ครอบจักวาล! หนาด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหนาดใหญ่ 42 ข้อ !

0

ครอบจักวาล! หนาด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหนาดใหญ่ 42 ข้อ !

สวัสดีครับ วันนี้เรานำเรื่องราวดีๆเกี่ยวกับพืชสมุนไพรใกล้ตัวที่หลายๆ คนคงเคยรู้จักกัน คือ ต้นหนาด สมัยเด็กๆ เวลาเกิดผืนผดคัน ย่า ยายเราก็จะบอกให้นำต้นหนาดเอาต้มกับน้ำอาบ จะทำให้อาการทุเราลงได้ มันก็ได้ผลจริงๆ เลยอยากนำเผยแพร่สรรพคุณอย่างอื่นด้วยเผื่อที่บ้านใครยังมีหลงเหลืออยู่ จะได้ใช้ให้ถูกและรักษาอาการที่เป็นได้อย่างถูกวิธี มาดูกันเลยครับ

ลักษณะของหนาดใหญ่

ต้นหนาดใหญ่ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งไม้ล้มลุกที่มีอายุได้หลายปี ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 0.5-4 เมตร ลำต้นตั้งตรง เนื้อไม้เป็นแก่นแข็ง เปลือกต้นเรียบเป็นสีเขียวอมขาว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแกมเทา แตกกิ่งก้านมาก มีขนปุกปุยสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนขึ้นปกคลุมและมีกลิ่นหอม ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดหรือผล เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่มักพบขึ้นตามที่รกร้าง ทุ่งนา หรือตามหุบเขาทั่วไป

ใบหนาดใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปยาวรี รูปขอบขนานแกมใบหอก หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายใบแหลมหรือมีติ่งหนาม โคนใบสอบหรือเรียวแหลมเล็กน้อย ส่วนขอบใบหยักเป็นซี่ใหญ่ ไม่เท่ากัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.2-4.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-17 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว หลังใบและท้องใบมีขนทั้งสองด้าน ก้านใบสั้นหรือไม่มี

ดอกหนาดใหญ่ ดอกเป็นช่อกระจุกแน่น ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนงขนาดใหญ่ที่บริเวณปลายกิ่งหรือซอกใบ ช่อดอกมีขนาดโตไม่เท่ากัน โดยมีขนาดกว้างประมาณ 6-30 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-50 เซนติเมตร ชั้นใบประดับยาวกว่าดอกย่อย ลักษณะของดอกย่อยมีขนาดเล็กสีเหลือง ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก มีกลีบดอกติดกันเป็นหลอดยาวได้ถึง 6 มิลลิเมตร ปลายกลีบเมื่อบานจะแยกออกจากกันเป็น 5 กลีบ กลีบดอกอ่อนเป็นสีเหลือง เมื่อแก่แล้วกลีบดอกจะเปลี่ยนเป็นสีขาว โคนดอกมีกลีบเลี้ยงลักษณะเป็นเส้นฝอยปลายแหลมหุ้มอยู่ ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ยื่นออกมาจากใจกลางดอก และดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร

ผลหนาดใหญ่ ผลเป็นผลแห้งไม่แตก รูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร สีน้ำตาล โค้งงอเล็กน้อย มีลักษณะเป็นเส้นเล็ก ๆ 5-10 เส้น ส่วนบนเป็นขนสีขาว ๆ ปกคลุม

พิมเสน (พิมเสนหนาด) คือส่วนที่สกัดได้จากใบและยอดอ่อนด้วยไอน้ำ ซึ่งจะได้น้ำมันหอม ทำให้เย็น พิมเสนก็จะตกผลึก แล้วกรองแยกเอาผลึกพิมเสนมาใช้ประมาณ 0.15-0.3 กรัม นำมาป่นให้เป็นผงละเอียด หรือนำไปทำเป็นยาเม็ดกิน

