9 วิธีใช้แอร์ ทำแบบนี้ประหยัดจริงๆ! ค่าไฟไม่พุ่ง แบบเย็นใจ สบายกระเป๋า

0

9 วิธีใช้แอร์ ทำแบบนี้ประหยัดจริงๆ! ค่าไฟไม่พุ่ง แบบเย็นใจ สบายกระเป๋า

1. ต้องประหยัดไฟเบอร์ 5

จากสถิติการใช้ไฟฟ้าหลาย ๆ ปีจะพบว่าช่วงเดือนเมษายนจะเป็นช่วงเวลาที่เมืองไทยใช้พลังงานไฟฟ้ามากที่สุดเสมอ เพราะเป็นช่วงเวลาที่เมืองไทยอากาศร้อนสุด ๆ สถิตินี้สะท้อนให้เห็นแล้วว่าเมืองไทยใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อสร้างความเย็นให้ที่อยู่อาศัยมากเป็นอันดับต้น ๆ การเลือกแอร์ที่ประหยัดไฟ จึงเป็นปัจจัยแรกที่ควรนึกถึงทุกครั้งที่เลือกซื้อ เป็นที่ทราบกันดีค่ะว่า ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เป็นระดับความประหยัดไฟฟ้าสูงที่สุดที่ออกโดยกระทรวงพลังงาน และจะมีตรากระทรวงประทับอยู่บนฉลากเสมอ แอร์ประหยัดไฟเบอร์ 5 จึงเป็นแอร์ที่ควรได้รับการพิจารณาเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเลือกซื้อแอร์ติดตั้งภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นแอร์แบบฝังในเพดาน แอร์ติดผนัง หรือแอร์เคลื่อนที่

2. ติดตั้งในตำแหน่งที่เหมาะสม

เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ สำหรับตำแหน่งการติดตั้งแอร์ เพราะหากอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้วจะสามารถลดค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนได้ ตำแหน่งที่เหมาะสมในการติดตั้งแอร์ FCU (ตัวเครื่องที่ติดตั้งภายในห้อง) ในบ้านมีดังนี้

บริเวณที่ติดตั้งสามารถกระจายลมได้ทั่วถึงทั้งห้อง ไม่มีสิ่งกีดขวาง และไม่ควรติดตั้งในมุมอับ หลีกเลี่ยงการติดตั้ง FCU ในบริเวณที่ใกล้กับประตู หน้าต่าง หรือพัดลมดูดอากาศเพราะจะทำให้อากาศเย็นภายใน ถูกความร้อนภายนอกไหลเข้ามาแทนที่ได้ง่าย

อย่าติดชิดผนังที่รับแดดจัด หรือทิศตะวันตก เพราะจะทำให้แอร์ทำงานหนัก ยิ่งเป็นห้องนอนที่ต้องอยู่อาศัยในช่วงเย็นด้วยแล้ว ยิ่งควรหลีกเลี่ยงตำแหน่งดังกล่าว

3. เลือกขนาดที่พอดีกับพื้นที่ภายในห้อง

อาจจะได้ยินกันมาบ้างสำหรับค่า BTU (British Thermal Unit) คือหน่วยวัดปริมาณความร้อน โดยในเครื่องปรับอากาศจะใช้หน่วยวัดพลังเป็น BTU/hr. (บีทียูต่อชั่วโมง) หรือจะเรียกง่าย ๆ ว่า BTU เทานั้น อาทิ เครื่องปรับอากาศขนาด 12,000 BTU/hr. หมายความว่าเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้สามารถดูดความร้อน BTU ภายในหนึ่งชั่วโมง เครื่องปรับอากาศแต่ละรุ่นจะมีค่า BTU ต่างกันเริ่มตั้งแต่ 9,000-80,000 BTU ซึ่งถือเป็นค่าสูงสุด การเลือกขนาด BTU ตามความเหมาะสม ควรเลือกตามขนาดของห้อง สามารถคำนวณโดยใช้สูตร

พื้นที่ห้อง x ค่า Cooling Load Estimation = ค่า BTU ที่เหมาะสม

ค่าประเมิน Cooling Load Estimation ที่เหมาะสมกับแต่ละห้อง

– ห้องนอน 700-750 BTU/ตารางเมตร

– ห้องนั่งเล่น 750-850 BTU/ตารางเมตร

– ห้องทานอาหาร 800-950 BTU/ตารางเมตร

– ห้องครัว 900-1000 BTUตารางเมตร

– ห้องทำงาน 800-900 BTU/ตารางเมตร

– ห้องประชุม 850-1000 BTU/ตารางเมตร

สูตรข้างต้นใช้คำนวณในกรณีที่ความสูงของเพดานที่สูงไม่เกิน 3 เมตรเท่านั้น หากห้องมีความสูงมากกว่าและมีปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มขึ้น อาทิ จำนวนผู้อยู่อาศัย เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือพื้นที่กระจกภายในห้อง จะต้องบวกค่า BTU เพิ่มด้วย หากเลือกขนาดของ BTU มากมาติดตั้งในห้องขนาดเล็กก็จะเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ

