เรื่องน่ารู้ ภัยเงียบ!! จากมะเร็งกระดูก ถ้าหากคุณมีอาการเช่นนี้ หาทางป้องกัน

0

เรื่องน่ารู้ ภัยเงียบ!! จากมะเร็งกระดูก ถ้าหากคุณมีอาการเช่นนี้ หาทางป้องกัน

มะเร็งกระดูก (Bone cancer หรือ Malignant bone tumor) เป็นโรคมะเร็งที่พบได้น้อย สามารถเกิดได้กับคนทุกวัยตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะพบในคนอายุต่ำกว่า 35 ปี พบได้มากที่สุดในช่วงอายุ 10-20 ปี (ในเด็กโต วัยรุ่น และคนวัยหนุ่มสาว) และพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย ซึ่งโรคมะเร็งกระดูกนี้จะพบได้เพียงประมาณ 6% ของโรคมะเร็งในเด็กทั้งหมด

ในสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยใหม่เป็นโรคนี้เพียงประมาณปีละ 650-700 ราย ทั้งนี้พบได้มากกว่าในเด็กหญิงประมาณ 2-3 เท่า ส่วนในประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2544-2546 พบผู้ป่วยเป็นโรคนี้ในเพศชาย 1.1 รายต่อประชากรชาย 100,000 คนต่อปี และพบในเพศหญิง 0.8 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คนต่อปี

มะเร็งกระดูก นับได้ว่าเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง เกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว โดยทั่วไปแล้ว  มะเร็งกระดูกแบ่งได้  2 ชนิด คือ ชนิดปฐมภูมิ  เกิดจากความผิดปกติภายในเซลล์ของกระดูกที่เป็นเนื้องอก ซึ่งถ้าเป็นเนื้อร้ายก็จะก่อให้เกิดมะเร็งกระดูก และชนิดทุติยภูมิ  เกิดจากการแพร่กระจายของมะเร็งชนิดอื่นมาที่กระดูก   ซึ่งมักเกิดกับผู้ป่วยที่มีประวัติการเป็นโรคมะเร็งของอวัยวะอื่นมาก่อน เช่น มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น

โดยปกติมะเร็งกระดูกในระยะแรก จะมีอาการปวดบริเวณกระดูกที่มีพยาธิสภาพและปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมะเร็งทำลายกระดูกมากขึ้น จะทำให้เกิดภาวะกระดูกแขนขาหักได้แม้เกิดอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง หากมะเร็งเกิดที่กระดูกสันหลัง อาจทำให้กระดูกสันหลังยุบหรือกร่อนจากการถูกมะเร็งทำลายไปกดทับไขสันหลังหรือเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการชามือ เท้า หรือแขนขาอ่อนแรงได้

สำหรับมะเร็งชนิดทุติยภูมิ

ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง เนื่องจากมีการทำลายกระดูกจำนวนมาก ผู้ป่วยจะมีอาการซึม มือเท้าชาผิดปกติ ท้องอืด ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นผิดจังหวะ หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้

สำหรับการรักษาผู้ป่วย ขึ้นกับชนิดและระยะของโรค มีตั้งแต่การให้ยาบรรเทาอาการปวด ยาเคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมน ยาลดแคลเซียมในเลือด ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดและช่วยให้กระดูกแข็งแรงขึ้น ส่วนการให้รังสีรักษาเป็นไปเพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเฉพาะตำแหน่ง ลดอาการปวด ช่วยให้ผู้ป่วยหายจากอาการอัมพาตในรายที่มะเร็งแพร่กระจายไปที่กระดูกสันหลัง ส่วนผู้ป่วยที่เป็นมากและเป็นหลายตำแหน่งอาจฉีดสารกัมมันตรังสี เพื่อลดอาการปวด และหากพิจารณาพบว่าเกิดภาวะมะเร็งกระดูก ตำแหน่งที่รับน้ำหนักมาก เช่น กระดูกต้นขา แพทย์จะใช้วิธีผ่าตัด เพื่อเสริมความแข็งแรงของกระดูกที่ขา ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเดินได้ตามปกติ

