“ดุ๊ก ภาณุเดช” หลังบวชศึกษาพระธรรม ก็ได้พบทางสว่างของชีวิต
ชีวิตของคนเราทุกคนที่เกิดมา ต่างมีการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ความพึงพอใจในการใช้ชีวิตก็ย่อมแตกต่างกันออกไปด้วย คนบางคนมีความสุขกับการหาเงินเพื่อเพิ่มฐานะความร่ำรวย แต่คนบางคนกลับชอบใช้ชีวิตแบบสบายๆพอมี พอกิน…
เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวดีๆของชีวิต เมื่อ ดุ๊ก ภาณุเดช วัฒนสุชาติ นักแสดงและผู้จัดชื่อดัง ที่ได้เข้าพิธีอุปสมบทไปเมื่อวันที่ 13 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม ได้ฉายาทางธรรมว่า “อคฺคเตโช” (อัคคะเตโช) แปลว่า ผู้มีอำนาจอันยิ่งใหญ่ โดยล่าสุดเจ้าตัวได้ออกมาโพสต์แชร์เรื่องราวระหว่างที่อยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ โดยระบุว่า…
ผมได้เข้าอุปสมบทที่วัดราชบพิธ โดยมีสมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา จนถึงวันที่15 กุมภาพันธ์เป็นเวลา 32 วัน นับเป็นบุญเหลือเกินที่จะบรรยายได้ ผมได้มีโอกาสเข้ารับพระราชทานทรงบาตรในตอนเช้าของวันที่ 12 กุมภาพันธ์ซึ่งเป็นวันครบรอบหนึ่งปีแห่งการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชยังได้เฝ้ากราบพระบาทหลายครั้ง และได้รับพระเมตตาในการอบรมสั่งสอน เพื่อให้สามารถน้อมนำคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาใช้ในชีวิตประจำวัน
สามารถดำรงตนให้อยู่ในศีลในธรรม และเป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิดแบบชาวพุทธ ตลอดจนสามารถเผยแพร่และบอกต่อทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้ผู้พบเห็นได้เรียนรู้และนำไปปฎิบัติให้สมกับที่ได้เกิดมาเป็นพุทธศาสนิกชน
การได้เป็นบวชเป็นพระใหม่ ภายใต้การอบรมดูแลของพระอาจารย์ผู้เปี่ยมไปด้วยเมตตา พระราชมงคลดิลก (ท่านเจ้าคุณ กอบ) และคณะสงฆ์ในวัดราชบพิธ นั้นเป็นบุญวาสนาของผมจริงๆครับ ทำให้ช่วงเวลาหนึ่งเดือนของผมที่ได้บวชนั้นมีคุณค่าอย่างที่สุด
ถ้าจะถามว่าผมได้อะไรจากการบวช มีมากมายทีเดียวครับ แต่ผมมีเรื่องง่ายๆมาชวนให้คิดถือเป็นของฝากนะครับ นั่นคือการสำรวมกาย วาจา ใจ ของพระในขณะบวช ทำให้ได้มีเวลาฝึกความคิดให้ควบคุมว่าเรากำลังจะพูด หรือจะทำอะไร เรียกง่ายๆ ว่ารู้ตัวนั่นเอง ดังนั้นเราจึงมีเวลาคิดให้การกระทำไม่ให้ไปทำร้ายความรู้สึกคนอื่นได้ เป็นการลดปัญหาการกระทบกระทั่งที่เกิดขึ้นทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจได้อย่างดี ถ้าทำได้ เท่านี้ก็ทุกข์น้อยลงแล้วครับ
พูดถึงความทุกข์ในชีวิตของเราเมื่อเกิดทุกข์เรามักมองออกไปข้างนอกตัวเอง โทษคนนั้นโทษสิ่งนี้ว่าเป็นต้นเหตุ เราจึงมุ่งคิดไปแก้ไขสิ่งอื่นแต่ก็ทำไม่ได้ ในเมื่อแก้คนอื่นไม่ได้ลองเรียนรู้ที่จะมองกลับมาที่ตัวเองดูครับ เราจะพบว่าทุกอย่างเริ่มต้นที่ใจเรา ดังนั้นเราก็แก้ที่ใจเราเอง หากใจเราคิดแล้วเป็นทุกข์ เราจะคิดถึงมันทำไมใช่ไหมครับ พูดง่ายทำแต่ก็ไม่ง่ายครับ ผมเข้าใจ ค่อยๆทำไปนะครับ คุณทำได้ อาจจะยังไม่พบความสุขแต่จะทุกข์น้อยลงแน่นอน เอาบุญมาฝากกันครับ
