โรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์.. อาจพิการได้ อาหารอะไรบ้างที่ควรกิน และควรเลี่ยง?

0

โรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์.. อาจพิการได้ อาหารอะไรบ้างที่ควรกิน และควรเลี่ยง?

โรครูมาตอยด์

เป็นภาวะอักเสบเรื้อรังที่เกิดกับข้อที่มีเยื่อบุเกือบทุกข้อของร่างกาย (ข้อที่มีเยื่อบุเป็นข้อที่มักจะเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ เช่น ข้อแขน ข้อขา ข้อไหล่ เป็นต้น) เป็นเวลานานอย่างน้อย 6 สัปดาห์ขึ้นไปถึงหลายๆปี ภาวะอักเสบนี้ทำให้เยื่อข้อหนาตัว กระดูกข้อพรุน ข้อยึดติดผิดรูปและพิการได้

เกิดขึ้นกับใครได้บ้าง โรครูมาตอยด์เกิดขึ้นกับคนทุกเชื้อชาติ ในคนผิวขาวพบประมาณร้อยละ 0.3 – 1.5 ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ที่มารักษาในโรงพยาบาลได้บ่อยอัตราเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 3 :1 อายุที่พบมากอยู่ในช่วง 20 – 50 ปี

สาเหตุ สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องคือ

1. กรรมพันธุ์ พบฝาแฝดไข่ใบเดียวกันมีโอกาสเป็นสูง แต่ไม่พบว่ามีอุบัติการณ์สูงในครอบครัวทั่วไป
2. การตดเชื้อ มีส่วนที่ทำให้เกิดโรคนี้ อาจเป็นโดยตรงหรือโดยอ้อม เพราโรคติดเชื้อหลายโรคทำให้เกิดข้ออักเสบแต่ไม่มีโรคใดที่มีพยาธิสภาพเหมือนโรครูมาตอยด์เลยที่เดียว
3. ฮอร์โมนเพศ เนื่องจากพบว่าผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย 3 เท่า ถ้าผู้หญิงวัยเจริญพันธ์จะพบมากกว่าผู้ชาญถึง 4.5 – 10 เท่า
4. สิ่งแวดล้อมอื่นๆ

วิธีการสังเกตว่าตนเองเป็นโรครูมาตอยด์

– มีอาการอักเสบเรื้อรังของข้อต่อในร่างกายหลาย ๆ ข้อพร้อมกัน และมีอาการติดต่อกันเกิน 6 สัปดาห์
– บริเวณที่อักเสบส่วนใหญ่จะเป็นข้อมือ ข้อโคนนิ้วมือ ข้อเข่า ข้อเท้า มีอาการปวด บวม และเมื่อกดจะมีอาการเจ็บ
– มีอาการข้อฝืด ข้อแข็ง ไม่สามารถขยับตัวได้สะดวก โดยเฉพาะในเวลาเช้าหลังตื่นนอน และจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงจึงจะเริ่มขยับข้อต่างๆ ได้
– มีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดเมื่อยทั้งตัว มีไข้ต่ำๆ น้ำหนักลดอย่างผิดปกติ ต่อมน้ำเหลืองและหลอดเลือดอักเสบ และโลหิตจาง

