ควรรู้ไว้! เป็นตะคริวตอนกลางคืน ปวดน่องเวลาเดิน อย่าชะล่าใจ เพราะอาจป่วยเป็นโรคนี้
ปัญหาสุขภาพ เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราควรดูแลและใส่ใจ เรื่องบางเรื่องที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเราเราอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ เดี๋ยวก็หาย แต่หารู้ไม่! ว่าสิ่งเหล่านี้ อาจจะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา
คราวหนึ่งขณะเดินออกกำลังที่สวนสุขภาพแห่งหนึ่ง เจอคุณตาอายุ 75 ปีท่านหนึ่งมาเล่าว่า มีอาการเป็นตะคริวที่ขาตอนดึกแทบทุกคืน และเวลาเดินไปได้สักทุก 20-30 เมตร จะรู้สึกปวดน่องจนต้องหยุดพักสักครู่จึงหายปวดและเดินต่อได้
คุณตามีประวัติเป็นความดันโลหิตสูงเล็กน้อย และระดับน้ำตาลในเลือดสูงเล็กน้อยพยายามควบคุมอาหารและออกกำลัง รวมทั้งกินสมุนไพรไม่ได้ไปพบแพทย์และไม่ได้กินยารักษา นานๆ จึงจะไปขอตรวจเช็คที่โรงพยาบาลสักครั้ง
ผมฟังแล้วก็คิดว่าคุณตาน่าจะมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและตีบ เพราะมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ
กลางคืนและปวดน่องเวลาเดินบ่งชี้ว่า หลอดเลือดแดงที่ขาแข็งและตีบทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อขาดลง เวลาตกดึกอากาศเย็นยิ่งทำให้หลอดเลือดตีบ เลือดไหลเวียนน้อยลงกระตุ้นให้เกิดตะคริวได้
ส่วนอาการปวดน่องเวลาเดิน ก็เกิดจากขณะเดินกล้ามเนื้อขาต้องการให้มีเลือดนำออกซิเจนไปเลี้ยงมากขึ้น เพื่อการเผาผลาญให้เกิดพลังงานในการเคลื่อนไหว แต่เนื่องจากหลอดเลือดแดงที่ขาตีบจึงมีเลือดไปเลี้ยงไม่พอ กล้ามเนื้อขาขาดเลือด ทำให้เกิดอาการปวดน่องพอหยุดพัก ความต้องการออกซิเจนจากเลือดที่ไหลไปเลี้ยงลดลง อาการปวดน่องจึงทุเลาลง
ผมจึงอธิบายให้คุณตาฟัง และแนะนำให้ไปตรวจเช็คดูว่า มีการตีบของหลอดเลือดหัวใจร่วมด้วยหรือไม่ เพราะภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและตีบมักเกิดขึ้นทั่วทั้งร่างกาย เพียงแต่ส่วนไหนเป็นมากก็จะแสดงอาการออกมาให้เห็นก่อน
อีก 1 ปีต่อมา ก็ทราบข่าวว่า คุณตาซึ่งไม่ได้ไปหาหมอตามที่แนะนำได้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจแบบกะทันหัน แม้ว่าลูกหลานจะนำส่งโรงพยาบาล แต่ก็ไม่อาจช่วยแก้ไขได้
ข้อพึงระวัง
1. ระบบหลอดเลือดแดง
เมื่อมีความเสื่อมเกิดขึ้น โดยมีตะกรันไขมันไปเกาะที่ภายในผนังหลอดเลือด ซึ่งค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นทีละน้อย กินเวลา 5-10 ปี ก็จะกลายเป็นภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและตีบ เลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญๆ ไม่พอ ทำให้เกิดอาการไม่สบายต่างๆ (ดูตารางที่ 2)
อวัยวะไหนได้รับผลกระทบมาก ก็จะแสดงอาการของอวัยวะส่วนนั้นก่อน เช่น หลอดเลือดขาตีบก็จะมีอาการตะคริวกลางคืน ปวดน่องเวลาเดิน หลอดเลือดองคชาตตีบก็จะเกิดภาวะนกเขาไม่ขัน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ภาวะเหล่านี้ก็บ่งชี้ว่าหลอดเลือดแดงส่วนอื่นๆ ก็มีความผิดปกติเกิดขึ้นเช่นกัน แต่ยังไม่มากถึงขั้นแสดงอาการผิดปกติให้เห็น จึงต้องทำการตรวจเช็คดูภาวะผิดปกติของอวัยวะที่สำคัญอื่นๆ เช่น หัวใจ สมอง ตา ไต เพื่อหาทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายร้ายแรงตามมา
2. เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง
ต้องหาทางลดละพฤติกรรมเสี่ยง (เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ความเครียด การขาดการออกกำลังกาย) และควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน)จะได้ช่วยชะลอหรือป้องกันการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ตลอดจนต้องทำการตรวจเช็คภาวะผิดปกติที่ซ่อนเร้นอยู่ เช่น ตรวจจอประสาทตา ตรวจดูอาการขาที่เท้า ตรวจคลื่นหัวใจ ตรวจเลือด เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : thaiprint