ใครทำใครได้ สุดยอดวิธียืดอายุ 10 อวัยวะของเราให้แข็งแรง ไม่ป่วยง่าย ทำตาม

0

 ใครทำใครได้ สุดยอดวิธียืดอายุ 10 อวัยวะของเราให้แข็งแรง ไม่ป่วยง่าย ทำตาม

ทุกวันนี้เราเคยชินกับความรู้ที่ว่า อวัยวะจะเสื่อมไปตามเวลา วิธีการยืดอายุอวัยวะมีร้อยแปดพันประการ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ดร.โรแนน แฟคโทรา แห่งสถาบันการแพทย์ Cleveland Clinic ประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำสุดยอดวิธียืดอายุอวัยวะต่างๆ ไว้ในนิตยสาร Times ดังนี้

1. สมอง

หลังอายุ 70 ปี จะเริ่มพบความผิดปกติที่เกิดจากความเสื่อมของสมอง ซึ่งมักเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันในคราวเดียว

ทำอย่างไร?

(1) นิวโรบิกส์ เอ็กเซอร์ไซส์ (Neurobics Exercise) หรือการทำกิจกรรมที่ต้องใช้มือทั้ง 2 ข้าง ทำงานประสานกัน เช่น ทำสวน เย็บผ้า ทำกับข้าว ช่วยให้สมองทั้งซีกซ้ายและขวาได้รับการกระตุ้นและทำงานไปพร้อมกัน
(2) กิน ปลาทะเล ถั่วเปลือกแข็ง และธัญพืช แหล่งสุดยอดสารอาหารบำรุงเป็นประจำ
(3) ฝึกเจริญสติก่อนนอน ใช้วิธีกำหนดรู้ลมหายใจเข้าและออก จนกว่าจะหลับ ช่วยลดความเครียดและทำให้สมองปลอดโปร่งในวันรุ่งขึ้น

2. ดวงตา

หลังอายุ 40 ปี ต่อจากนั้น ทุกๆ ปี ดวงตา จอประสาตา เลนส์ตาจะเสื่อมลง ในอัตราที่ไม่สม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับรูปแบบกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

ทำอย่างไร?

(1) สวมแว่นกันแดด ก่อนทำกิจกรรมกลางแจ้งทุกครั้ง (2) ผู้ที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ ควรพักสายทุกๆ 45 นาที อย่างน้อย 5-10 นาที
(3)งดใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตก่อนนอน

3. หู

หลังอายุ 60 ปี การได้ยินจะค่อยๆ ลดลงทุกปี และทุกๆ 1 ใน 3 คนมีปัญหาเรื่องการได้ยินเมื่อเข้าสู่วัยนี้

ทำอย่างไร?

(1) หลีกเลี่ยงการทำงานหรืออาศัยอยู่ในที่ๆ มีเสียงดัง หากจำเป็นต้องใส่เครื่องป้องกัน
(2) งดสั่งน้ำมูกแรงๆ หรือ กลั้นจาม เพราะอาจทำให้เยื่อแก้วหูมีปัญหา
(3) งดแคะหูเอง เพราะขี้หูเป็นขี้ผึ้งรักษาความชุ่มชื้นตามธรรมชาติ การแคะหูทำให้เกิดการอักเสบและเยื่อแก้วหูฉีกขาดได้

4. ปอด

หลังอายุ 30 ปี ต่อจากนั้น ทุกๆ ปี ประสิทธิภาพการทำงานของปอดจะลดลงราวร้อยละ 1

ทำอย่างไร?

(1) ว่ายน้ำ หรือ วิ่ง อย่างน้อยวันละ 45 นาที – 1 ชั่วโมง
(2) ใช้สมุนไพรไทยปรับธาตุ จิบยาตรีผลา ก่อนอาหารเช้า-เย็น ครั้งละ 1 แก้ว มีสรรพคุณช่วยปรับธาตุ บำรุงปอด แก้ไอ ลดเสมหะได้
(3) หลีกเลี่ยง ควันธูป ควันจากการประกอบอาหาร ฝุ่นขนาดเล็ก และสารเคมีที่มีไอระเหยต่างๆ

5. หัวใจ

หลังอายุ 65 ปี จะเริ่มมีโอกาสเป็นโรคหัวใจ เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจที่ลดลงสวนทางกับอัตราการหนาตัวของผนังหัวใจที่เพิ่มขึ้นเมื่ออายุ 20-30 ปี เฉลี่ยทุกๆ 10 ปี อัตราการสูบฉีดโลหิตสูงสุดจะลดลงราวร้อยละ 10

ทำอย่างไร?

