แจก 2 สูตร น้ำว่านหางจระเข้ เครื่องดื่มสมุนไพรสุดเฮลธ์ตี้ เคี้ยววุ้นเพลินๆ

0

แจก 2 สูตร น้ำว่านหางจระเข้ เครื่องดื่มสมุนไพรสุดเฮลธ์ตี้ เคี้ยววุ้นเพลินๆ

ว่านหางจระเข้สมุนไพรสารพัดประโยชน์ จากที่เคยกินเปล่า ๆ รสออกเฝื่อน ๆ ลองแปลงร่างเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรน้ำว่านหางจระเข้สักแก้วดีไหม เราขอนำเสนอวิธีทำน้ำว่านหางจระเข้ สูตรหวานน้อย ไม่เติมสีหรือแต่งกลิ่น ได้รสธรรมชาติจริง ๆ

ส่วนผสม น้ำว่านหางจระเข้ สูตร 1

  1. เนื้อว่านหางจระเข้ (หั่นเป็นชิ้น) 200 กรัม (ล้างให้สะอาดจนหมดเมือก)
  2. น้ำเปล่า 3 ถ้วย
  3. น้ำตาลทรายแดง 3/4 ถ้วย
  4. น้ำแข็ง (เสิร์ฟ)

วิธีทำน้ำว่านหางจระเข้

  1. นำเนื้อว่านหางจระเข้ไปต้มด้วยไฟกลางประมาณ 15-20 นาที จนเนื้อว่านหางจระเข้สุก
  2. ใส่น้ำตาลทรายแดงลงไป คนพอน้ำตาลละลาย ปิดไฟ
  3. รินใส่แก้วน้ำแข็ง พร้อมเสิร์ฟ

ส่วนผสม น้ำว่านหางจระเข้ สูตร 2 (เด็ดมาก อร่อยจริงๆ)

  1. เนื้อว่านหางจระเข้หั่นเรียบร้อยแล้ว 2 ขีด
  2. ใบเตย 10 ใบ
  3. น้ำตาลทราย 3 ขีด
  4. น้ำสะอาด 1 500มล
  5. น้ำคั้นใบเตยเพิ่มสีให้น่ากิน 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำน้ำว่านหางจระเข้

1. ว่านหางจระเข้ตัดที่บ้านเลยก้านไม่ค่อยใหญ่ ส่วนใบเตยนั้้นหอมมาก (ต้นข้างๆไม่เกี่ยวนะ)


2. ว่านปอกเปลือกสีเขียวออก ล้างให้สะอาดๆ พักให้สะเด็ดน้ำ

3. นำมาหั่นชิ้น ลูกเต๋าเล็กๆ นำไปล้างน้ำให้สะอาด พักให้สะเด็ดน้ำ

4. น้ำใส่หม้อ ใส่ใบเตยต้มให้กลิ่นใบเตยออกมีกลิ่นหอม ตักใบเตยออก ใส่น้ำตาลทรายคนให้น้ำตาลละลาย

5. พอน้ำตาลละลายใส่ว่านที่หั่นไว้ ต้มต่อจนว่านสุกประมาณ5นาที สุดท้ายใส่น้ำคั้นใบเตยปิดไฟทันทีเลย

6. ขวดที่จะนำมาใส่ ล้างน้ำร้อนฆ่าเชื้อก่อน กรอกใส่ขวดตอนที่ยังมีความร้อนอยู่ ปิดฝาให้สนิท รอเย็นนำไปแช่ในตู้เย็น ดื่มเย็นๆชื่นใจค่ะ

ต่อไปนี้ไม่ต้องหาร้านขายน้ำว่านหางจระเข้ให้ปวดหัว แค่จับต้นว่างหางจระเข้ปอกเปลือกแล้วนำไปต้มจนเดือด เติมน้ำตาลทรายลงไปหน่อย จะใส่น้ำแข็งหรือดื่มอุ่น ๆ ก็ได้ค่ะ รับสักแก้วไหมคะ

