ควรรู้ไว้! วิธีแก้ปวดฟันแบบทำเอง ได้ง่ายๆ ทำแล้วสบาย ไม่ต้องทรมานอีกต่อไป!
วิธีแก้ปวดฟัน บรรเทาอาการลงได้ง่ายๆ ด้วยตัวคุณเอง
เมื่อเกิดอาการปวดฟันแล้ว สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงก็คงเป็นวิธีแก้ปวดฟันที่ได้ผลและช่วยลดอาการปวดได้อย่างเร็วที่สุดก่อนที่จะไปพบแพทย์ ซึ่งอาการปวดฟันสามารถบรรเทาลงได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
1. ประคบร้อนบริเวณซีกแก้มที่เกิดอาการปวดฟันด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น หรือจะเป็นกระเป๋าน้ำร้อนที่ใส่น้ำอุ่นจัดก็แล้วแต่สะดวก
2. ผสมเกลือป่น 1 ช้อนชากับน้ำต้มสุก 1 แก้วกาแฟ คนจนเกลือละลายแล้วนำมาบ้วนปากนาน 30 วินาที เกลือจะช่วยลดอาการเหงือกบวมและลดการอักเสบได้
3. แช่ใบชาดำหรือชาเปปเปอร์มินต์กับน้ำร้อนนาน 20 นาที จากนั้นรอจนน้ำชาอุ่นๆ แล้วนำมาบ้วนปากสักพัก ใบชาเหล่านี้จะมีสรรพคุณลดอาการอักเสบและช่วยลดอาการเหงือกบวมจากฟันผุได้
4. บ้วนปากด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่มีความเข้มข้น 3% สักพัก ให้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุของอาการฟันผุ
5. หากอาการปวดฟันมีลักษณะปวดตุบ ๆ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อ ให้ประคบซีกแก้มที่เกิดอาการปวดฟันด้วยน้ำแข็งประมาณ 5-10 นาที ทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง ความเย็นจะช่วยลดอาการปวดและลดบวมลง
6. นวดกดจุดบรรเทาอาการปวดฟัน ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ชั่วคราว โดยมีวิธีดังนี้
– นวดคลึงเบา ๆ ที่แก้มบริเวณเหนือฟันที่ปวด จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ชั่วคราว
– ใช้น้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ กดและถู หรือหรือใช้มืออีกข้างนวดบริเวณง่ามมือระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ จะทำให้อาการปวดฟันทุเลาลง
– สำหรับคนที่ปวดบริเวณกรามล่าง ให้ใช้นิ้วหัวแม่มือนวดบริเวณกระดูกขากรรไกรที่รองรับฟันล่าง ส่วนคนที่ปวดบริเวณกรามบนให้วางนิ้วหัวแม่มือ ตรงบริเวณส่วนกลางของหู แล้วลากนิ้วไปทางด้านหน้า จนกระทั่งถึงรอยบุ๋มใต้กระดูกประมาณหนึ่งนิ้วบริเวณหน้าใบหู จากนั้นกดแรง ๆ ประมาณ 10 นาที
7. ใช้ยา โดยยาที่สามารถบรรเทาอาการปวดฟันได้มี 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
– ยาแก้ปวด
ยาแก้ปวดที่สามารถบรรเทาอาการปวดได้นั้นมีหลายชนิด โดยจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการปวด ซึ่งถ้าหากอาการไม่รุนแรงมากก็สามารถใช้ยาพาราเซตามอลได้ แต่ถ้าหากปวดในระดับปานกลางก็อาจจะต้องเปลี่ยนมาใช้ยาในกลุ่มออกฤทธิ์แก้ปวดอย่างแอสไพริน กรดมีเฟนนามิก ไอบูโพรเฟน เป็นต้น
– ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย (ยาแก้อักเสบ)