สรรพคุณของหนาดใหญ่

  1. ใบและยอดอ่อนใช้ต้มเอาน้ำกินเป็นยาบำรุงกำลัง (ใบ)
  2. ใบใช้เป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ใบ)
  3. ชาวไทล้อจะใช้ใบนำมาสับแล้วตากให้แห้ง ใช้เข้ายาห่มตำรับไทลื้อ บำรุงร่างกายและผิวพรรณ (ใบ)
  4. ใบใช้เป็นยาบำรุงหลังคลอดบุตรของสตรี (ใบ)[4] ใช้เป็นส่วนผสมในยาต้มให้สตรีหลังคลอดอาบเพื่อช่วยให้ฟื้นตัวเร็ว (ยาต้มประกอบไปด้วย ใบหนาด ไพล ราชาวดีป่า เปล้าหลวง และอูนป่า)
  5. รากสดใช้ต้มเอาน้ำกิน จะช่วยทำให้การหมุนเวียนของเลือดดีขึ้น (ราก)
  6. ใบและรากมีรสเผ็ดขมเล็กน้อย เป็นยาร้อนเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อตับ ม้าม กระเพาะ และลำไส้ ใช้เป็นยาฟอกเลือดทำให้ร่างกายอบอุ่น ปะสะเลือด ช่วยขับลมชื้นในร่างกาย (ใบและราก)
  7. ใช้เป็นยาลดความดันโลหิต (ใบ, ทั้งต้น)
  8. ช่วยระงับประสาท (ใบ, ทั้งต้น)
  9. ใช้เป็นยาแก้อหิวาตกโรค (ทั้งต้น)
  10. ในกัมพูชา จะใช้ใบนำมาตำร่วมกับใบขัดมอญ (Sida rhombifolia L.) พอกศีรษะแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)
  11. ช่วยแก้ตาเป็นต้อ (พิมเสน)
  12. ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงจมูก (โรคติดเชื้อที่เกิดในจมูก ทำให้หายใจติดขัด มีฝีหนองในจมูก โพรงจมูกอักเสบ) ด้วยการใช้ใบสดนำมาหั่นให้เป็นฝอยเหมือนยาเส้น ตากแดดให้พอหมาด มวนกับยาฉุนแล้วใช้สูบ (ใบ)
  13. ใบนำมาขยี้แล้วใช้ยัดจมูกเวลาเลือดกำเดาไหล จะช่วยทำให้เลือดหยุดไหลได้ (ใบ)
  14. หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี จะใช้ลำต้นและใบหนาดใหญ่ เข้ายากับใบมะขามและใบเป้าใหญ่ นำมาต้มกับน้ำอาบแก้อาการวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย (ต้นและใบ)
  15. ใบและยอดอ่อนใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ (ใบ) ส่วนทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ แก้ลมแดด (ทั้งต้น)[4] ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจะใช้ต้นนำมาต้มกับน้ำอาบแก้อาการไข้ (ต้น) ในซาราวัค จะใช้ใบนำมาต้มรวมกับเทียนดำ หัวหอมเล็ก หรือบดกับเกลือกินเป็นยาแก้ไข้ (ใบ)
  16. ชาวม้งจะใช้ยอดอ่อนนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปตุ๋นใส่ไข่ ใช้กินเป็นยารักษาโรคไข้มาลาเรีย (ยอดอ่อน)
  17. รากใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้หวัด (ราก, ใบและราก)
  18. ช่วยขับเหงื่อ (ใบ) ในอินโดจีนจะใช้ใบร่วมกับต้นตะไคร้ นำมาต้มให้เดือดใช้อบตัวช่วยขับเหงื่อ (ใบ)
  19. ช่วยขับเสมหะ (ต้น, ใบ)
  20. ใบใช้เป็นยารักษาโรคหืด ตำรับยาพื้นบ้านจะใช้ใบนำมาบดผสมกับแก่นก้ามปู การบูร ต้นข่อย และพิมเสน แล้วมวนด้วยใบตองแห้งสูบรักษาโรคหืด เนื่องจากใบมีสาร cryptomeridion ที่มีฤทธิ์ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ เช่น กล้ามเนื้อหลอดลม (ใบ)
