น้ำแข็งก้อน สกปรก พอ ๆ กับน้ำชักโครก ?
น้ำแข็งก้อน ‘ใส’ ที่ไม่ ‘ใส’สะอาด
อากาศร้อนกับของเย็นๆ 2สิ่งนี้อาจต่างกันคนละขั้ว แต่ถ้ามองดี ๆ มันมักเป็นอะไรที่คู่กันจริงๆ ดูอย่างของกินทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นไอศกรีม น้ำหวานเย็นๆ น้ำแข็งใส ขนมหวานเย็น ล้วนแต่เป็นความเย็นที่หลายคนชื่นชอบกันมาก ยิ่งช่วงอากาศร้อนๆ สารพัดของกินที่มีน้ำแข็งเป็นตัวช่วยเพิ่มความเย็นดับร้อน แต่เรารู้หรือไม่ว่า น้ำแข็งที่คุณซื้อตามร้านค้าทั่วไปอาจมี สิ่งสกปรกที่พร้อมจะเข้าสู่ร่างกายของเราได้ทุกเมื่อ
รู้หรือไม่ว่าน้ำแข็งก้อนใสๆ ที่ดูสะอาดตา แท้จริงอาจปนเปื้อนด้วยสิ่งสกปรกและเชื้อโรคอีกมากมาย
รู้จักประเภทของน้องน้ำแข็ง
ในกระบวนการผลิตน้ำแข็งสามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ น้ำแข็งซอง และน้ำแข็งหลอด น้ำแข็งซอง คือ น้ำแข็งก้อนใหญ่ (ลองนึกถึงน้ำแข็งแกะสลักตามงานแต่งงาน แบบนั้นเลย) โดยผู้ผลิตจะนำน้ำแข็งประเภทนี้มาบดให้เป็นชิ้นเล็กๆ อย่างที่เราเรียกกันคุ้นหูในหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น น้ำแข็งทุบ น้ำแข็งบด หรือน้ำแข็งฝอย ส่วนน้ำแข็งหลอดหรือที่ได้ยินบ่อยๆ ว่าน้ำแข็งยูนิต ก็จะเป็นน้ำแข็งที่ผลิตออกมาเป็นหลอดสำเร็จรูป โดยส่วนใหญ่จะบรรจุใส่ในถุงพร้อมจำหน่าย
ช่องทางปนเปื้อนของน้ำแข็ง
หนทางการพบเจอกันระหว่างสารปนเปื้อนกับน้ำแข็งมีอยู่ 2 ช่องทางหลักๆ ดังนี้
1. ขั้นตอนการผลิต อาจเกิดการปนเปื้อนสารเคมีจำพวกน้ำมันเครื่อง หรือจาระบีจากเครื่องจักร หรืออาจ ได้รับเชื้อแบคทีเรีย หรือจุลินทรีย์จากอุปกรณ์ในการผลิต ที่ไม่ได้รับการดูแลทำความสะอาด อีกทั้งถุงพลาสติก ที่นำมาใช้ในการบรรจุอาจมีสิ่งสกปรกเจือปน รวมไปถึงสุขลักษณะของพนักงานที่ทำงานในขั้นตอนการผลิตที่ต้องมีการสัมผัสกับน้ำแข็งโดยตรง เช่น ระหว่างการบรรจุหรือการขนย้าย
2. ขั้นตอนการขนส่ง ในขั้นตอนนี้คงจะมีหลายคนที่เห็นจนชินตากับการไถน้ำแข็งก้อนใหญ่ๆ ไปกับพื้นบ้าง เห็นผ้าใบสีหม่นๆ ที่ถูกนำมาคลุมทับน้ำแข็งบ้าง คนงาน ส่งน้ำแข็งที่ตัวชื้นๆ จากน้ำแข็งและเหงื่อผสมกันทั้งยืนหรือนั่งทับน้ำแข็งระหว่างอยู่บนรถ บ้างก็ยก จับ และตักน้ำแข็งเพื่อส่งจนถึงมือเราหรือตามร้านค้าต่างๆ โดยที่เราไม่รู้เลยว่า ก่อนที่เขาจะหยิบจับน้ำแข็งให้เรานั้น มือของเขาสัมผัสกับอะไรมาแล้วบ้าง แล้วแบบนี้จะไม่ให้น้ำแข็งได้รับสิ่งสกปรกเข้าไปแบบเต็มๆ ได้อย่างไร
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงทำหน้าเบ้กับสิ่งสกปรกและสารปนเปื้อนต่างๆ ที่มีอยู่มากมายในน้ำแข็ง ครั้นจะห้ามใจตัวเองไม่ให้กินเลยก็พอจะเป็นไปได้ เพื่อเป็นหนทางในการแก้ปัญหา เรามีวิธีเลือกซื้อน้ำแข็ง รวมถึงของกินและเครื่องดื่มที่มีน้ำแข็งเป็นส่วนประกอบมา
ดูให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ
1. สภาพแวดล้อมของร้านค้าต้องสะอาดทั้งภายนอกและภายใน
2. ผู้ขายควรมีสุขลักษณะที่ดี มีความสะอาดทั้งเครื่องแต่งกาย และเล็บมือ รวมทั้งมีการสวมใส่ผ้ากันเปื้อน หมวกเก็บผม หรือถุงมือ เป็นต้น หากมีการตักหรือหยิบจับน้ำแข็งควรมีที่ตักหรือใส่ถุงมือ ไม่ควรใช้มือเปล่าสัมผัสน้ำแข็งโดยตรง
3. ภาชนะที่ใช้ใส่ของกินหรือเครื่องดื่มควรมีฝาครอบปิดมิดชิด
4. ภาชนะที่ใช้เก็บน้ำแข็งต้องสะอาด ไม่มีการปนเปื้อน น้ำแข็งที่นำมาใช้กินต้องไม่มีของหรืออาหารอื่นๆ มาวางแช่ไว้
5. กรณีซื้อน้ำแข็งก้อนใหญ่ต้องนำมาล้างน้ำให้สะอาดก่อนนำไปใช้และควรเก็บในภาชนะที่สะอาด แต่หากซื้อน้ำแข็งหลอดควรเลือกซื้อที่บรรจุอยู่ในถุงสะอาด ปิดมิดชิด มีรายละเอียดบนฉลากจำพวกเครื่องหมาย อย. ชื่อผลิตภัณฑ์ วันเดือนปี ที่ผลิต สถานที่ผลิต อย่างครบถ้วน
จากการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่าน้ำแข็งซองและน้ำแข็งหลอดมักมีการ ปนเปื้อนจากเชื้อโคลีฟอร์ม อีโคไล ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนมาจากสิ่งปฏิกูล และหากเชื้อโรคเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายของเราจนเติบโตแข็งแรงขึ้นจะสร้างสารพิษที่อันตรายแก่ร่างกาย ส่งผลให้มีอาการท้องเสียหรือมีอาการของโรคระบบทางเดินอาหาร น้ำแข็งที่สะอาด คือ น้ำแข็งที่ละลายแล้วไม่มีตะกอน หรือสิ่งสกปรกเจือปนอยู่ และถ้าอยากมั่นใจจริงๆ ก็ทำน้ำแข็งที่บ้านน่าจะสะอาดที่สุดครับ
ขอขอบคุณ : gmlive