เมื่อพูดถึง สมุนไพรว่านหางจระเข้ เรามักจะนึกถึงสรรพคุณในการรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลสด ช่วยบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อน ใช้ทาเพื่อป้องรอยแผลเป็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ ซึ่งสารที่สามารถใช้รักษาแผลดังกล่าวได้เป็นสาร Glycoprotein ที่มีชื่อว่า Aloctin A เป็น Anti-inflammatory ที่พบได้ในทุก ๆ ส่วนของว่านหางจระเข้ ซึ่งนอกจากสรรพคุณดังกล่าวแล้วยังมีประโยชน์ของว่านหางจระเข้อื่น ๆ อีกมากมาย ไปดูกันเลย…

สรรพคุณของว่านหางจระเข้

  1. ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน ด้วยการรับประทานเนื้อวุ้น หรือจะทำเป็นน้ำปั่นว่านหางจระเข้มาดื่มก็ได้ ก็จะช่วยบรรเทาอาการและป้องกันโรคเบาหวานได้
  2. ว่านหางจระเข้มีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการตัดใบสดของว่านหางจระเข้แล้วทาปูนแดงด้านหนึ่ง แล้วเอาด้านที่ทาปูนปิดตรงขมับ จะช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะได้ (ใบ)
  3. วุ้นว่านหางจระเข้มีสรรพคุณช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยป้องกันและลดการเกิดแผลในกระเพาะขณะท้องว่าง ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารต่าง ๆ
  4. เนื้อว่านหางจระเข้สรรพคุณว่านหางจระเข้ช่วยแก้กระเพาะลำไส้อักเสบ ด้วยการใช้ใบนำมาปอกเปลือกเอาแต่วุ้น นำมารับประทานวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ (เนื้อวุ้น)
  5. ใช้เป็นถ่าย ยาระบาย ที่เปลือกของว่านหางจระเข้จะมีน้ำยางสีเหลือง ในน้ำยางจะมีสารแอนทราควิโนน (Anthraquinone) ที่มีฤทธิ์เป็นยาระบาย หากนำน้ำยางไปเคี่ยวให้น้ำระเหยออกแล้วทิ้งไว้ให้เย็น ก็จะได้สารสีน้ำตาลเกือบดำ หรือเรียกว่า “ยาดำ” ซึ่งยาดำนี้เองใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาแผนโบราณที่ต้องการให้มีฤทธิ์เป็นยาระบายอยู่หลายตำรับ (ยางในใบ)
  6. ช่วยรักษาอาการท้องผูก ด้วยการกรีดเอายางจากว่านหางจระเข้มาเคี่ยวให้งวด ทิ้งไว้ให้เย็นจะได้ก้อนยาสีดำ (ยาดำ) แล้วตักมาใช้ประมาณช้อนชา เติมน้ำเดือด 1 ถ้วย แล้วคนจนละลาย โดยผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 2 ช้อนชาก่อนนอน แต่ถ้าเป็นเด็กให้รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชาก่อนนอน
  7. ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้เนื้อวุ้นจากใบเหลาให้เป็นปลายแหลมเล็กน้อย และนำไปแช่ตู้เย็นหรือน้ำแข็งจนเนื้อแข็ง แล้วนำไปใช้เหน็บในช่องทวารหนัก ควรหมั่นทำเป็นประจำวันละ 1-2 ครั้งจนกว่าจะหาย (เนื้อวุ่น)
