อย่าเพิ่งทิ้ง!! เม็ดมะขาม ขายได้ กิโลละ 5,000-12,000 บาท (อ่านรายละเอียด)
หลายคนไม่รู้ มะขามที่เรากินนั้น เม็ดของมันที่เหลือทิ้งสามารถนำมาขายสร้างรายได้ดีเลยทีเดียว จากการแปรรูปและบริโภคราคา กิโลกรัมละ 2-3 บาท เมื่อนำมาวิจัยต่อยอดแล้วจะสามารถเพิ่มมูลค่าขึ้นไปเป็นในราคา 5,000-12,000 บาท
“ส่วนตัวชอบงานวิจัยเกี่ยวกับคาร์โบไฮเดรตและแป้งอยู่แล้ว เลยมองไปที่เม็ดมะขามที่เหลือทิ้งมากมายไม่เคยนำมาใช้ประโยชน์อะไรที่มีมากถึงปีละ 150-200 ตัน เพราะในเม็ดมะขามมีแป้ง ได้เริ่มงานวิจัยชิ้นนี้มาเมื่อปี 2556 ด้วยทุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ บ.มะขามปิ่นเพชร จนกระทั่งปี 2558 จึงได้สารสกัดที่นำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย”
รศ.ดร.วุฒิชัย นาครักษา ประจำภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เล่าถึงที่มาของการเพิ่มมูลค่าเม็ดมะขาม เริ่มจากนำเม็ดมะขามมากะเทาะเปลือก นำเนื้อในที่ได้มาบดให้ละเอียดสกัดด้วยเทคโนโลยีเฉพาะโดยแอลกอฮอล์ 10-20 นาที
จากนั้นนำมาอบเพื่อให้ได้ “เจลโรส” หรือ สารเฮมิเซลลูโลส (แป้งเซลลูโลสไม่สมบูรณ์พบเฉพาะในพืช) ที่มีการซื้อขายกันในราคา กก.ละ 5,000-12,000 บาท
เพราะมีคุณสมบัติทนต่อความร้อน กรด อุ้มน้ำได้สูง และต้านแรงเฉือนได้ดี ประกอบด้วยน้ำตาล และเส้นใยอาหารหลายชนิด มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ทำลายพยาธิ…เม็ดมะขาม 1 กก. สามารถสกัดได้เจลโรส 50-60%และประเดิมนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกับเอกชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ไอศกรีมเจลาโต้ (ไอศกรีมไขมันต่ำ ละลายช้า)…รสมะขาม
นำเจลโรสมาผสมในไอศกรีมแทนไขมัน เพื่อสร้างความข้นหนืด คงตัวและละลายช้า ทดแทนบีมกัมหรือสารสกัดจากถั่วนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ไอศกรีมเจลาโต้สไตล์อิตาเลียน ขนาด 100 กรัม ราคา 85 บาท ลดลงมาเหลือ 20 บาท จนคว้ารางวัลรองชนะเลิศจากการประกวดสุดยอดนวัตกรรมอาหารไทย ประจำปี 2559 จากกระทรวงอุตสาหกรรม
ส่วนเทคโนโลยีสกัด “เจลโรส” จากเม็ดมะขาม…ได้รับรางวัลเครื่องอิสริยาภรณ์ (ชั้นอัศวิน) จากประเทศเบลเยียม รางวัลเหรียญทอง ในฐานะนักวิจัยดีเด่น จาก The President of the International Jury และเหรียญรางวัลพิเศษ จาก The President of Euro business Haller and Haller Pro Inventio Foundation ประเทศโปแลนด์ ในงาน Brussels Innova 2015
เพราะเจลโรสไม่ได้มีคุณสมบัติแค่นำไปเป็นส่วนผสมในไอศกรีมเจลาโต้เท่านั้น…ยังสามารถนำไปใช้ในอาหารอื่นๆ อาทิ น้ำสลัด มายองเนส บะหมี่ สตูว์ เยลลี่
รวมไปถึงใช้ในอุตสาหกรรมสี กระดาษ ฟิล์มเคลือบยืดอายุผลไม้ส่งออกต่างประเทศ เครื่องสำอาง ผลิตน้ำตาเทียม ไม่เว้นแม้กระทั่งฟิล์มปิดแผลผสมไคโตซานที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี จึงเหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างยิ่ง
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