เทคนิคการทำ “ต้มไก่บ้าน” สูตรโบราณ ทำอย่างไรให้น้ำซุปอร่อย สร้างรายได้กำไรงาม
เปิดตำรากี่เล่มก็คงไม่เหมือนได้ลงมือทำเอง การดูตำราเหมือนชี้นำแนวทางเมื่อรู้แล้วควรทำตามอย่างเข้าใจ เข้าใจในที่นี้คือเข้าใจว่าทำไมต้องใช้ส่วนผสมนี้ ไม่ใช่แค่ทำๆไปเพราะตำราเขาบอกมา
คนโบราณเขาจะมีเคล็ดลับการทำต้มไก่ให้อร่อยโดยมีตัวช่วย ที่นอกจากไก่บ้านเนื้อนุ่มกินอร่อยแบบฟินๆแล้ว ต้องมีเคล็ดลับคือทำน้ำซุปให้อร่อย แบบซดแล้วโล่งคอ อยากรู้แล้วใช่ไหมว่าอะไร??
มีหลายสูตรนะส่วนใหญ่ที่เราเห็นก็จะเป็นใบมะขามอ่อน จะได้รสออกเปรี้ยวหน่อยๆแบบไม่พึ่งมะนาว แต่หากโบราณจริงๆก็ใส่ “ใบกัญชา” จะทำให้น้ำซุปเกิดความอร่อยล้ำ ใครทานแล้วติดใจ ซดน้ำซุปจนหมดชาม แต่พอผ่านไปสักพักคอจะเริ่มแห้งเหมือนกินผงชูรส แต่ไม่แนะนำนะค่ะ เพราะสูตรนี้อันตรายต่อสุขภาพมากๆ
และอีกสูตรคือใส่ใบหม่อน หลายๆท่านอาจจะยังไม่เคยได้ยิน แต่เมนู ต้มไก่บ้านใส่ใบหม่อนนั้นมีสารอาหารเยอะเป็นอีกเมนูสุขภาพ ทั้งแร่ธาตุ และวิตามิน ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายโดยรวมสูงกว่าใบชา อาทิ แคลเซียม โปแตสเซียม โซเดียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี วิตามินเอ วิตามินบี อีกทั้งยังมี กรดอะมิโน ที่จำเป็นต่อร่างกายครบทุกชนิด ชาวอีสานได้ใช้ใบหม่อนปรุงอาหารแทนผงชูรส และเป็นส่วนประกอบของอาหารพื้นบ้านได้หลายชนิด
ส่วนสูตรก็ตามนี้เลย วิธีการทำต้มไก่บ้านใส่ใบหม่อนเครื่องปรุง
– ไก่บ้าน 1 ตัว
– ใบมะกรูดฉีก 4 – 5 ใบ
– น้ำปลา 2 – 3 ช้อนโต๊ะ
– น้ำเปล่า เหมาะสมหรือน้ำท้วมตัวไก่
– พริก 10 เม็ด
– มะขามเปลือก
– ผักชี 1 ต้น
– ตะไคร้ 1 ต้น
– ข่า 1 แง่ง
– ผงชูรส
– เกลือ
– ที่ขาดไม่ได้คือ ใบหม่อน แต่ต้องเป็นยอดอ่อนของต้นหม่อนนะจ๊ะ
วิธีขั้นตอนการทำ
1. นำหม้อใส่น้ำมาตั้งไฟพอประมาณหรืออาจจะไฟที่เเรงก็ได้
2. ใส่ มะขามเปลือก ใบหม่อน ข่า ตะไคร้ พริก ใบมะกรูด ลงในหม้อ
3. เมื่อน้ำในหม้อเดือดแล้วก็นำไก่ที่เตรียมไว้เทลงในหม้อ แล้วทิ้งไว้
4. ใส่เครื่องปรุงที่เหลือลงไปในหม้อ
5. พอปรุงทุอย่างลงในหม้อเสร็จแล้วก็ทิ้งไว้จนไก่สุกแล้วตักใส่ชาม เพื่อรับประทาน
เกร็ดความรู้ สรรพคุณของหม่อน
1. ผลสุกมีรสหวานอมเปรี้ยว สามารถนำมารับประทานได้
2. ผลหม่อนมีสาร Anthocyanins ในปริมาณมาก (เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคมะเร็ง ช่วยต่อต้านอาการขาดเลือดในสมอง ฯลฯ) และยังมีสารสำคัญอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่น สาร Deoxynojirimycin (ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด), กาบา (ช่วยลดความดันโลหิต), สาร Phytosterol (ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล), สาร Polyphenols (สารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์กับร่างกาย), สารประกอบฟีนอล (สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต่อต้านอาการอักเสบ อาการเส้นเลือดโป่งพอง ช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัส), สาร Quercetin และสาร Kaempferol ซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (เป็นสารที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิต ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด ช่วยป้องกันการดูดซึมของน้ำตาลในลำไส้เล็ก ช่วยทำให้หลอดเลือดแข็งแรง ทำให้เลือดหมุนเวียนดี ยับยั้งการเกิดสารก่อมะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ ช่วยยืดอายุเม็ดเลือดขาว และลดอาการแพ้ต่าง ๆ), และยังมีกรดโฟลิกสูง (ช่วยทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงเจริญได้เต็มที่ จึงช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง และยังช่วยทำให้เซลล์ประสาทไขสันหลังและเซลล์สมองเจริญเป็นปกติได้อีกด้วย) นอกจากนี้ยังมีวิตามินและแร่ธาตุ และกรดอะมิโนอีกหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก โพแทสเซียม แมกนีเซียม โซเดียม สังกะสี วิตามินเอ วิตามินบี เป็นต้น (เมื่อผลหม่อนมีระยะสุกเพิ่มขึ้น ปริมาณของสารออกฤทธิ์ดังกล่าวข้างต้นจะมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย)
3. ใบอ่อนและใบแก่สามารถนำมาทำเป็นชาเขียว ชาจีน หรือชาฝรั่งชงกับน้ำดื่มได้ โดยมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิตสูงได้ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันได้มีการแปรรูปใบหม่อนเป็นผลิตภัณฑ์ชา ทั้งชาเขียวและชาดำ ที่ใช้ชงกับน้ำดื่มเช้าและเย็น
4. ยอดอ่อนใช้รับประทานได้ โดยมักนำมาใช้ใส่ในแกงแทนการใช้ผงชูรส หรือใช้รับประทานเป็นอาหารต่างผัก ส่วนชาวอีสานจะนำไปใส่ต้มยำไก่ ต้มยำเป็ด มีรสเด็ดอย่าบอกใคร
5. ผลหม่อนสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น แยม เยลลี่ ข้าวเกรียบ ขนมพาย ไอศกรีม นำมาแช่อิ่ม ทำแห้ง ลูกอมหม่อน ทำน้ำหม่อน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทไวน์ หรือไวน์หม่อน เป็นต้น
6. ใบหม่อนเป็นพืชอาหารที่วิเศษสุดสำหรับตัวไหม หนอนไหมที่เจริญเติบโตเต็มที่จะนำโปรตีนที่ได้จากใบหม่อนไปสร้างเป็นโปรตีนแล้วผลิตเป็นเส้นไหม ซึ่งเส้นไหม จะเป็นวัตถุดิบในการผลิตผ้าไหมที่มีความสวยงามได้อีกต่อหนึ่ง โดยใบหม่อนประมาณ 108-120 กิโลกรัม สามารถเปลี่ยนเป็นรังไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านได้ประมาณ 10-12 กิโลกรัม (ใบหม่อนมีโปรตีนประมาณ 18-28.8% ของน้ำหนักแห้ง, มีคาร์โบไฮเดรต 42.25%, ไขมัน 4.57%, ใยอาหารและเถ้า 24.03%,) นอกจากนี้ใบหม่อนยังสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสำหรับสัตว์เอื้องได้บางชนิด และนำไปใช้เลี้ยงปลาได้อีกด้วย และวัวควายที่กินใบหม่อนจะทำให้มีน้ำนมเพิ่มขึ้น
7. เนื้อไม้มีสีเหลือง เนื่องจากมีสาร Morin สามารถนำมาใช้ย้อมผ้าไหม ผ้าแพรได้
8. เยื่อจากเปลือกของลำต้นและกิ่งมีเส้นใย สามารถนำมาเป็นกระดาษได้สวยงาม เช่นเดียวกับกระดาษสา
9. ลำต้นและกิ่ง สามารถนำมาใช้เป็นไม้ในการสร้างผลิตภัณฑ์บางชนิดได้
10. นอกจากนี้เรายังสามารถนำต้นหม่อนมาใช้ในการปลูกเพื่อจัดและประดับสวนเพื่อให้มีภูมิทัศน์ที่ดีได้ เมื่อแตกกิ่งใหม่ กิ่งจะย่อยห้อยลงตามแรงโน้มถ่วง ไม่ได้ตั้งตรงขึ้นไปเช่นพันธุ์ไม้อื่น ทำให้ดูเป็นพุ่มสวยงาม และต้นหม่อนยังทนต่อการตัดแต่ง หลังการตัดแต่งแล้วจะมีการแตกกิ่งและเจริญเติบโตเร็ว
เห็นวิธีตามโบราณแล้วนะคะ เพื่อนๆคนไหนมีเวลาว่างๆ อย่าลืมนำเอาเคล็ดลับนี้ไปใช้รับรองได้เลยว่าสามีรับประทานต้องติใจ ลูกทานต้องขอตักเพิ่มแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลจาก : samunpraibann