เรากะได้เพียงแต่ว่าลูกเล็กอาจจะนับควบ ซึ่งเขาก็เข้าใจ ถือเป็นเทคนิคให้ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย มาเจอกันและเข้าใจกันมากขึ้น อย่างโรงแรมแถวภูเก็ตชอบไซซ์ใหญ่ไม่เอาไซซ์อื่น ซึ่งเขาไปเสียในสิ่งที่ไม่ควรเสีย ไปเสียให้คนคัดเกรดซะเยอะ ถามว่าถ้ามารับจากสวน 15 บาท กับไปซื้อที่พ่อค้าคนกลาง ลูกละ 38 บาท อันไหนคุ้มกว่ากัน

3. มะพร้าว ถือเป็นพืชมหัศจรรย์ของโลก มีพืชไม่กี่ชนิดในโลกที่จะสามารถนำมาแปรรูปได้หลากหลาย หากปลูกมะพร้าวเป็นลูกไม่มีคนซื้อ เราสามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาลมะพร้าวได้ภายใน 5 วัน น้ำตาลมะพร้าวตอนนี้ราคากิโลกรัมละ 30 บาท ถ้ามะพร้าวที่สวน 15 ไร่ เราสามารถที่จะเคี่ยวน้ำตาลได้ 15 ปีบ ต่อวัน 1 ปีบ บรรจุ 20 กิโลกรัม ราคาอย่างน้อยก็ปีบละ 700 บาท แต่ต้องแลกกับค่าแรงงานที่ค่อนข้างเยอะ ถือว่าดีกว่าปล่อยให้ผลผลิตไร้ประโยชน์ หรือถ้าไม่อยากทำเป็นน้ำตาล ก็นำมาหมักทำน้ำส้มสายชู ดังนั้น เกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวคุณสามารถไปได้หลายทางมาก

แนะช่องทางการตลาด ให้เกษตรกร ยุค 4.0

พี่แดง ให้แง่คิดว่า มะพร้าว ทางการแพทย์ถือว่ามีประโยชน์มาก แต่ปัจจุบันคนที่จะรับประทานมะพร้าวได้จริงๆ มีเพียงไม่กี่กลุ่ม เพราะระบบการส่งมะพร้าวถึงผู้บริโภคยังขาดอยู่ เกษตรกรต้องพัฒนามะพร้าวเข้าสู่ ยุค 4.0 คือทำให้สินค้าส่งถึงมือผู้บริโภคได้ทั่วถึงลูกค้าทุกกลุ่ม ต้องสะดวกและรวดเร็ว เช่น ถ้าผู้บริโภคอยากจะรับประทานมะพร้าวสัก 2 ลูก สามารถสั่งได้ทันที จะกดสั่งทางแอปพลิเคชั่นก็ง่าย และมองว่าหากทำได้ มะพร้าวจะประสบผลสำเร็จที่สุด เพราะมะพร้าว เกษตรกรเจ้าของสวนสามารถสต๊อกออเดอร์ได้นานถึง 6 เดือน เพราะเราสามารถดูผลผลิตจากจั่นได้ และรู้ละว่ามีมะพร้าวออกเท่าไร แล้วส่งได้ รับออเดอร์ได้ภายใน 4 เดือน ดังนั้น ตรงนี้ก็ต้องมาบริหารจัดการว่าคนสวนคิด 10 บาท คนที่มาตัดไปควั่นคิดเท่าไร เช่น คนควั่น คิด 3 บาท คนส่ง คิดอีก 2 บาท คิดดูว่าผู้บริโภคจะสามารถรับประทานมะพร้าวสดๆ จากสวนได้ ในราคา 15 บาท ถูกกว่าและสะดวกกว่า ไม่ต้องออกไปไหนด้วย

ผู้ที่สนในสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องการอยากเข้าไปขอคำปรึกษาที่สวน คุณแดง มาประกอบ ยินดี โทร. (086) 311-6857

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : technologychaoban

แสดงความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่