การบวชครั้งนี้ผมยังได้มีโอกาส ไปศึกษาปฎิบัติธรรมยังวัดถ้ำขาม จ.สกลนคร พร้อมกับพระอาร์ตและพระเต้ ที่บวชพร้อมกัน ผมกับอาร์ตเราจำวัดที่นั่นเป็นเวลา 10 วัน วัดถ้ำขามเป็นวัดป่าอยู่บนยอดเขาสูงภายใต้การดูแลของ ครูอาจารย์โจ้ ท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ในวันที่ผมไปที่นั่นมีพระอาจารย์และครูบาประมาณ 15 รูป รวมพระใหม่จากกรุงเทพฯ ทั้ง 3 รูป และยังมีแม่ชี และผู้ปฏิบัติธรรมอยู่ที่นั่นส่วนหนึ่ง ผมได้สัมผัสเรียนรู้วิถีชีวิตพระป่าโดยแท้ ฉันอาหารเพียงมื้อเดียว มีชาวบ้านขึ้นมาใส่บาตรข้าวเหนียวถึงในศาลาในเวลา 8โมงเช้า อาหารที่ฉันจะเน้นหนักไปทางข้าวเหนียว ปลาร้า ปลาแห้ง และกับข้าวพื้นบ้านมากมาย แม้อาหารหลายอย่างจะไม่คุ้นเคยแต่ก็อยู่ท้องได้ทั้งวัน ในวันที่ 3 ได้เห็นการอบบาตรอันเป็นภูมิปัญญาที่มีพระไม่กี่รูปที่จะทำได้ในปัจจุบัน การใช้ฟืนเผาบาตรเหล็กด้วยเทคนิคแบบภูมิปัญญาพระป่า เป็นเวลา 13-15 ชั่วโมง เรียกว่าต้องนั่งเฝ้ากันทั้งคืนถึงตี 3.30 ในรุ่งเช้านั้น สามารถเปลี่ยนเหล็กธรรมดาให้เป็นบาตรสีดำเงามีเกร็ดสะท้อนราวเพชรประดับระยิบระยับ เพิ่มคุณภาพความแข็งแกร่งทนทานไม่เป็นสนิทนานนับร้อยปีอย่างน่าอัศจรรย์ ยังได้หัดทำไม้กวาดเพื่อปัดกวาดใบไม้ในลานวัดด้วยตนเองอีกด้วย และที่สำคัญธรรมชาติที่นั่นสอนให้ได้มีสติในทุกย่างก้าว นอกจากไฟในกุฏิที่จำวัดกันกุฏิละองค์และห่างไกลกันอยู่ในป่าแล้วนั้น ทางเดินที่นั่นไม่มีไฟฟ้าเลย มีเพียงไฟฉายส่องทางที่ต้องเดินผ่าน เราต้องส่องอยางมีสติและละเอียดทั้งด้านบนและด้านล่างก่อนจะก้าวเท้าไปแต่ละก้าว เพื่อไม่ให้ไปเผลอเหยียบสัตว์มีพิษโดยเฉพาะงูที่มีอยู่ชุกชุม
การได้อยู่กับตัวเอง เวลากวาดลานวัดก็ทำให้ได้คุยกับตัวเองและพิจารณาได้ว่า ใบไม้แห้งเหล่านี้ก็เหมือนกิเลสที่ต้องหมั่นสะสางออกไป เพราะมันพร้อมจะเพิ่มพูนขึ้นใหม่เสมอหากเราปล่อยไว้ก็จะยิ่งสะสมจนทวีคูณ เวลาที่ต้องอยู่ในกุฏิองค์เดียวบังคับให้เราอยู่กับตัวเอง รู้ทันความคิดตัวเอง เสียงสัตว์ป่าที่เหยียบใบไม้ดังเหมือนคนเดินไปมา เสียงลมแรงที่ผัดพาใบไม้ กิ่งไม้ร่วงลงบนหลังคา เสียงลมพัดประตูไม้ทำให้ดังเหมือนใครมาเคาะ มีมาตลอดทั้งคืนพร้อมจะทำให้เราคิดมโนเป็นเรื่องน่ากลัวได้ตลอดเวลา เราต้องฝึกที่จะบอกตัวเองให้ตั้งสติ พิจารณา งดมโน ข่มความกลัว ด้วยการสวดมนต์ ภาวนา พุธโธ ในที่สุดการเจริญสติก็สามารถสะกดให้เราชนะตัวเอง 10 วันที่นั่นได้ให้บทเรียนอย่างมากมาย โดยเฉพาะการได้อยู่กับตัวเอง ฟังตัวเอง คุยกับตัวเอง แต่อย่าเข้าข้างตัวเองนะครับ ใช้สติพิจารณาอย่างละเอียด แล้วคุณจะได้ใช้ชีวิตดีๆ อย่างมีสติต่อไป