ยาในกลุ่มนี้จะถูกใช้ในกรณีที่มีอาการเหงือกบวมหรือเป็นหนองร่วมด้วย โดยยาที่ทันตแพทย์นิยมใช้ได้แก่ ยาอะม็อกซีซิลลิน ยากอีริโทรไมซิน หรือยาร็อกซีโทรไมซิน ซึ่งการใช้ยาจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของทันแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ เพราะฤทธิ์ของยาค่อนข้างรุนแรงและมักจะมีผู้ป่วยแพ้ยา โดยเฉพาะยาอะม็อกซีซิลลิน ดังนั้นก่อนนำยาแก้อักเสบมาใช้รักษาอาการปวดควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนจะดีที่สุด
สมุนไพรรักษาอาการปวดฟัน บรรเทาได้ด้วยของดีจากธรรมชาติ
นอกเหนือจากวิธีแก้ปวดฟันข้างต้นแล้ว การใช้สมุนไพรบางชนิดก็สามารถบรรเทาอาการปวดฟันลงได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งยังไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วย โดยสมุนไพรที่สามารถบรรเทาอาการปวดฟันได้มีดังนี้
1. กานพลู
ในวงการทันตกรรม กานพลูถือเป็นสมุนไพรที่ช่วยรักษาอาการปวดฟันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะน้ำมันจากดอกกานพลูที่มีฤทธิ์เป็นยาชาซึ่งทันตแพทย์บางคนนำมาใช้ทดแทนยาชาที่มีฤทธิ์รุนแรงเพื่อความปลอดภัยของคนไข้ อีกทั้งน้ำมันกานพลูยังช่วยฆ่าเชื้อโรคที่เกิดขึ้นภายในช่องปากอีกด้วย วิธีใช้ก็ไม่ยากเพียงนำสำลีพันปลายไม้ชุบน้ำมันกานพลูแล้วนำไปจิ้มไว้ตรงบริเวณฟันที่ปวดสักครู่ก็จะช่วยให้อาการบรรเทาลง แต่ถ้าหากไม่มีน้ำมันกานพลูละก็ สามารถนำกานพลูมาอมไว้บริเวณที่ปวด หรือนำไปทุบแช่กับเหล้าขาว จากนั้นนำสำลีชุบเหล้าขาวมาอุดไว้ที่ตรงที่ปวดได้เช่นกัน
2. ดาวเรือง
ดอกดาวเรืองที่เราคุ้นเคยชนิดนี้มีดีมากกว่าแค่เพียงไว้ใช้ประดับให้สวยงามเท่านั้น เพราะถ้าหากนำดอกแห้ง 7-8 ดอกไปต้มกับน้ำในปริมาณที่พอเหมาะแล้วจิบทั้งวัน ก็สามารถลดอาการปวดฟันได้โดยไม่ต้องพึ่งยาแก้ปวด อีกทั้งยังสามารถขับร้อนในร่างกายได้อีกด้วย
3. เมล็ดผักชี
เราอาจจะเคยได้ยินว่าการบ้วนปากด้วยน้ำเกลือบ่อย ๆ ลดอาการปวดฟันได้ นั่นเป็นเรื่องจริงค่ะ แต่ถ้าบ้วนบ่อยเกินไปอาจจะได้ผลเสียจากเกลือที่ผสมกับน้ำแทน เพราะในเกลือมีโซเดียมสูง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับสุขภาพ ฉะนั้นขอแนะนำให้ลองนำเมล็ดผักชีไปต้มกับน้ำ แล้วนำมาบ้วนปากบ่อย ๆ ไม่ต้องกลัวว่าจะได้รับโซเดียมมากเกินไป แถมยังบรรเทาอาการปวดฟันได้อีกด้วย
4. ผักบุ้งนา
ผักบุ้งนาที่เรานิยมนำมารับประทานเป็นผักเคียงกับอาหารอีสานจำพวกส้มตำ ก็ช่วยบรรเทาอาการแก้ปวดฟันได้เหมือนกัน โดยการนำรากของผักบุ้งนามาตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำส้มสายชูเล็กน้อย แล้วนำมาอมไว้ประมาณ 5 นาที บ้วนออก และบ้วนปากด้วยน้ำสะอาด จะรู้สึกได้เลยว่าอาการปวดฟันลดลง
5. มะระ
“หวานเป็นลม ขมเป็นยา” จะใช้คำนี้กับมะระก็คงไม่ผิด เพราะนอกจากมะระจะมีฤทธิ์เย็นช่วยขับร้อนแล้ว ก็ยังสามารถนำรากมาใช้รักษาอาการปวดฟันได้ แค่เพียงนำรากสดมาตำให้พอแหลกแล้วนำมาพอกบริเวณซี่ฟันที่ปวด ใช้ลิ้นกดไว้สักครู่ใหญ่ จากนั้นคายออก อาการปวดฟันที่กวนใจก็จะบรรเทาลง