  8. ช่วยแก้หนองใน (ราก, เหง้า)
  9. ช่วยแก้มุตกิดหรือระดูขาวของสตรี (ราก, เหง้า)
  10. ทั้งต้นของว่านหางจระเข้มีรสเย็น ใช้ดองกับสุรานำมาดื่มช่วยขับน้ำคาวปลาได้ (ทั้งต้น)ช่วยบรรเทาและแก้อาการปวดตามข้อ ด้วยการรับประทานเนื้อวุ้นครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 ครั้งเป็นประจำ จะช่วยทำให้อาการปวดดีขึ้น (วุ้นจากใบ) ใบว่านหางจระเข้มีรสเย็น นำมาตำผสมกับสุราใช้พอกรักษาฝีได้ (ใบ)
  11. ช่วยรักษาแผลสด แผลจากของมีคม แผลที่ริมฝีปาก แก้ฝี แก้ตะมอย ด้วยการใช้วุ้นจากใบนำมาแปะบริเวณแผลให้มิดชิดและใช้ผ้าปิดไว้ แล้วหยอดน้ำเมือกลงตรงแผลให้ชุ่มอยู่เสมอ หรือจะเตรียมเป็นขี้ผึ้งก็ได้ (วุ้นจากใบ)
  12. ช่วยรักษาแผลถลอกและแผลจากการถูกครูด (แผลพวกนี้จะเจ็บปวดมาก) ให้ใช้วุ้นว่านหางจระเข้นำมาทาแผลเบา ๆ ในวันแรกต้องทาบ่อย ๆ จะช่วยในการสมานแผล ทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น และทำให้ไม่เจ็บแผลมาก (วุ้นจากใบ)
  13. ช่วยรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ช่วยดับพิษร้อนบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อนจากแผล ด้วยการใช้วุ้นจากใบสดที่ล้างน้ำสะอาด แล้วฝานบาง ๆ นำมาทาหรือแปะไว้บริเวณแผลตลอดเวลา จะช่วยทำให้แผลหายเร็วมากขึ้นและอาจไม่เกิดรอยแผลเป็นด้วย (วุ้นจากใบ)
  14. ช่วยขจัดรอยแผลเป็น ทำให้แผลเป็นจางลง ป้องกันการเกิดรอยแผลเป็น (วุ้นจากใบ)
  15. ช่วยรักษาตาปลาและฮ่องกงฟุต ด้วยการใช้วุ้นจากใบที่ล้างสะอาดแล้ว นำมาปิดไว้บริเวณที่เป็นและหมั่นเปลี่ยนบ่อย ๆ จนกว่าจะดีขึ้น (วุ้นจากใบ)
  16. วุ้นจากใบใช้ทาเพื่อปกป้องผิวจากแสงแดด ด้วยการใช้วุ้นจากใบทาก่อนออกแดด หรือจะใช้ใบสดก็ได้ แต่ใบสดอาจทำให้ผิวหนังแห้ง เพราะใบมีฤทธิ์ฝาดสมาน ถ้าต้องการลดการทำให้ผิวแห้ง ก็อาจจะใช้ร่วมกับน้ำมันพืชหรืออาจเตรียมเป็นโลชั่นก็ได้ (วุ้นจากใบ)
  17. ช่วยรักษาอาการผิวหนังไหม้จากแสงแดด หรือไหม้เกรียมจากการฉายรังสี หรือแผลเรื้อรังจากการฉายรังสี โดยนำวุ้นของว่ายหางจระเข้มาทาผิวบ่อย ๆ ก็จะช่วยลดการอักเสบได้ แต่ถ้าไปนาน ๆระวังผิวแห้ง ควรผสมกับน้ำมันพืช เว้นแต่ว่าจะทำให้ผิวเปียกชุ่มอยู่ตลอดเวลา (วุ้นจากใบ)
  18. วุ้นจากใบใช้ทาเพื่อรักษาฝ้า (วุ้นจากใบ)
  19. ช่วยรักษาโรคเรื้อนกวาง (โรคสะเก็ดเงิน) ช่วยลดการตกสะเก็ดและลดอาการคันของโรคเรื้อนกวาง ทำให้แผลดูดีขึ้น (วุ้นจากใบ)