  21. ใช้แก้อาการเจ็บหน้าอก ชาวลั้วะจะนำใบมานวดที่หน้าอกแก้อาการเจ็บหน้าอก ถ้าไม่หายจะนำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม (ต้น, ใบ, ทั้งต้น)
  22. ช่วยแก้ลมขึ้นจุกเสียดแน่นเฟ้อ (ใบ, รากและใบ)
  23. ช่วยในการขับลมในลำไส้ (ราก, ใบ, พิมเสน)
  24. รากใช้ต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้ท้องเสีย ปวดท้อง ท้องร่วง (ราก) ส่วนใบใช้ต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องร่วง แก้บิด (ใบ)พิมเสนใช้กินเป็นยาแก้อาการปวดท้อง ท้องร่วง (พิมเสน)
  25. ใบและยอดอ่อนนำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาขับพยาธิ (ใบ) ส่วนทั้งต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิเช่นกัน (ทั้งต้น)
  26. ช่วยขับประจำเดือน (ใบ) ใช้เป็นยาแก้มุตกิด ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ (ใบ,รากและใบ ในชวาจะใช้น้ำคั้นหรือน้ำต้มจากใบหรือจากราก นำมากินเป็นยาแก้ประจำเดือนออกมากผิดปกติ (ใบ, ราก)
  27. ใบใช้เป็นส่วนผสมในยาสมุนไพรอาบเพื่อรักษาอาการผิดเดือนสำหรับสตรีหลังการคลอดบุตร โดยใช้ใบหนาดร่วมกับใบเปล้าหลวง และใบหมากป่า ส่วนชาวลั้วะจะใช้รากนำมาต้มในน้ำผสมกับรากเปล้าหลวง ใช้เป็นยาห่มรักษาอาการผิดเดือน (ราก, ใบ)
  28. ชาวเมี่ยนจะใช้ใบหนาดอ่อนนำมาต้มกับน้ำร่วมกับ ใบช่าน ใบเดื่อฮาก ใบก้านเหลือง ใบฝ่าแป้ง ว่านน้ำเล็ก เครือไฮ่มวย ต้นถ้าทางเมีย ต้นสามร้อยยอด ลำต้นป้วงเดียตม ให้สตรีหลังคลอดบุตรที่อยู่ไฟอาบเพื่อช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น (ถ้าหาไม่ครบก็ให้ใช้เท่าที่หาได้) (ใบ)
  29. ตำรับยาแก้ปวดประจำเดือน ให้ใช้รากหนาด 30 กรัม และเอี๊ยะบ๊อเช่า 18 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกิน (ราก)
  30. ในประเทศจีนจะใช้ใบหนาดใหญ่ เป็นยาทำให้แท้ง (ใบ)
  31. ตำรับยาแก้เริมบริเวณผิวหนัง ด้วยการใช้ใบหนาด 20 กรัม, ขู่เซินจื่อ 20 กรัม, โด่ไม่รู้ล้ม 20 กรัม, จิงเจี้ย 20 กรัม, เมล็ดพุดตาน 15 กรัม, ไป๋เสี้ยนผี 30 กรัม, และใบสายน้ำผึ้ง 30 กรัม นำมารวมกันต้มเอาน้ำชะล้างแผล (ใบ)
  32. ใบใช้ตำร่วมกับใบกระท่อม ใบเพกา และใบยอ ใช้เป็นยาพอกแก้ม้ามโต (ใบ)
  33. พิมเสนใช้ภายนอกด้วยการนำผงมาโรยใส่แผล จะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น ช่วยรักษาแผลอักเสบ แก้กลากเกลื้อน และแผลฟกช้ำ (พิมเสน)
  34. ใบใช้ภายนอก นำมาตำพอกแผลจะช่วยห้ามเลือดได้ หรือจะนำใบมาบดให้เป็นผงละเอียดผสมกับเหล้า ใช้พอกหรือทารักษาแผลสด แผลฟกช้ำจากการหกล้มหรือถูกกระทบกระแทก แผลฝีหนอง ฝีบวมอักเสบ แก้กลากเกลื้อน (ใบ)น้ำคั้นจากใบหรือผงใบแห้งใช้ทาแผลจะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น (ใบ)