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคข้อรูมาตอยด์

1. เข้ารับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง ควรพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรซื้อยากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นอันตรายได้ ไม่ควรใช้ยาสมุนไพร ยาต้ม ยาลูกกลอน เพราะมักมียากลุ่มสเตียรอยด์ผสม ซึ่งทำให้การใช้ยาในช่วงแรกอาจดูเหมือนได้ผลดี แต่หลังจากนั้นจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาอีกมากมายดังกล่าวแล้ว
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ช่วยให้ข้อเคลื่อนไหวได้เต็มองศาของข้อนั้น ช่วยลดความปวดและอาการอ่อนเพลียแนะนำให้ออกกำลังกายในน้ำหรือว่ายน้ำจะดีที่สุด เพราะไม่ทำให้ข้อได้รับการกระทบกระเทือนจากการลงน้ำหนัก และทางที่ดีก็ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดถึงวิธีการออกกำลังกายก่อนที่จะเริ่มทำจริงจัง เพราะจะได้ทราบถึงวิธีการออกกำลังกาย ท่าทางต่างๆ ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนในแต่ละวัน 3. ไม่ควรนั่งยืนหรืออยู่ในอิริยาบถใดๆ ที่ไม่เกิดการเคลื่อนไหวของข้อใดข้อหนึ่งนานๆ เพราะจะทำให้ข้อแข็ง ขาดความยืดหยุ่น เกิดข้อยึดได้เร็วขึ้น ควรขยับข้อต่างๆ บ่อยๆ แต่ไม่ควรฝืนทำกับข้อที่กำลังมีอาการบวมและปวดอยู่
4. หลีกเลี่ยงการกระทำที่ส่งผลให้ข้อได้รับความกระทบกระเทือน เช่น การยก การแบกของหนัก กระโดดจากที่สูง ควรหลีกเลี่ยงการทำงานที่ใช้สว่านขุดเจาะ พยายามใช้ข้อใหญ่ในการทำงานก่อน เช่น ถ้าต้องยกของก็พยายามใช้ข้อมือหรือข้อศอกในการออกแรง ใช้แรงจากข้อนิ้วให้น้อยที่สุด เป็นต้น
5. รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม จะช่วยลดการรับน้ำหนักของข้อเข่าข้อเท้าได้ แต่ต้องได้รับอาหารที่มีแคลเซียม วิตามินดี และวิตามินซีอย่างเพียงพอ เพื่อการบำรุงเนื้อเยื่อและกระดูก
6. การใช้ยาเพื่อลดอาการปวดบวมของข้อ รวมไปถึงการแช่น้ำอุ่น พาราฟินอุ่น หรือการแช่ในน้ำแข็ง การประคบเย็น (Ice pack) ก็สามารถช่วยลดอาการได้
7. ควรรู้สมดุลร่างกายของตัวเองว่าเมื่อใดควรพักข้อที่อักเสบ และเมื่อใดควรให้ข้อนั้นออกกำลังกายจะช่วยให้รับมือกับโรคได้ดีขึ้น เช่น เมื่อข้อเกิดการอักเสบรุนแรงขึ้น ให้หยุดการออกกำลังบริเวณข้อทันที และเริ่มออกกำลังใหม่เมื่อการอักเสบลดลงแล้ว

การเลือกรับประทานอาหาร

1. ข้าวกล้อง
2. ผลไม้ที่ผ่านความร้อน หรือทำแห้ง ได้แก่ เชอรี่ แครนเบอรี่ ลูกแพร์ ลูกพรุน (ยกเว้น ผลไม้ตระกูลส้ม กล้วยลูกพีช หรือมะเขือเทศ)
3. ผักสีเขียว เหลือง และส้ม ที่ผ่านความร้อน ได้แก่ หัวอาร์ติโช้ค หน่อไม้ฝรั่ง บร็อคโคลี่ ผักกาดแก้ว ผักโขม ถั่วฝักยาว มันเทศ มันสำปะหลัง และเผือก เป็นต้น
4. น้ำ ได้แก่ น้ำธรรมดา หรือ โซดา
5. เครื่องปรุงรส ได้แก่ เกลือปริมาณปานกลาง น้ำเชื่อมเมเปิ้ล และสารสกัดวานิลา

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

อาหารที่มีผลกระตุ้นให้อาการกำเริบ คือ ผลิตภัณฑ์นมทุกชนิด ทั้งจากนมวัวและนมแพะข้าวโพด เนื้อสัตว์ทุกชนิด ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวไรซ์ ไข่ ผลไม้ตระกูลส้ม มันฝรั่ง มะเขือเทศ ถั่ว กาแฟ รวมไปถึงอาหารบางชนิดที่อาจจะกระตุ้นให้อาการกำเริบได้ในบางคน แต่ไม่กระตุ้นอาการในคนกลุ่มใหญ่ เช่น เครื่องดื่มอัลกอฮอล์ กล้วย ช็อกโกแล็ต มอลต์ ไนเตรต หอมใหญ่ ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง น้ำตาลอ้อย และเครื่องเทศบางชนิด

เอกสารอ้างอิง

ฉัฐยา จิตประไพ. (2539). การฟื้นฟูผู้ป่วยโรคข้อ. ในเสก อักษรานุเคราะห์และคนอื่นๆ (บรรณาธิการ), ตำราเวชศาสตร์ฟื้นฟู. (พิมพ์ครั้งที่3, เล่มที่ 2,หน้า 781 – 788). กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์เทคนิค.

ประคอง อินทรสมบัติ. (2536). การพยาบาลผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์. ในสมจิต หนุเจริญกุล (บรรณาธิการ), การพยาบาลอายุรศาสตร์เล่าม 3 .(พิมพ์ครั้งที่ 3, ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4, หน้า 119 – 207). กรุงเทพมหานคร :วิศิษ์ฎสิน.

เล็ก ปริวิสุทธิ์. (2538). โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์. ในสุรวิฒิ ปรีชานนท์และสุรศักดิ์ นิลภานุวงศ์ (บรรณาธิการ). ตำราโรคข้อ (หน้า 29 – 46). กรุงเทพมหานคร :เรืองแก้วการพิมพ์

อุทิศ ดีสมโชค. (2534). การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคข้อ. กรุงเทพมหานคร :จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ
ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ที่ปรึกษา ผศ.นพ. กิตติ โตเต็มโชคชัยการ
ผู้เรียบเรียง จริยา วิรุฬราช

แสดงความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่