6. ว่านหางจระเข้
ว่านหางจระเข้ สมุนไพรครอบจักรวาลที่สามารถรักษาอาการได้สารพัด ไม่เพียงแต่ช่วยสมานแผล หรือดับร้อนเพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถฆ่าเชื้อโรคและสลายพิษของเชื้อโรคได้ จึงไม่แปลกถ้าหากจะถูกนำมาใช้รักษาอาการปวดฟันเนื่องจากฟันผุ เพียงนำว่านหางจระเข้มาล้างยางออกให้หมด หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เหน็บไว้บริเวณซอกฟันซี่ที่ปวด หรือจะนำสำลีพันปลายไม้จุ่มน้ำวุ้นของว่านหางจระเข้มาป้ายบริเวณที่ปวดก็สามารถบรรเทาอาการปวดได้ชั่วคราว
7. น้ำมันกระเทียม
นอกจากกระเทียมสดจะมีประโยชน์มากมายแล้ว น้ำมันกระเทียมก็ยังช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้ชั่วคราวอีกด้วย แค่เพียงนำสำลีชุบกับน้ำมันกระเทียมแล้วทาบริเวณที่ปวดฟัน ทิ้งเอาไว้สักครู่อาการก็จะลดลง แต่วิธีนี้จะช่วยบรรเทาอาการได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น
8. ใบชา
ใบชามีคุณสมบัติที่ไม่ควรมองข้ามนั่นก็คือช่วยลดการอักเสบและลดอาการเหงือกบวม จึงเหมาะจะนำมาใช้บรรเทาอาการปวดฟันอย่างยิ่ง เพียงนำใบชาแห้งไปแช่ในน้ำร้อนประมาณ 20 นาที แล้วรอจนกว่าน้ำชาจะเริ่มอุ่น จากนั้นนำมาบ้วนปากบ่อย ๆ จะช่วยให้ปวดฟันลดน้อยลง แต่อย่าลืมบ้วนน้ำสะอาดตาม เพราะน้ำชาอาจทำให้เกิดคราบหินปูนได้
9. เมล็ดกุยช่าย
พืชผักที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างกุยช่าย ซึ่งต้องขอบอกว่าเมล็ดที่มาจากต้นกุยช่ายสามารถบรรเทาอาการปวดฟันจากฟันผุได้ โดยในแพทย์แผนจีนจะนำเมล็ดกุยช่ายมาคั่วให้เกรียมดำ แล้วนำมาทุบให้แหลก นำไปละลายในน้ำมันยาง นำสำลีชุบน้ำมันยางที่ผสมกับเมล็ดกุยช่ายบดมาอุดบริเวณที่ปวดฟันจากฟันผุ ทิ้งไว้ข้ามคืนก็จะบรรเทาอาการปวดฟันและช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของฟันผุได้
10. ข่อย
ใช้กิ่งสดของข่อยมาหั่นและต้มในน้ำเกลือ เคี่ยวให้งวดจนเหลือน้ำครึ่งเดียว และใช้น้ำต้มข่อยบ้วนปากเช้า-เย็น ข่อยจะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก ลดอาการปวดฟันได้อีกทาง
วิธีป้องกันอาการปวดฟัน
การดูแลสุขภาพช่องปากและฟันที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันการปวดฟัน ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้ฟันผุ (สาเหตุส่วนใหญ่ของการปวดฟัน) คือ
1. การแปรงฟันให้ถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรับประทานอาหารและขนมขบเคี้ยว
2. ควรใช้ไหมขัดฟัน (Dental floss silk) ขัดฟันวันละครั้ง
3. รับประทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล (คาร์โบไฮเดรต) ให้น้อยลง เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ผสมน้ำตาล
4. ควรไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยเป็นประจำทุก 6 เดือนเพื่อตรวจสุขภาพและทำความสะอาดฟัน
5. พยายามรับประทานอาหารเฉพาะมื้อหลักแทนการรับประทานอาหารว่างบ่อย ๆ
ขอขอบคุณ : tnews