(1) งดอาหารหวาน มัน เค็ม รักษาความดันโลหิตและน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ (2) ว่ายน้ำ เดิน วิ่ง โยคะ ร่วมถึงการยกน้ำหนัก ช่วยให้หัวใจทำงานต่อเนื่อง กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง
(3) ปลูกต้นไม้ ไปทำกิจกรรมในสวนสาธารณะ หรือมีสัตว์เลี้ยง ผู้ที่มีงานอดิเรกเหล่านี้ มีความเสี่ยงโรคหัวใจน้อยกว่าคนทั่วไป

6. ไต

หลังอายุ 50 ปี ไตจะเริ่มเสื่อมลงทีละน้อยๆ จนคุณแทบไม่รู้สึก

ทำอย่างไร?

(1) ดื่มน้ำให้เพียงพอ สถาบันการแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (Institute of Medicine : IOM) ระบุว่า ผู้ชายอายุ 19 ปีขึ้นไป ต้องดื่มน้ำถึง 13 แก้วต่อวัน ขณะที่ผู้หญิงวัยเดียวกันต้องการน้ำวันละ 9 แก้ว
(2) งดปรุงแต่งรสอาหารโดยไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาล เกลือ หรือซอสต่างๆ
(3) ควบคุมน้ำหนักตัว และความดันโลหิตไม่ให้เกินเกณฑ์มาตรฐาน

7. สำไส้

หลังอายุ 60 ปี ปุ่มเล็กๆ ที่ทำหน้าที่ดูดซึมสารอาหารในลำไส้เล็กจะบางลง ร่างกายจึงดูดซึมสารอาหารได้น้อยลงตามไปด้วย

ทำอย่างไร?

(1) ย่อยง่าย กินปลา ถั่ว เห็ด รวมถึงผักผลไม้ให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารทอด (2) กินโยเกิร์ต 1 ถ้วยทุกวัน เสริมโปรไบโอติก เพิ่มปริมาณแบคทีเรียดีในลำไส้
(3) ฝึกโยคะ 4 ท่า ช่วยระบบย่อยทุกเช้าหลังตื่นนอน ดังนี้ ท่าแมว ท่าสุนัข ท่าสามเหลี่ยม ท่าสะพาน และปิดท้ายด้วยท่าศพ ครั้งละ 3-5 ลมหายใจ แต่ละท่าทำ 5 ครั้ง นับเป็น 1 เซ็ต

8. ผิวหนัง

หลังอายุ 18 ปี ต่อจากนั้น ทุกๆ ปี คอลลาเจนและอิลาสตินในผิวหนังจะลดลงประมาณร้อยละ 1

ทำอย่างไร?

(1) ทาครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของไทเทเนียมหรือสังกะสีเป็นประจำ
(2) กินถั่วเปลือกแข็ง ผลไม้ตระกูลส้มและเบอร์รี่ เป็นประจำ
(3) มาร์คหน้าด้วยโยเกิร์ตผสมข้าวโอ๊ต หรือ ใช้วุ้นจากว่านหางจระเข้ เพื่อฟื้นฟูผิวหลังออกแดดเสมอ

9. กระดูก

หลังอายุ 35 ปี ต่อจากนั้นทุกๆ ปีความหนาแน่นของมวลกระดูกจะลดลงราวร้อยละ 1 และจะมีอัตราลดลงเร็วขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน (ในเพศหญิง)

ทำอย่างไร?

(1) ยกน้ำหนัก หรือ กระโดดขึ้น-ลง 20 ครั้ง วันละ 2 เซ็ต
(2) เพิ่มเมนูไทยๆ เปี่ยมแคลเซียม เช่น น้ำพริกกะปิปลาทูทอดกับผักสด อย่างน้อย 3-4 มื้อต่อสัปดาห์
(3) ระวังการใช้ยาสเตียรอยด์และยาลูกกลอนที่มีผลทำให้กระดูกพรุน

10. กล้ามเนื้อ

หลังอายุ 40 ปี ต่อจากนั้นทุกๆ ปี มวลกล้ามเนื้อจะลดลงและเปลี่ยนเป็นไขมัน อัตรานั้นไม่สม่ำเสมอขึ้นอยู่กับรูปแบบกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

ทำอย่างไร?

(1) วิดพื้น สวอท และยกน้ำหนักแต่ละท่าทำ 15 -20 ครั้ง นับเป็น 1เซ็ต ทำทุกวันอย่างน้อยครั้งละ 2 เซ็ต

สุดท้าย การกินอาหารที่มีสารแอนติออกซิแดนท์สูง เช่น ผักหลากสี ผลไม้รสเปรี้ยว รสฝาดขม ช่วย ชะลอกระบวนการเสื่อมของเซลล์ตามปกติได้

อย่าลืมเสริมด้วย การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำสมาธิ และหาโอกาสออกไปพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติ เพื่อลดความเครียด (ตัวการเร่งให้เกิดกระบวนการเสื่อมของเซลล์) เท่านี้ก็ช่วยยืดอายุให้อวัยวะต่างๆ ได้เช่นกัน

ที่มา : ขอขอบคุณ
รศ. ดร. ภญ. อรพรรณ มาตังคสมบัติ
อดีต คณบดี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

แสดงความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่