แชร์เก็บไว้เลย!! วิธีส่งผัก-ผลไม้ ไปขายในห้างสรรพสินค้า
ปลูกผัก-ผลไม้ยังไง ถึงจะขายส่งห้างสรรพสินค้าได้?
เชื่อว่าเกษตรกรหลายๆท่านคงอยากจะปลูกผักผลไม้เพื่อส่งไปขายให้ห้างสรรพสินค้าชื่อดัง แต่ไม่รู้วิธีว่าจะต้องทำยังไง ซึ่งคงต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้ระบบการตลาดของห้างสรรพสินค้ามีอิทธิพลกับผู้บริโภคมาก เพราะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เกือบทุกระดับเลยก็ว่าได้ แถมเครือข่ายก็มาก ทำให้สินค้าที่วางขายจำหน่ายได้มากเป็นเงาตามตัว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ผลิตในปัจจุบันจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ ประมาณว่าใครๆ ก็อยากค้าขายด้วยว่างั้นเถอะ
วิธีและขั้นตอนนั้นเพื่อนๆ สามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายจัดซื้อของห้างสรรพสินค้านั้นๆ ซึ่งแต่ละที่มีเงื่อนไขไม่เหมือนกัน ถึงแม้ว่าหลักการจะคล้ายกันก็ตามที สามารถสอบถามเบอร์ติดต่อจากสาขาไหนก็ได้ไม่ยาก แต่มันจะยากตอนคุยและทำให้ผ่านกฎเกณฑ์ของเขานี่แหละ เรื่องการนำเสนอสินค้าขึ้นห้าง ก่อนอื่น คุณต้องนำสินค้านั้นขึ้นนำเสนอต่อห้างก่อน โดยติดต่อไปที่แผนกจัดซื้อ ถ้าลักษณะของสินค้านั้นไม่ได้เป็นที่รู้จัก จำเป็นที่จะต้องมีพนักงานขายของเราเองเป็นผู้เชียร์สินค้า ยกตัวอย่าง เช่นผลไม้จำเป็นต้องมีพนักงานของตัวเองนะคะ หรือแม้แต่อาหารการกินต่าง ๆ
ส่วนเงื่อนไขก็มักจะคล้ายๆ กัน เช่น
1. ราคาต้องได้ตามที่กำหนด เพราะซื้อจำนวนเยอะเลยมีกำลังต่อรองกับผู้ผลิต ถูกไปก็อาจจะไม่รับหรือราคาแพงไปก็ไม่รับอีกเช่นกัน เพราะแต่ละห้างจะมีเหตุผลเรื่องราคาแตกต่างกัน เช่น ห้างสรรพสินค้าสาขาใหญ่ต้องการสินค้าคุณภาพดี ราคาปานกลาง ส่วนห้างสรรพสินค้าย่อยต้องการสินค้าแบบคุณภาพปานกลาง ราคาถูกแบบนี้เป็นต้น ต้องคาดเดาจุดประสงค์ทางการตลาดให้ถูก
2. คุณภาพต้องได้มาตรฐาน ซึ่งส่วนใหญ่ปัจจุบันนิยมผักปลอดสารพิษหรือสินค้าปลอดสารพิษสำหรับสินค้าสดหรือสินค้าด้านการเกษตรยิ่งต้องปลอดสารพิษเข้าไปใหญ่
3. ต้องเป็นผู้ผลิตเองเท่านั้น เพราะจะมีการตรวจสถานที่ผลิตด้วย ผู้ที่เป็นนายหน้าหรือพ่อค้าคนกลางคงจะหมดสิทธิ์
4. ปริมาณต้องได้ตามที่กำหนด ในแต่ละรอบการส่งสินค้า ห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่จะมีจำนวนการสั่งซื้อในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก เพราะมีสาขามาก ทำให้ต้องการสินค้าจำนวนมากเพื่อจัดส่งให้ได้อย่างทั่วถึงทุกสาขา ซึ่งจะมีบทกำกับในเรื่องของการผิดสัญญาหรือผิดนัดคือการปรับค่าเสียหายค่าเสียโอกาสทางธุรกิจ