การได้มาอยู่วัดป่า ทำให้ผมมีเวลาได้ทบทวนเรื่องความคิดของตัวเอง และได้ลองนึกย้อนไปดูว่าที่ผ่านมาเราจัดการกับความคิดได้เหมาะสมมากน้อยเพียงใด สิ่งสำคัญสิ่งแรกเลยคือ เราจะต้องคิดแต่เรื่องดีๆ เพราะจะทำให้ใจเราไม่เป็นทุกข์ ไม่เครียด ช่วยให้ใจเรามีความสุข สิ่งสำคัญต่อมาคือ เราจะต้องคิดอย่างมีเหตุผล ไม่ด่วนสรุป ไม่ด่วนเชื่ออะไรง่ายๆ เราจะต้องพยายามใช้เหตุผลตรวจสอบข้อเท็จจริง ความเป็นไปได้ การคิดแบบมีเหตุผลยังช่วยให้เราตัดความกังวลใจเล็กๆ น้อยๆ ไปได้อีกด้วย สิ่งสำคัญต่อมาคือ เราจะต้องคิดหลายๆ มุม ลองมองหลายๆ ด้าน เราต้องระลึกอยู่เสมอว่า ทุกสิ่งบนโลกนี้ล้วนมีข้อดีข้อเสียประกอบกันทั้งสิ้น เราไม่ควรมองเพียงด้านใดด้านหนึ่ง สิ่งสำคัญรองลงมาคือ เราจะต้องมีความคิดที่ยืดหยุ่นได้มากขึ้น ต้องรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา อย่าเอาจริงเอาจังตัดสินถูกผิดตัวเองหรือผู้อื่นตลอดเวลา สิ่งสำคัญสุดท้ายคือ เราจะต้องหัดคิดหัดมองในมุมของคนอื่นด้วย อย่างที่เขาเรียกว่าเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็จะช่วยให้เรามองอะไรได้กว้างไกลกว่าเดิม คิดถึงคนอื่นบ้าง อย่าหมกมุ่นแต่เรื่องของตัวเอง เปิดใจให้กว้างรับรู้ความรู้สึกและความเป็นไปของคนใกล้ชิดและคนอื่นๆ ใส่ใจที่จะช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของผู้อื่นบ้าง บางครั้งปัญหาหรือความเครียดที่กำลังเผชิญอยู่นั้นอาจเป็นเรื่องเล็กนิดเดียว เมื่อเทียบกับปัญหาของผู้อื่น คิดได้แบบนี้ก็จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตอย่างมีสติและมีความสุขครับ
คนเราถ้าไม่ฝึกขัดเกลาจิตใจ ก็จะสะสมความคิดที่ทำให้เกิดทุกข์ได้โดยไม่รู้ตัว เปรียบได้กับบาตรพระที่ต้องหมั่นขัดหมั่นล้าง ชำระเอาเศษอาหารที่เหลือติดออกให้หมด แม้อาหารจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่หากปล่อยทิ้งไว้ให้สะสมก็จะแห้งกรัง สกปรกกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้ในที่สุด ธรรมะจึงสอนให้คนเรารู้จักปล่อยวาง ทั้งความสุขและความทุกข์ไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งใดจนกลายเป็นความยึดติด เหมือนบางคนที่รักรถมากยินดีที่ได้มาแต่พอรถเกิดรอยขีดข่วนเพียงนิดเดียวก็เกิดความเครียด จากความสุขกลายเป็นความทุกข์ไปทันที กิเลสความโลภความยึดมั่นถือมั่นต้องยอมรับว่ามีในธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน หากเปิดใจใช้ธรรมะฝึกขัดเกลาเอาออกจากใจได้ก็จะทุกข์น้อยลง เปรียบเหมือนบาตรพระที่สะท้อนความเงางามเพราะหมันดูแลทุกวัน ชีวิตของคนเราล้วนมีปัญหาเกิดขึ้นตลอดเวลา เราต้องเรียนรู้ที่จะแก้ไขเรื่องที่คาใจนั้นๆ ให้ได้ออกไปเสียก่อน