มะเร็งกระดูกแม้พบได้น้อย แต่เมื่อเป็นแล้วผู้ป่วยจะมีอาการทรุดอย่างรวดเร็ว หากพบความผิดปกติ เช่น มีก้อนบริเวณแขน ขา กระดูก ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพราะการวินิจฉัยโรคได้เร็วและให้การรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของโรคและยังไม่มีการแพร่กระจายของมะเร็งไปที่อวัยวะอื่น จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตสูง มีคุณภาพชีวิตภายหลังการรักษาที่ดีครับ

ระยะของโรคมะเร็งกระดูก

โรคมะเร็งกระดูกปฐมภูมิแบ่งออกเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่น ๆ และบางระยะยังแบ่งย่อยได้อีก แต่ที่แตกต่างจากโรคมะเร็งชนิดอื่น คือ ระยะของโรคจะขึ้นอยู่กับการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ เซลล์มะเร็งแบ่งตัวสูง และเซลล์มะเร็งแบ่งตัวต่ำ ซึ่งทั้ง 4 ระยะของโรค คือ

  • ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งลุกลามอยู่จุดเดียวในกระดูกและเป็นเซลล์มะเร็งชนิดแบ่งตัวต่ำ
  • ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งลุกลามจุดเดียวในกระดูก แต่เป็นเซลล์มะเร็งชนิดแบ่งตัวสูง
  • ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งลุกลามหลายจุดในกระดูก หรือลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียงกระดูก
  • ระยะที่ 4 โรคมะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง และ/หรือแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งมักแพร่กระจายไปสู่กระดูกชนิดอื่น ๆ ปอด และไขกระดูก

วิธีป้องกันโรคมะเร็งกระดูก

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวิธีในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิตั้งแต่ยังไม่มีอาการได้ อีกทั้งปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคก็มักเป็นปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น จึงยังไม่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคมะเร็งกระดูกได้ แต่ที่พอทำได้ก็คือ การสังเกตตนเอง เมื่อพบว่ามีอาการผิดปกติดังกล่าวเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ ส่วนผู้ปกครองเองก็ควรเอาใจใส่และคอยสังเกตดูบุตรหลานอยู่เสมอ (เพราะโรคมะเร็งกระดูกปฐมภูมิมักเกิดกับคนในช่วงอายุ 10-20 ปี) ถ้าพบว่าบุตรหลานไม่สบายมีอาการเจ็บที่แขนขา ควรรีบไปพบแพทย์ อย่ารอให้เป็นมากแล้วจึงค่อยพาไป และการไปพบแพทย์ควรไปพบแพทย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยตรง เนื่องจากผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกจำเป็นต้องได้รับการติดตามในระยะยาว

ส่วนการป้องกันโรคมะเร็งชนิดทุติยภูมิ คือ การตรวจพบมะเร็งตั้งแต่เริ่มต้นก่อนที่จะแพร่กระจายและรักษาด้วยการผ่าตัด ยาเคมีบำบัด หรือรังสีรักษา ซึ่งในปัจจุบันแพทย์แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ และมะเร็งปากมดลูก แต่หากผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ได้แก่ ปวดหลัง (อาจมีอาการปวดหลังร้าวลงขา), ชาที่ขาหรือช่วงท้อง, ขาอ่อนแรงหรือมีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว หรือไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ หรือมีปัญหาเรื่องการปัสสาวะ ซึ่งอาการเหล่านี้จัดเป็นภาวะฉุกเฉินของผู้ป่วยที่มีการกระจายของมะเร็งมาที่กระดูก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เกิดอัมพาตได้

เอกสารอ้างอิง

  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “มะเร็งกระดูก (Bone cancer)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 1176.
  2. หาหมอดอทคอม.  “มะเร็งกระดูก (Bone cancer)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [14 มี.ค. 2017].
  3. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.  “โรคมะเร็งกระดูก”.  (ผศ.นพ.อดิศักดิ์ นารถธนะรุ่ง).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : med.mahidol.ac.th/cancer_center/.  [15 มี.ค. 2017].
  4. สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์.  “มะเร็งของกระดูก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.chulacancer.net.  [16 มี.ค. 2017].
  5. รศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
แสดงความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่