  35. ยาพื้นบ้านนครราชสีมา จะใช้ใบหนาดใหญ่เป็นยารักษาโรคเรื้อน โดยนำใบมาตำให้ละเอียด ใส่ด่างทับทิมและน้ำพอประมาณ แล้วนำมาปิดบริเวณที่เป็นแผล (ใบ)
  36. ชาวกัมพูชาจะใช้ใบเป็นยาพอกแก้หิด (ใบ)
  37. ใบใช้ผสมในน้ำอาบสมุนไพรหลังคลอด ช่วยบำรุงผิวหนังให้ชุ่มชื้น และช่วยแก้หิด (ใบ)
  38. รากใช้ต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้บวม แก้อาการปวดข้อ รวมถึงแผลฟกช้ำ (ราก)ส่วนใบให้นำมาบดเป็นผงละเอียดผสมกับเหล้า ใช้พอกหรือทาเป็นยาแก้ปวดข้อ แก้บวม แก้ปวดหลัง ปวดเอว (ใบ) ตำรับยาแก้บวมเจ็บ ปวดข้อ อีกวิธีหนึ่งระบุให้ใช้ใบหรือยอดอ่อนสด ใบละหุ่งสด รากว่านน้ำเล็กสด (Acorus gramineus Soland.) อย่างละเท่ากัน พอประมาณ นำมาต้มเอาน้ำใช้ชะล้างบริเวณที่เป็น (ใบ) ตำรับยาแก้ปวดข้อ ไขข้ออักเสบเนื่องจากลมชื้น ให้ใช้รากหนาด 30 กรัม, เถาหีบลมเทศ 30 กรัม, เหลี่ยงเมี่ยนเจิน 6 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกิน หรือใช้ดองกับเหล้ากินก็ได้ (ราก) ส่วนใบก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคไขข้ออักเสบเช่นกัน (ใบ)
  39. รากและใบใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดข้ออันเนื่องมาจากลมชื้น แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายหลังจากคลอดบุตรของสตรี (รากและใบ)รากใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดเมื่อยหลังการคลอดบุตร (ราก)
  40. ช่วยแก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อ (ใบ)
  41. แก้ปวดเอ็นและกระดูก (ใบ)
  42. การแพทย์แผนไทยจะใช้ใบหนาดในสูตรยาอบสมุนไพร ซึ่งมีสรรพคุณแก้โรคผิวหนังพุพอง น้ำเหลืองเสีย โดยตัวอย่างสมุนไพรแห้งที่นำมาใช้ในการอบ ได้แก่ ใบหนาด ใบมะกรูด ใบมะขาม ใบส้มป่อย ใบพลับพลึง ยอดผักบุ้ง การบูร ขมิ้นชั้น ต้นตะไคร้ และหัวไพล โดยเป็นสูตรช่วยบำรุงผิวพรรณ บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย วิงเวียนศีรษะ และช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต (ใบ)

วิธีการใช้ : การใช้ตาม  ส่วนของราก ให้ใช้รากสดประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน ส่วนใบและยอดอ่อนให้ใช้แบบแห้งครั้งละประมาณ 10-18 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน ส่วนการใช้ตาม ใบและราก ให้ใช้แบบแห้ง ครั้งละ 20-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน ถ้าใช้ภายนอกให้ใช้ยาสดตำพอกแผลหรือต้มเอาน้ำล้างแผลตามที่ต้องการ

ขอขอบคุณที่มาจาก : medthai.com

แสดงความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่