10 ข้อคิด!…จากประสบการณ์การเป็นลูกจ้างมาตลอด 14 ปี

0

10 ข้อคิด!…จากประสบการณ์การเป็นลูกจ้างมาตลอด 14 ปี

1. การที่คุณได้งานทำครั้งแรกในชีวิต อาจจะไม่ใช่เพราะคุณเก่งที่สามารถเอาชนะใจคนสัมภาษณ์คุณได้ แต่อาจจะเป็นเพราะ “เค้าหาใครไม่ได้แล้วต่างหาก” แบบว่า รับ ๆ เข้ามาก่อน เดี๋ยว 3 เดือนค่อยพิจารณาอีกทีว่าจะให้ผ่านโปรฯ หรือไม่ผ่านโปรฯ

2. ขณะสัมภาษณ์งาน ถ้าคำถามใดที่ไม่รู้ ก็ตอบว่าไม่รู้ อย่าเดา อย่ามั่ว แต่อย่าจบที่คำว่า “ไม่รู้” ควรย้อนถามผู้สัมภาษณ์สักนิดว่า “แล้วตามประสบการณ์การทำงานของพี่ พี่คิดว่าคำตอบที่ถูกต้อง หรือที่เหมาะสมคืออะไรครับ” เชื่อเถอะครับว่าแค่นี้ คุณก็ได้ใจเค้าไปแล้ว เพราะในการทำงานจริง เค้าไม่มีเวลาให้คุณมาลองผิด ลองถูกกับงานของเค้าหรอกนะ การถามผู้รู้คือทางลัดที่ดีที่สุด และปลอดภัยที่สุด เรื่องของการเรียนรู้ เป็นเรื่องหลังจากที่แก้ปัญหานั้นได้แล้ว จำไว้

3. การที่วิศวกรต้องเรียนรู้งานจากช่างเทคนิค ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิด หรือห้ามทำแต่อย่างใด “คุณสามารถเรียนรู้งานจากลูกน้องได้ ตราบใดที่ประสบการณ์ของคนเก่า คนแก่ยังมีมากกว่าความรู้ของวิศวกรจบใหม่”

4. เช่นกัน วิศกรจบใหม่ ก็สามารถเรียนรู้งานจากพนักงานฝ่ายผลิตได้ ไม่มีกฏ หรือข้อห้ามใด ๆ ระบุไว้ในระเบียบของบริษัท ถ้าจะมี ก็มีแต่ตัวคุณเองเท่านั้นที่ยังมีอีโก้อยู่

5. การอ่อนน้อม ถ่อมตนในสังคมที่ทำงานเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็อย่าลืมแสดงความเป็นผู้นำ หรือแสดงความคิดเห็นของคุณเองในที่ประชุมบ้าง เชื่อผมเถอะ! ต่อให้คุณนอบน้อมแค่ไหน แต่ถ้าคุณไม่แสดงตัวตนหรือศักยภาพของคุณออกมาเลย ชีวิตการทำงานของคุณก็ไม่ไปไหนอยู่ดี

6. วันที่คุณยังเป็นลูกน้องอยู่ ถ้าคุณไม่ชอบอะไรที่หัวหน้าคุณทำ วันข้างหน้าถ้าคุณได้เป็นหัวหน้า ก็อย่าทำสิ่งนั้นกับลูกน้องคุณ

7. การบริหารงานแบบเป็นกันเองเป็นสิ่งที่ดีสำหรับการทำงานแบบคนไทย แต่ถ้าลูกน้องทำผิด ก็อย่าลืมการลงโทษตามระเบียบของบริษัท เพราะคุณจะเอาลูกน้องไม่อยู่ ถ้าคุณยอมตั้งแต่แรก

8. อย่าคิดว่าบริษัทที่คุณทำงานอยู่นั้น มั่นคงที่สุดในโลก เพราะบริษัทที่ใหญ่กว่าบริษัทคุณเค้าก็เจ๊งกันมานักต่อนักแล้ว ดังนั้นคุณต้องมีแผนสำรองให้กับตัวคุณเองอยู่ตลอดเวลา

9. อย่าทำงานที่ใดที่หนึ่งนานเกิน 5 ปี เพราะถ้านานกว่านั้น รากคุณจะงอก ความท้าทายจะหายไป และความสามารถคุณจะลดลง จนสุดท้ายคุณเองจะไม่กล้าเปลี่ยนงาน และจะทำให้ชีวิตการทำงานของคุณมันน่าเบื่อสุด ๆ

10. คนระดับหัวหน้างานแทบทุกคนล้วนมีอาชีพที่สองของตนเองทั้งนั้น ไม่เชื่อคุณลองมองดูหัวหน้าคุณสิ! ใช่ไหม? นั่นแสดงให้เห็นว่างานประจำไม่ใช่คำตอบทุกอย่างของชีวิตคุณ และในเมื่อคุณรู้แบบนี้แล้ว สิ่งที่คุณต้องทำต่อจากนี้คือ “การหางานที่สอง” เอาไว้เป็นแผนสำรองของตัวคุณเองนั่นแหละ

ขอขอบคุณ : ปุ๊ – ศิริพงษ์

แสดงความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่