“ปลัดจ่าง” แม้ร่างสิ้น แต่วิญญาณยังคงอยู่ !! สู่ตำนาน “เจ้าพ่อเขาใหญ่” ที่ปกป้องผืนป่ามาทั้งชีวิต!!

0

“ปลัดจ่าง” แม้ร่างสิ้น แต่วิญญาณยังคงอยู่ !! สู่ตำนาน “เจ้าพ่อเขาใหญ่” ที่ปกป้องผืนป่ามาทั้งชีวิต!!

ย้อนไปในอดีต เมื่อราษฎรบ้านท่าชัย และบ้านท่าด่าน จังหวัดนครนายก ได้พากันขึ้นไปถากถางป่าปลูกข้าว ปลูกพริก ไม้ผล และปลูกบ้านเรือนอยู่บนยอดเขา ประมาณ ๓๐ หลังคาเรือน จนเกิดเป็นชุมชนเล็ก ๆ ขึ้นมา และต่อมาทางการได้ยกฐานะขึ้นเป็นตำบลเขาใหญ่ ขึ้นกับอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก นั้น

ในสมัยนั้น ปลัดจ่าง นิสัยสัตย์ ชาวอำเภอเขานางบวช จังหวัดนครนายก มาดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกองทัพ ดูแลหัวเมืองด้านทิศบูรพา ได้แก่ ปราจีนบุรี นครนายก เป็นต้น ท่านเคยผ่านสมรภูมิศึกสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านมาอย่างโชกโชน ท่านมีบุคลิกที่สง่างาม สมชายชาตินักรบ เมื่อเสร็จศึกสงคราม ท่านมักออกเยี่ยมเยือนนักรบไทย ลูกหลานของท่านเสมอ

ครั้งหนึ่ง ท่านได้ทราบข่าวว่า ลูกน้องของท่านไปตั้งตัวเป็นโจรอยู่บนเขาใหญ่ และเห็นลูกน้องถากถางป่าบนเขาใหญ่จนเตียนโล่ง ท่านก็เกิดความเสียใจ ท่านมีความสามารถในการปราบปรามโจรผู้ร้าย และรู้จักภูมิประเทศในแถบนี้เป็นอย่างดี มีความชำนาญในการใช้ปืนบนหลังม้า

เมื่อท่านเกษียณอายุราชการ ทางการจึงขอความร่วมมือให้ท่านช่วยเหลือราชการบ้านเมืองอีกครั้ง ในการทลายซ่องโจรบนเขาใหญ่ ซึ่งมีอยู่ ๕ ก๊กสำคัญด้วยกัน ได้แก่ เสือจัน เสือไทร เสือบุญมี เสือสำอาง และเสือสองพี่น้อง คือเสือเย็น กับเสือหล้า แต่ก็มีกลุ่มโจรกลุ่มหนึ่งไม่ยอมเชื่อ ท่านจึงนัดกลุ่มโจรเพื่อเจรจา ณ ป่าหญ้าคา ใกล้หนองขิง แต่ตกลงกันไม่ได้ จึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น ปรากฏว่าหัวหน้าโจรกลุ่มนั้นถูกจับตาย และท่านได้ชักชวนชาวบ้านที่บุกรุกพื้นที่ลงจากเขาใหญ่

ท่านปลัดจ่าง เป็นผู้มีวิธีการที่แยบยล จนทำให้เสือก๊กต่าง ๆ ยอมรับนับถือและปฏิบัติตาม เลิกราเป็นโจร กลับลงมายังพื้นราบ มีอยู่ครั้งหนึ่ง โจรสองพี่น้อง เพียงพอพบหน้าท่านครั้งแรกเท่านั้น ก็ลงจากหลังม้ามากราบ แล้วพูดคุยกับท่าน ถึงกับยอมบวชเรียน และต่อมามีอาชีพเป็นครู

นับว่าท่านปลัดจ่าง เป็นบุคคลที่มีคุณค่าต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง ในช่วง กรุงรัตนโกสินทร์ ท่านได้รับแต่งตั้งจากทางราชการให้เป็นผู้เก็บค่ารัชชูปกรณ์(ส่วย) ในพื้นที่นครนายก เนื่องจากขณะนั้นเมืองนครนายก เก็บค่าส่วยส่งหลวงน้อยลงทุกปี เพื่อให้เก็บส่วยได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทางราชการจึงสรรหาบุคคลที่จะมาทำหน้าที่นี้

ด้วยเหตุนี้ท่านปลัดจ่าง จึงได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ดังกล่าว เพราะท่านเป็นผู้มีฝีมือ มีความซื่อสัตย์ มีจิตใจโอบอ้อมอารี กอร์ปกับท่านเชี่ยวชาญในการรบ เคยออกปฏิบัติหน้าที่เก็บส่วยกับทางราชการ ท่านจึงมีม้าเป็นพาหนะ แต่งกายด้วยชุดสีแดง มีปืนและดาบเป็นอาวุธประจำกาย

ต่อมา ท่านได้สิ้นชีวิตลงด้วยพิษไข้ป่า ด้วยวัย ๗๕ ปี ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันตั้งศาลเพียงตาไว้ที่ใต้ต้นกระบกใหญ่บนเขา ใกล้โรงเรียนวัดหนองเคี่ยม จังหวัดนครนายก โดยเรียกศาลนั้นว่า ศาลเจ้าพ่อปลัดจ่าง

ต่อมา หลังรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีการจัดตั้งป่าเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติ ได้เกิดนิมิต ถึงเจ้าผู้คุ้มครองสรรพสัตว์ และผืนป่า จึงได้มีการจัดตั้งศาลเจ้าพ่อขึ้นบริเวณกิโลเมตรที่ ๒๓ ถนนธนะรัชต์ และได้อัญเชิญดวงวิญญาณของท่านมาสิงสถิตไว้ และขนานนามว่า “ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่” ถือว่าท่านเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ ทุกปี ในวันที่ ๒๖ มกราคม จะมีการบวงสรวง ระลึกถึงพระคุณท่าน โดยเลือกเอาวันที่อัญเชิญดวงวิญญาณท่าน มาอยู่ที่ศาลใหม่

นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวบนเขาใหญ่ มักจะแวะกราบไหว้อธิษฐาน ขอให้เดินทางโดยปลอดภัยและขอโชคลาภจากท่านอยู่เสมอ และมักจะสมความปรารถนา หรือใครเดินทางผ่านศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ ก็มักจะบีบแตร ทำความเคารพท่านทุกครั้ง ถิ่นสถิตของเจ้าพ่อเขาใหญ่ ก็มีอยู่ทั่วไปในบริเวณป่าเขาใหญ่ทั้งหมด และเจ้าหน้าที่รักษาป่า ตลอดจนผู้ที่ปฏิบัติงานในบริเวณนั้น ก็มักจะมากราบบูชา บนบานศาลกล่าวต่อเจ้าพ่อเขาใหญ่องค์นี้เสมอ

ขอขอบคุณ : khaosaan

แสดงความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่