5. เงื่อนไขการรับคืนสินค้าหรือการกำจัดสินค้าสดที่หมดอายุแล้ว ตามประสบการณ์ที่พบเจอมากับตัวเองนั้น (ถึงแม้ว่าสินค้าจะไม่ใช่ประเภทผักก็ตามที) เกือบจะทุกห้างจะไม่รับผิดชอบกับสินค้าที่ขายไม่ออก ลักษณะคือการฝากขายสินค้าไม่ใช่การซื้อขาดส่วนที่เหลือขายไม่ได้ก็ต้องเก็บคืนโดยเฉพาะสินค้าสดนั้นน่าเป็นห่วงที่สุดเพราะระบบการเก็บคืนยุ่งยากที่สุด
จะเห็นได้ว่า ตลาดห้างสรรพสินค้าที่หลายคนอยากจะก้าวเข้าไปนั้น ต้องบอกว่าไม่ง่ายเลย เพราะส่วนใหญ่ห้างแต่ละแห่งจะมีผู้ค้ารายเดิมหรือที่เรียกว่าซัพพลายเออร์ที่ค้าขายกับห้างมานานครองส่วนแบ่งตลาดอยู่แล้ว ผู้ค้าหน้าใหม่ที่จะเข้าไปแทรกตัวนั้นไม่ง่ายเลย เพราะซัพพลายเออร์รายเดิมจะไม่ให้คุณเข้าไปแชร์ส่วนแบ่งตลาดเขาได้ง่ายๆ การเข้าไปเป็นผู้ค้าหรือซัพพลายเออร์หน้าใหม่ของห้างนั้นต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ที่สำคัญต้องมีเงินนอนในกระเป๋าก้อนโตเพราะการค้ากับห้างกว่าจะได้เงินต้องใช้เวลานานกว่า 15-20 วัน เท่ากับว่าต้องส่งสินค้าเข้าไปก่อนประมาณ 15-20 วัน จึงจะได้รับเงิน จึงเป็นเรื่องยากที่ชาวสวนจะส่งห้างเอง
เพราะนอกจากเรื่องของเงินทุนแล้ว ยังต้องมีจุดแพ็คกิ้งสินค้าที่ดี ตรงตามข้อกำหนดของห้าง แปลงที่ปลูกเพื่อส่งผลผลิตเข้าห้างต้องผ่านมาตรฐาน อย่างน้อย ต้องมี GAP ค่ะ ซึ่งทางห้างจะมีการตรวจทั้งแปลงผลิตและจุดแพ็คกิ้งก่อนจะรับพิจารณาให้คุณเข้ามาเป็นผู้ส่งสินค้าหรือซัพพลายเออร์ นอกจากนี้คุณต้องมีสินค้าเพียงพอต่อการสั่งซื้อที่จะมีออร์เดอร์การสั่งซื้อทุกวัน ออร์เดอร์ในแต่ละวันของแต่ละห้างประมาณ 1 ตัน/ผู้ค้าหนึ่งรายเป็นอย่างน้อย บางช่วงออร์เดอร์จะมากถึง 3 ตันในหนึ่งวัน นั่นหมายความว่าคุณต้องมีผลผลิตที่จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุกวัน ฉะนั้นถ้าจะทำของส่งห้างได้คุณต้องมีหน้าร้านที่จะรองรับผลผลิตที่ไม่ใช่เกรดส่งห้างด้วยค่ะ
ถึงแม้ว่าจะยุ่งยากก็ตามทีแต่ก็ไม่เสียหลายที่น่าจะลองติดต่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะผ่านกฎเกณฑ์ต่างๆ ของห้างสรรพสินค้านั้นก็ได้ ซึ่งจะนำมาด้วยกำลังซื้อที่มหาศาล หรืออย่างน้อยก็ได้รับรู้ถึงกฎเกณฑ์มาตรฐานสากลเพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงวิธีการด้านการตลาด และการผลิตให้สอดคล้องกับตลาดในอนาคตได้
นี่ก็เป็นข้อมูลคร่าวๆในวิธีการจะส่งสินค้าของเราเพื่อจะไปขายในห้างสรรพสินค้า หวังว่าคงจะพอเป็นแนวทางในการหาตลาดหรือช่องทางเพื่อขายสินค้าของทุกท่านได้ ไม่น้อยก็มากนะครับ ขอให้เพื่อนๆ ร่ำรวยเงินทองและมีความสุขทุกๆท่าน
ขอขอบคุณ : สาระน่ารู้