ประโยชน์ของว่านหางจระเข้

  1. น้ําว่านหางจระเข้ สามารถช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ มีส่วนช่วยชะลอความแก่ชรา และช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้อีกด้วย
  2. ว่านหางจระเข้อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ รวมไปถึงกรดอะมิโนอีกหลายชนิดที่จำเป็นและมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ธาตุแมกนีเซียม ธาตุโพแทสเซียม ธาตุทองแดง ธาตุแมงกานีส ธาตุซีลีเนียม ธาตุโครเมียม วิตามินเอ วิตามินซี วิตามิอี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 วิตามินบี 9 โคลีน และยังเป็นพืชเพียงไม่กี่ชนิดที่มีวิตามินบี 12 ด้วย
  3. ช่วยในการย่อยอาหาร ทำความสะอาดลำไส้ใหญ่ ช่วยในการดีท็อกซ์ล้างสารพิษในร่างกาย ช่วยในการทำงานของระบบกระเพาะอาหาร และช่วยลดปริมาณของเชื้อแบคทีเรียในลำไส้
  4. จากวารสารแพทย์อังกฤษตีพิมพ์ในปี 2000 (British medical journal) ระบุว่าสารสกัดจากว่านหางจระเข้สามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ช่วยควบคุมความดันโลหิตและเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต และอาจจะมีความเป็นไปได้ว่ามันสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้อีกด้วย
  5. ช่วยป้องกันและแก้อาการเมารถเมาเรือ ด้วยการรับประทานเนื้อวุ้นว่านหางจระเข้หรือน้ําว่านหางจระเข้เย็น ๆ ก็จะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้
  6. การใช้วุ้นว่านหางจระเข้ทาเป็นประจำวันละ 2-4 ครั้ง จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง
  7. ช่วยบำรุงผิวพรรณ ช่วยทำให้ผิวพรรณเนียนนุ่ม ดูชุ่มชื้น แก้ปัญหาผิวแห้งกร้านตามหัวเข่า, ข้อศอก หรือส้นเท้าได้ เพียงแค่ใช้วุ้นจากใบว่านหางจระเข้แช่ในอ่างอาบน้ำ ในระหว่างอาบให้ใช้เนื้อวุ้นถูตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่ต้องการ หากทำเป็นประจำก็จะช่วยทำให้ผิวพรรณของคุณเนียนนุ่มชื่นชื้นและเต่งตึงได้
  8. ช่วยเติมน้ำให้ผิว ทำให้ผิวหน้าและผิวกายชุ่มชื้น และป้องกันการเกิดริ้วรอยแห่งวัย เพียงแค่ใช้วุ้นจากใบว่านหางจระเข้นำมาพอกให้ทั่วบริเวณใบหน้าหรือบริเวณผิวที่ต้องการ ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีแล้วล้างออก จะช่วยทำให้ผิวพรรณชุ่มชื้นสดใสและดูเต่งตึงขึ้น
  9. ว่านหางจระเข้รักษาสิว ยับยั้งการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของสิว ช่วยลดรอยดำจากสิว และช่วยลดความมันบนใบหน้า เพราะในใบว่างหางจระเข้จะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ (ไม่แนะให้ใช้กับสิวอักเสบ เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย)
  10. ช่วยรักษาจุดด่างดำตามผิวหนัง อันเนื่องมาจากแสงแดดหรือจากอายุที่มากขึ้น ด้วยการใช้วุ้นจากใบสดนำทาที่ผิววันละ 2 ครั้งหลังอาบน้ำ และต้องทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอจึงจะเห็นผล
  11. ช่วยป้องกันการเกิดฝ้า หากใช้ว่านหางจระเข้เป็นประจำก็จะช่วยป้องกันการเกิดฝ้าได้เป็นอย่างดี (ไม่ใช่การรักษาแต่เป็นการป้องกัน)
  12. วุ้นจากใบสดใช้ชโลมบนเส้นผม จะช่วยทำให้เส้นผมสลวย ผมดกเป็นเงางาม ช่วยป้องกันและขจัดรังแค ช่วยบำรุงต่อมที่รากผมให้มีสุขภาพดี และยังช่วยรักษาแผลบนหนังศีรษะได้อีกด้วย
  13. ในฟิลิปปินส์ ใช้วุ้นจากว่านหางจระเข้ร่วมกับเนื้อในของเมล็ดสะบ้า ในการรักษาผมร่วงหรือหนังศีรษะล้าน
  14. ปัจจุบันได้มีการทดลองใช้วุ้นจากใบเพื่อรักษาคนไข้ที่เป็นแผลกดทับ (Bedsore)
  15. ช่วยลบท้องลายหลังคลอด ด้วยการใช้วุ้นของว่านหางจระเข้มาทาบริเวณท้องเป็นประจำทั้งในขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด
  16. ช่วยแก้เส้นเลือดดำขอดบริเวณขา ด้วยการใช้วุ้นว่านหางจระเข้มาทาบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอดเป็นประจำ
  17. สาร Aloctin A พบว่ามันสามารถช่วยรักษาโรคต่าง ๆ ได้หลายโรค เช่น โรคมะเร็ง ช่วยแก้อาการแพ้ รักษาโรคผิวหนัง เป็นต้น
  18. ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หลายรูปแบบ ที่ผลิตมาจากว่านหางจระเข้ เช่น เครื่องสำอาง โลชัน สบู่ แชมพู ครีมบำรุงผิว ครีมทาใต้ตา ครีมรักษาฝ้า กระ จุดด่างดำ ครีมทาแผลสดแผลพุพอง เจลว่านหางจระเข้ เจลทรีตเมนต์บำรุงผิวหน้า ฯลฯ
  19. นอกจากนี้ว่านหางจระเข้ยังสามารถนำมาทำเป็นอาหารจำพวกของหวานได้อีกด้วย เช่น น้ำวุ้นลอยแก้ว วุ้นแช่อิ่ม นำมาปั่นทำเป็นน้ำว่านหางจระเข้ เป็นต้น