4. ตั้งอุณหภูมิให้พอเหมาะ

โดยทั่วไปแล้วเรามักจะเข้าใจว่าอุณหภูมิภายในห้อง ที่เหมาะต่อการอยู่อาศัยอยู่แล้วรู้สึกสบายนั้น จะอยู่ที่ 25-26 องศา หากเกินนี้จะรู้สึกร้อนเกินไป แต่หากเลือกเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 28-30 องศา แล้วเลือกเปิดพัดลมเพื่อเพิ่มความเร็วลมในห้อง เราจะยังรู้สึกเย็นสบายอยู่เช่นเดิมและช่วยประหยัดพลังงานได้มากเพราะเครื่องปรับอากาศจะทำงานเบาลง หากเป็นช่วงเวลานอนควรตั้งอุณหภูมิไว้ ไม่ต่ำกว่า 28 องศา เนื่องด้วยในช่วงเวลาที่เราหลับร่างกายจะไม่สามารถปรับอุณหภูมิตามสภาพอากาศได้จึงควรตั้งอุณหภูมิที่สูงไว้ เป็นการช่วยประหยัดพลังงานได้อีกทาง

5. เครื่องใช้ไฟฟ้า เอามันออกไป

เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้อง อย่างเช่น ตู้เย็น เครื่องทำน้ำร้อน เครื่องถ่ายเอกสาร หม้อหุงข้าว เครื่องชงกาแฟ กาต้มน้ำไฟฟ้า รวมทั้งการเปิดไฟมากเกินความจำเป็น คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิห้องสูงขึ้นและทำให้เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนักขึ้นด้วย ดังนั้นชิ้นไหนไม่จำเป็น จึงควรย้ายออกจากห้องและควรเปิดไฟแต่พอดี เพื่อให้ห้องเย็นสบาย

6. งดกิจกรรมทำความร้อน

อ๊ะ !! อย่าคิดลึกนะคะ กิจกรรมทำความร้อนที่ว่า คือการสูบบุหรี่ภายในห้องปรับอากาศ เนื่องด้วยการสูบบุหรี่ในห้องปรับอากาศจะต้องเปิดพัดลมระบายอากาศเพื่อระบายควันและกลิ่นออกจากห้อง การถ่ายอากาศส่วนหนึ่งออกจากห้องและปล่อยให้อากาศภายนอกเข้ามาทดแทนจะทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักขึ้น เพี่อปรับอุณหภูมิภายในห้องให้เย็นเท่าเดิม

7. เสื้อผ้าใส่สบายเข้าไว้

เคยเห็นกันบ้างใช่ไหมคะ ออฟฟิศบางแห่งตั้งอุณหภูมิห้องไว้ที่ 20 องศาแล้วบางท่าน (โดยเฉพาะ คุณผู้หญิง) ต่างโหมประโคมใส่เสื้อผ้าชุดกันหนาว ประดุจดั่งอยู่เมืองนอกเมืองนา บ้างก็ใส่สูทตัวหนาเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีมาก ๆ ค่ะ เพราะเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ เราสามารถปรับอุณหภูมิให้อยู่ที่ 25 องศาแล้วใส่เสื้อผ้าสบาย ๆ ให้ได้รับความเย็นที่กำลังพอดีได้ ในบ้านก็เช่นกันหากเลือกใส่เสื้อผ้าที่สบาย ๆ แล้วเราตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 28 องศา จะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าไปอีกแรง

8. ผ้าม่านช่วยได้เยอะ

ไม่ใช่แค่ความสวยงามเท่านั้น ผ้าม่านยังทำหน้าที่กันความร้อนอีกชั้นไม่ให้เข้าสู่พื้นที่ภายในบ้าน โดยทั่วไปแล้วม่านหน้าต่างจะนิยมติดตั้ง 2 ชั้นโดยชั้นแรกจะเป็นม่านกรองแสงที่ช่วยบังตาจากภายนอก ส่วนอีกชั้นจะเป็นผ้าม่านหนาที่นอกจากจะช่วยสร้างความงามให้ห้องด้วยลวดลายสีสันที่หลากหลายแล้ว ม่านหนานี้ยังทำหน้าที่กันความร้อนจากภายนอกไม่ให้เข้าสู่ภายในห้องโดยตรง ยิ่งปัจจุบันผ้าม่านมีนวัตกรรมมากมายทั้งเก็บความเย็นภายในบ้าน ป้องกันแสงยูวี และอายุการใช้งานก็คงทน ลวดลายคงอยู่ยาวนานด้วย

9. ธรรมชาติมอบสิ่งดี ๆ เสมอ

ที่สุดแล้วคนเราคงหนีธรรมชาติไม่พ้น และต้นไม้ก็เป็นอีกสิ่งมีชีวิตบนโลกที่ช่วยเราได้หลาย ๆ เรื่อง ทั้งเรื่องอากาศบริสุทธิ์ สร้างความร่มรื่น และยังช่วยบังความร้อนจากแสงอาทิตย์ หากปลูกต้นไม้รอบ ๆ บ้านแล้ว จะช่วยให้เราลดการใช้เครื่องปรับอากาศได้มาก หากบ้านไหนมีต้นไม่ใหญ่ปลูกเป็นสวนร่มรื่นด้วยแล้ว แทบจะไม่ต้องพึ่งพลังงานเครื่องปรับอากาศกันเลยทีเดียว และวิธีนี้เป็นทางออกสันติวิธีที่นอกจากจะช่วยให้บ้านเย็นแล้ว ยังช่วยให้อุณหภูมิโลกเย็นลงด้วย

ขอขอบคุณ : lifeandhome

แสดงความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่