ชาวบ้านปลูกผักคราด “ต้นหม่าล่าอีสาน” สร้างรายได้ดี 4 เดือนขายได้เป็นแสน

0

ชาวบ้านปลูกผักคราด “ต้นหม่าล่าอีสาน” สร้างรายได้ดี 4 เดือนขายได้เป็นแสน

เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ได้ดีเลยทีเดียว กับการปลูกพืชผักสมุนไพร ที่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เรามาดูเทคนิคกันเลย ว่าเขามีขั้นตอนในการทำอย่างไร

ที่หมู่บ้านบุ่งตาข่าย ต.ปากปวน อ.วังสะพุง จ.เลย ชาวบ้านได้พากันปลูกผักคราด หรือภาษาท้องถิ่นวังสะพุงเรียกว่าผักฮาด ผักพื้นบ้าน ที่ชาวอีสานและชาวภาคเหนือนิยมนำไปใส่ในอาหาร เช่น เอาะ แกงอ่อม หรือหมกชนิดต่างๆ โดยปลูกบนที่นาหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเรียบร้อยแล้ว ทั้งหมู่บ้านปลูกรวมกันกว่า 10 ไร่ ส่งขายที่ตลาดในตัวจังหวัด สร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรกว่ารายละ 50,000 – 100,000 บาท ในระยะเวลาเพียง 4 เดือน ไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินซื้อกำจัดปราบศัตรูพืช และใช้พื้นที่น้อยกว่าปลูกข้าวโพด ต้นทุนเงินและแรงต่ำกว่ามาก ใช้พื้นที่เพียง 1-2 งาน ก็ขายได้เดือนละ 8,000 บาทแล้ว ทั้งหมู่บ้านมีรายได้จากการขายผักคราด รวมกว่า 2 ล้านบาทต่อหนึ่งฤดูกาลเลยทีเดียว

นางบุญแย้ม ศักดาพิทักษ์ หรือแม่คิว เกษตรกรผู้ปลูกผักคราด บ้านบุ่งตาข่าย เปิดเผยว่า ปลูกพืชชนิดนี้มานานประมาณ 10 ปี แล้ว ก่อนที่จะเริ่มปลูกนั้น เห็นเพื่อนบ้านไปเอาต้นพันธุ์จากอำเภอหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เพราะต้นผักคราดแถวบ้านจังหวัดเลยหายากมาก แทบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว เพราะพื้นดินเต็มไปด้วยสารเคมี ปราบศัตรูพืช ซึ่งที่หล่มสัก ผักคราดขึ้นอยู่ตามนาข้าวโพด เป็นวัชพืช ชาวบ้านแถวนั้นเขาไม่เอา ก็ให้ชาวบ้านบุ่งตาข่ายมาโดยไม่คิดเงิน เพื่อนบ้านก็เอามาปลูกเป็นคนแรก ปรากฏว่าขายดีมาก ระยะเวลาเพียง 4 เดือน ขายได้เงินกว่า 1 แสนบาท หลังจากนั้น ชาวบ้านบุ่งตาข่ายก็พากันไปขอเอาต้นพันธุ์จากหล่มสักมาปลูกด้วย ส่วนตนใช้ที่นา หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว รวมพื้นที่เกือบสองงาน

การปลูกก็ทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก

นำต้นพันธุ์มาปักลงดินที่เตรียมแปลงไว้ ใส่ปุ๋ยคอกและฟางรองพื้นดิน หมั่นรดน้ำ และหมั่นถอนหญ้าออก ใช้เวลาเพียง 1 เดือน ก็สามารถเก็บยอดไปขายได้แล้ว โดยมีแม่ค้าที่ตลาดเช้าเทศบาลเมืองเลยสั่งซื้อไม่อั้น เก็บในรอบ 3 วันจะนำใส่รถกระบะไปส่งลูกค้า ราคา 6 กำ 20 บาท เก็บได้เรื่อยๆ ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม หากใครมีกำลังแรงพอปลูกไปถึงเดือนเมษายน หรือหน้าแล้ง ผักคราดจะราคาดีกว่าช่วงนี้มาก จากที่ตนปลูกมาเป็นระยะเวลา 10 ปี สร้างรายได้เสริมเป็นอย่างดี จนสามารถส่งลูกเรียนจบปริญญาตรีไปแล้ว 1 คน เพื่อนบ้านบางคนทิ้งไร่ข้าวโพดมาปลูกผักคราดขายเป็นรายได้หลัก เพราะต้นทุนต่ำกว่า ใช้พื้นที่น้อยกว่า แต่รายได้สูงกว่า และที่สำคัญไม่ต้องเสี่ยงสารเคมีปราบศัตรูพืชเข้าร่างกายด้วย

อย่างไรก็ตาม การปลูกผักคราดต้องคอยดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด หมั่นรถน้ำและกำจัดหญ้า หากดูแลไม่ดีพอก็จะเป็นโรคใบแห้ง ขายไม่ได้ราคา เคยมีชาวบ้านจากที่อื่นนำต้นพันธุ์ไปปลูก แต่ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ซึ่งอาจเป็นเพราะสภาพดินและสภาพอากาศของหมู่บ้านบุ่งตาข่ายเหมาะสมที่สุดสำหรับผักชนิดนี้ นางบุญแย้มกล่าว

ทั้งนี้ ผักคราด มีรสชาติจืดๆมันๆ รับประทานแล้วจะรู้สึกชาที่ลิ้นชั่วขณะ หรือชาวอีสานเรียกว่ามันกระเด้าลิ้น คล้ายผงหม่าล่า เครื่องปรุงรสประเภทปิ้งย่างจากประเทศจีน ที่กำลังนิยมอย่างมากในประเทศไทย ผักคราดจัดเป็นผักสมุนไพร และเป็นหนึ่งในสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน อีกทั้งทางด้านเภสัชวิทยาช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านยีสต์ ต้านไวรัส ยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้ ลดความดันโลหิต เพิ่มฤทธิ์ของฮิสตามีนในการทำให้ลำไส้หดเกร็ง ปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกันกำจัดยุง กำจัดลูกน้ำยุง ทำให้ชัก  แก้ปวด ลดความแรงและความถี่ของการบีบตัวของหัวใจห้องบน ยับยั้งการหดตัวของมดลูกซึ่งเหนี่ยวนำด้วย

ต้นผักคราด สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน

ใบ ช่วยให้แก้ปวดศีรษะ แก้โลหิต ขับสิ่งสกปรก

ดอก ขับน้ำลาย แก้โรคในคอ แก้ปวดฟัน แก้โรคติดอ่างในเด็ก รักษาแผลในปากในคอ แก้โรคลิ้นเป็นอัมพาต

เมล็ด เคี้ยวแก้ปากแห้ง

ลำต้น แก้ตานซาง แก้ริดสีดวง แก้ผอมเหลือง แก้บิด แก้โลหิตออกตามไรฟัน ชงดื่ม ขับปัสสาวะ แก้หอบไอ แก้ไอกรน แก้ปวดบวม แก้ไขข้ออักเสบ แก้คันคอ แก้ทอนซิลอักเสบ แก้งูรัด สุนัขกัด พอกแก้ปวดบวม

รากใช้ต้มดื่ม ช่วยในการขับถ่าย อมบ้วนปากแก้อักเสบในช่องปาก เคี้ยวแก้ปวดฟัน

ขอบคุณข้อมูลจาก : ภัทราวุธ บุญประเสริฐ

แสดงความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่