ปลูกเห็ดในโองเก่าหลังบ้าน “7 วันเก็บขายได้” ลงทุนหลักพันสร้างรายได้หลักแสน

0

ปลูกเห็ดในโองเก่าหลังบ้าน “7 วันเก็บขายได้” ลงทุนหลักพันสร้างรายได้หลักแสน

เกษตรแนวใหม่ คิดค้นวิธีใหม่ๆในการต่อยอดผลผลิตและการใช้สิ่งของที่เหลือใช้มาทำประโยชน์ และสร้างรายได้เพื่อมาเลี้ยงคนในครอบครัว

หนึ่งในนวัตรกรรม ที่แตกแขนงออกมาเนื่องจากอุปสรรคที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เกิดวิธีการใหม่ๆ ที่ให้ผลผลิตไม่แพ้การเพาะเห็ดในแบบปกติ เรามาดูกันว่า การเพาะเห็ดโอ่ง เค้ามีกรรมวิธีทำกันอย่างไรให้ได้ผลผลิตกันแบบเห็นๆ เลยกับอาชีพยอดนิยมที่สร้างรายได้ ที่รวดเร็ว การเพาะเห็ดในโอ่ง เพื่อบริโภคในครัวเรือนและการปลูกผักในกระสอบเป็นอาชีพเกษตรกรรมที่ทำง่ายและลงทุนไม่สูงมาก

เพราะโดยทั่วไปการเพาะเห็ดจะต้องสร้างโรงเรือน ใช้เงินทุนสูงพอสมควร และถ้าจะเพาะในเชิงพาณิชย์ต้องตววจสอบเรื่องการตลาดให้ดีเสียก่อน แต่ถ้าจะเพาะเพื่อการบริโภคในครัวเรือนแบบเศรษฐกิจพอเพียง ลดความยุ่งยากและไม่ต้องลงทุนสร้างโรงเรือน

อีกทั้งใช้วัสดุเหลือใช้ในครัวเรือนมาใช้ให้เกิดประโยชน์คือ โอ่งแตก หรือโอ่งร้าว สามารถนำมาเพาะเห็ดได้ จึงได้เกิดวิธีการ เพาะเห็ดโอ่งไม่ต้องใช้โรงเรือน แถมได้บริโภคในครัวเรือนอย่างเพียงพอ ได้เห็ดที่มีความสด คุณภาพดี และรสชาติอร่อยไม่แพ้การเพาะจากวิธีอื่น

กรรมวิธีก็โดยใช้โอ่งเก่า โอ่งแตก หรือโอ่งร้าว เป็นที่เพาะเห็ด สำหรับวัสดุอื่นก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแต่ซื้อก้อนเชื้อเห็ดถุงชนิดที่ต้องการจะเพาะ กระสอบป่านใส่ข้าวสารหรือตาข่ายพรางแสงสีดำและบัวรดน้ำเท่านั้น ขั้นตอนการเพาะอันดับแรกจะต้องเลือกสถานที่ใช้เพาะควรเป็นใต้ร่มไม้หรือบริเวณที่มีร่มเงา

วัสดุและอุปกรณ์ในการเพาะเห็ด

1. โอ่งมังกร (โอ่งแตก หรือโอ่งร้าว) จำนวน 1 ใบ

2. ก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้าหรือเห็ดถุงชนิดอื่นๆ จำนวน 20 ก้อน

3. ตาข่ายพรางแสง หรือกระสอบป่าน สำหรับปิดปากโอ่ง จำนวน 1 ผืน

4. ไม้ไผ่ตีเป็นตะแกรง ขนาดความกว้าง ยาว ให้พอดีกับขนาด โอ่งที่เตรียมไว้

5. กรอบไม้ทำฐานรองพื้นโอ่ง (ด้านนอก)

6. ทรายหยาบ รองพื้นโอ่ง

7. เชือกฟาง

8. บัวรดน้ำ

ขั้นตอนการเพาะ

1. นำไม้ที่เตรียมไว้สำหรับทำฐานรองโอ่งด้านนอก มาตีล้อมกรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยให้มีพื้นที่ว่างระหว่างกรอบไม้เพียงพอต่อการวางพื้นที่ผิวของโอ่งที่จะ วางในแนวนอน ไม่ให้โอ่งกลิ้ง

2. นำโอ่งมานอนลง จัดหาสถานที่เหมาะๆ ใต้ร่มไม้หรือที่มีร่มเงา ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกขึ้น

3. นำทรายหยาบมาเทรองพื้นโอ่งที่วางไว้ในแนวนอน กะให้มีความหนาประมาณ 2-3 นิ้ว เพื่อกักเก็บความชื้น

4. นำตะแกรงไม้ไผ่ที่เตรียมไว้มาวางด้านในโอ่ง ทำเป็นแผงสำหรับวางก้อนเชื้อเห็ด โดยให้มีพื้นที่ว่างด้านบนมากกว่าพื้นที่ว่างด้านล่าง

5. นำก้อนเชื้อเห็ดที่ต้องการเพาะมาเรียงไว้จนเต็ม และทำการเปิดดอก ด้วยวิธีการเปิดจุกก้อนเชื้อด้านบน บังคับให้ดอกออกเป็นกระจุกด้านบน ก่อนวางเรียงก้อนเชื้อเห็ดจนเต็ม