10 วัน สำหรับพระใหม่จากกรุงเทพทั้ง 3 รูป ที่ได้มาปฎิบัติและศึกษาพระธรรมที่วัดป่าก็จบลง ย้อนไปเมื่อวันแรกที่มาถึง ความคิดที่ว่าจะอยู่ได้ไหมจะรอดหรือเปล่าผุดขึ้นมาในหัวเป็นระยะๆ น่าแปลกที่ในแต่ละวันความกลัวความกังวลเหล่านี้กลับค่อยๆ หมดไปจนแทบไม่เหลือ ความกลัวสอนให้รู้จักพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าอย่างละเอียด ทุกย่างก้าวต้องคอยระวัง ทุกเสียงที่ได้ยินตอนกลางคืนก็ต้องพิจารณาและบังคับจิตไม่ให้คิดฟุ้ง ถึงจะมาด้วยกันแต่พระแต่ละรูปก็จะต้องแยกกันอยู่ นั่นจึงเป็นโอกาสได้ใช้เวลาฝึกใจตัวเองเมื่อต้องอยู่คนเดียวด้วยการสวดมนต์ ภาวนา การฝึกสมาธิกับลมหายใจเข้าออก การฝึกใจให้รู้ตัวกับปัจจุบันขณะ กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ถ้าเราฝึกรู้ตัวสม่ำเสมอ เราก็จะสามารถควบคุมการกระทำ ระวังเหตุระวังผลได้อย่างละเอียดทุกขณะจิต นั่นคือการมีสตินั่นเองครับ
กลับจากวัดป่า ก็มาปฎิบัติธรรมต่อที่วัดราชบพิธ หนึ่งในพระวินัยที่เป็นกิจวัตรที่พระสงฆ์พึงปฎิบัติ นอกจากจะเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาทางตรงแล้ว การใส่บาตรยังเป็นการขัดเกลาไม่ให้เราเป็นคนตระหนี่ และรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทางอ้อมอีกด้วย พระสงฆ์เองเมื่อได้รับบาตรแล้วก็ย่อมเกิดจิตสำนึกรับผิดชอบในการเรียนรู้ และตั้งใจปฎิบัติให้สมกับที่มีคนเคารพศัทธา ในวันที่ออกบิณฑบาตวันแรก ทั้งญาติและกัลยาณมิตรต่างตื่นเช้ามารอใส่บาตรกันจนแน่นขนัด ตลอดเส้นทางที่ออกเดินรับบาตรได้เห็นผู้คนที่ไม่เคยรู้จัก ทั้งผู้ใหญ่และเด็กที่ออกมายืนรอ บางคนยกมือไหว้ บางคนก้มลงกราบ หลังจากที่ได้ใส่อาหารที่ตั้งใจนำมาถวายลงในบาตรด้วยความเต็มใจ วัฒนธรรมแบบนี้มีแต่ชาวพุทธที่เข้าใจและถือปฎิบัติมานาน นี่ยังเป็นเครื่องพิสูจน์ความศัทธาในพุทธศาสนาของเราได้อีกด้วย ผมยินดีที่ได้เห็นว่ายังมีคนออกมาไม่น้อย โดยเฉพาะเด็กๆที่ติดสอยห้อยตามผู้หลักผู้ใหญ่มาใสบาตรทุกเช้า ทำให้ใจชื้นว่าวัฒนธรรมนี้คงจะยังไม่หายไปซะทีเดียว แม้จะมีเหตุการณ์ที่ทำให้พากันเสื่อมศัทธากันไปเยอะในสมัยนี้ก็ตาม
15 กุมภาพันธ์ ได้เวลาลาสิกขา รวมเวลาบวชทั้งหมด 32 วัน ผมได้เรียนรู้หลักธรรมและการนำไปปรับใช้ในชีวิตปกติมากมาย ทั้งในชีวิตส่วนตัว การงาน เกิดเป็นมนุษย์ยังคงมี รัก โลภ โกรธ หลง เพียงแต่เราจะสามารถใช้หลักธรรม มาระงับให้สิ่งที่ว่ามานั้นลดน้อยลงได้อย่างไร คงต้องฝึกต้องเรียนรู้กันไป ณ โอกาสนี้ผมขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านนะครับ
ศาสนาพุทธสอนอะไรหลายๆอย่าง เช่นเดียวกับที่คุณดุ๊กได้ใช้เวลา 32 วันในเส้นทางแห่งธรรม ก็ทำให้เขาประทับใจและได้รู้ถึงแก่นแท้ของชีวิตอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : kaijeaw.com