สูตรว่านหางจระเข้พอกหน้า

  • สูตรบำรุงผิวหน้า กระชับรูขุมขน เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว ว่านหางจระเข้พอกหน้าด้วยการใช้วุ้นว่านหางจระเข้บด 1 ช้อนโต๊ะ / น้ำแตงกวา 1-2 ช้อนโต๊ะ / ดินสอพอง 1.5 ช้อนโต๊ะ นำมาผสมจนเข้ากันแล้วใช้พอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีแล้วล้างออก
  • สูตรลดสิว รักษารอยดำจากสิว ด้วยการใช้วุ้นว่านหางจระเข้บด 1 ช้อนโต๊ะ / ไข่ขาว 2 ช้อนโต๊ะ / ดินสอพอง 1.5 ช้อนโต๊ะ นำมาผสมจนเข้ากัน ใช้ทาบริเวณใบหน้าทิ้งไว้ 15 นาทีแล้วล้างออก
  • สูตรลดความมัน แก้ปัญหาจุดด่างดำ ด้วยการใช้วุ้นว่านหางจระเข้บด 1 ช้อนโต๊ะ / น้ำมะนาว 1 ช้อนชา / น้ำผึ้ง 1 ช้อนชา / ดินสอพอง 2 ช้อนโต๊ะ นำมาผสมให้เข้ากันแล้วนำมาพอกบริเวณใบหน้าทิ้งไว้ 15 นาทีแล้วล้างออก
  • สูตรผิวหน้ากระจ่างใส ด้วยการใช้วุ้นว่านหางจระเข้ 1 ช้อนโต๊ะ / นมสด 1.5 ช้อนโต๊ะ / ดินสอพอง 1 ช้อนโต๊ะ นำมาผสมจนเข้ากันแล้วนำมาพอกหน้าทิ้งไว้ 15 นาทีแล้วล้างออก
  • สูตรเพิ่มความกระจ่างใส ลดความมัน ด้วยการใช้วุ้นว่านหางจระเข้ 1 ช้อนโต๊ะ / นมสด 1.5 ช้อนโต๊ะ / ขมิ้นผง 2 ช้อนชา นำมาผสมจนเข้ากันแล้วนำมาพอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีแล้วล้างออก

แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล, www.health.howstuffworks.com ,จุไรรัตน์ ทาธิวัน

เรียบเรียงโดย : Postsod

แสดงความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่