6. ปิดปากโอ่งด้วยกระสอบป่านหรือตาข่ายพรางแสง แล้วใช้เชือกผูกยึดกระสอบกับขอบปากโอ่งให้แน่น โดยปล่อยชายกระสอบให้สามารถเปิดขึ้นลงได้

7. รดน้ำบนก้อนเชื้อเห็ด เช้า-กลางวัน-เย็น ถ้าพบว่ากองเห็ดแห้งเกินไป ควรเพิ่มความชื้นโดยใช้กระบอกฉีดน้ำ พ่นน้ำให้เป็นฝอยในโอ่ง เพื่อเป็นการให้ความชื้นแก่ก้อนเห็ด แล้วปิดปากโอ่งไว้ดังเดิม

ข้อแนะนำสำหรับการเพาะเห็ดโอ่ง

1. ควรระมัดระวังในช่วงวันที่ 1-3 ถ้าร้อนเกินไป ให้เปิดกระสอบป่านหรือตาข่ายพรางแสงเพื่อระบายความร้อน

2. หลังเพาะประมาณ 1 สัปดาห์ จะเริ่มมองเห็นตุ่มสีขาวเล็กๆ เกิดขึ้นบนก้อนเชื้อเห็ด ในช่วงนี้ต้องระวังเรื่องการรดน้ำ อย่าให้ดอกเห็ดโดนน้ำเป็นอันขาด มิฉะนั้นดอกจะฝ่อและเน่าเสียหาย แต่ยังคงต้องพ่นน้ำให้ความชื้นอยู่ทุกวัน

3. ประมาณ 7-10 วัน เห็ดจะออกดอกเก็บรับประทานได้ สามารถเก็บดอกเห็ดมารับประทานได้แล้วทุกวัน จนกว่าดอกเห็ดจะหมดไป ใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน

4. น้ำที่ใช้สำหรับการรดก้อนเชื้อเห็ดจะต้องเป็นน้ำที่จืด มีค่า pH เป็นกลาง ไม่มีคลอรีนเจือปน เรื่องน้ำที่ใช้รดก้อนเห็ดนั้นสำคัญมาก ถ้าน้ำกร่อยหรือเค็มจะส่งผลให้เห็ดไม่ออกดอก

5. น้ำที่ดีที่สุดคือ น้ำฝน หรือจะใช้น้ำประปาที่ผ่านการขจัดคลอรีนออกแล้วก็ได้ผลดีเช่นกัน (การรองน้ำประปาตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน จะช่วยขจัดคลอรีนออกไปได้

สำหรับการเพาะเห็ดในโอ่ง เป็นการนำเอาของใช้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ เป็นแนวทางในการประหยัดต้นทุน และสามารถนำไปเพาะได้ทุกครัวเรือน เห็ดที่จะนำมาใช้ในการเพาะแต่ละชนิดนั้น จะมีความต้องการและลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน เช่น เห็ดประเภทนางรม หูหนู และเป๋าฮื้อ จะต้องการสภาพอากาศที่ร้อนชื้นจนถึงสภาพอากาศตามปกติ

ส่วนเห็ดนางฟ้า เห็ดหอม จะต้องการอากาศที่ค่อนข้างเย็นในการเจริญเติบโต การเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดใดๆ ควรจะมีการจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ดชนิดนั้นๆ ในการผลิตดอกเห็ดแต่ละฤดูก็ควรมีการจัดการชนิดของเห็ดที่จะผลิตควบคู่ไปด้วย

การดูแลรักษาเห็ดโอ่ง

1. ข้อระวัง น้ำที่ใช้รดเห็ดจะต้องเป็นน้ำจืด ไม่มีคลอรีนเจือปน ไม่เป็นน้ำกร่อย น้ำเค็ม ระวังน้ำเค็มไม่สามารถจะใช้รดเห็ดได้ เพราะเห็ดจะไม่ออกดอก

2. เห็ดแต่ละชนิดต้องการอุณหภูมิที่เหมาะสมในการผลิตดอกเห็ดไม่เหมือนกัน เห็ดนางรม เห็ดเป๋าฮื้อ และเห็ดหูหนู ต้องการอุณหภูมิธรรมดาในช่วงฤดูร้อนหรือฤดูฝน ส่วนเห็ดนางฟ้าและเห็ดหอม ต้องการอุณหภูมิค่อนข้างเย็น

ผู้สนใจการเพาะเห็ดในโอ่งที่ไม่ต้องใช้โรงเรือน สำหรับไว้รับประทานเอง สามารถติดต่อสอบถามขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม โทร. (034) 702-829, (081) 041-8341คุณสถาพร ตะวันขึ้น บ้านเลขที่ 21 หมู่ที่ 4 ตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม 75120 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ดบ้านท่าช้าง ม.2 ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม พิษณุโลก 65150 โทรศัพท์ 081-675-8839, 084-622-5879

ขอบคุณข้อมูลจาก : kasetorganic

แสดงความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่