มือชา เท้าชา บ่อยๆ อย่าคิดว่าไม่เป็นอะไร อาการนี้บ่งบอกความผิดปกติที่ต้องรีบพบหมอ
วันนี้มีอาการ ความผิดปกติเกี่ยวกับมือชา เท้าชา เพื่อมาบอกต่อกับเพื่อนๆ จะเป็นอย่างไร มาดูกัน อาการ “เหน็บชา” เป็นอาการที่พบได้บ่อยและมีอยู่หลายแบบ บางครั้งก็เป็นอาการชาเป็นครั้งคราวจากการนั่งหรือนอนผิดท่า เผลอทับแขนหรือทับขาตัวเองจนทำให้เลือดลมเดินไม่สะดวก เช่น เป็นเหน็บชาบริเวณเท้าขณะนั่งพับเพียบไหว้พระ เป็นต้น แต่แค่เปลี่ยนท่าทางชั่วครู่ก็หายได้
ดังนั้น หากเรารับรู้ถึงลักษณะของอาการชาประเภทต่างๆที่ผิดปกติหรือไม่ผิดปกติ ก็จะช่วยให้เราสามารถวินิจฉัยโรคของตัวเองได้ในเบื้องต้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาก็จะได้ไม่ตกใจหรือชะล่าใจจนเกินเหตุ มาเริ่มสังเกตกันดีกว่าว่า “อาการชาแบบไหนและบริเวณไหน ที่ต้องระวัง!” ตามมาดูกันค่ะ
1. ชาปลายเท้าและปลายมือเข้าหาลำตัว
เกิดจากปลายประสาทอักเสบหรือเสื่อม อาจเกิดจาก ขาดวิตามินบี 1 บี 6 หรือ บี 12 จากโรค เช่น โรคไต มะเร็ง และจากยาหรือสารพิษ เป็นต้น
2. ชามือ (แต่เท้าไม่ชา)
ชาปลายนิ้วมือเกือบทุกนิ้ว แต่นิ้วก้อยไม่ชาหรือชาน้อย มักเป็นกลางคืนหรือตอนตื่นนอน ในตอนกลางวันมักชามากในบางท่า เช่น ชูมือ ขี่มอเตอร์ไซค์ ถือโทรศัพท์ หรือใช้มือทำงานหนัก สาเหตุเกิดจากเอ็นกดทับเส้นประสาทตรงข้อมือ ต้องลดงานที่ใช้มือลง เลี่ยงท่าที่ทำให้ชา บางคนอาจต้องฉีดยาที่ข้อมือ
ชานิ้วก้อย นิ้วนาง และขอบมือด้านเดียวกัน แต่ไม่เลยเกินข้อมือ เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับตรงข้อศอก ให้เลี่ยงท่าที่ทำให้ชา (ถ้าชาเลยข้อมือขึ้นมาถึงศอก จะเกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณกระดูกไหปลาร้า ควรปรึกษาแพทย์)
ชาหลังมือไม่เกินข้อมือ โดยเฉพาะบริเวณง่ามระหว่างนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับที่ต้นแขน ห้ามนั่งเอาแขนพาดพนักเก้าอี้ (แต่ถ้าชาเลยขึ้นมาถึงแขน เกิดจากเส้นประสาทบาดเจ็บบริเวณรักแร้)
ชาเป็นแถบตั้งแต่แขนลงไปถึงนิ้วมือ เกิดจากกระดูกต้นคอเสื่อมกดทับเส้นประสาท ควรปรึกษาแพทย์
3. ชาเท้า (แต่มือไม่ชา)
ชาหลังเท้าขึ้นมาถึงหน้าแข้ง เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณใต้เข่าด้านนอก ให้เลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง ขัดสมาธิ พับเพียบ และห้ามใช้อะไรรองใต้ข้อพับเข่าเวลานอน
ชาฝ่าเท้า เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับที่ตาตุ่มด้านในหรือในอุ้งเท้า ให้เลี่ยงท่าที่ทำให้ชาและลดการยืนหรือเดินนานๆ
ชาทั้งเท้า (ข้างใดข้างหนึ่ง) มักชาขึ้นมาถึงใต้เข่า เกิดจากเส้นประสาทบาดเจ็บที่สะโพก ควรปรึกษาแพทย์
ชาด้านนอกของต้นขา คล้ายยืนล้วงกระเป๋ากางเกง เส้นประสาทจะถูกกดทับที่ขาหนีบ ควรหลีกเลี่ยงการงอพับบริเวณสะโพก
ชาเป็นแถบจากสะโพกลงไปถึงเท้า เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท ควรปรึกษาแพทย์
4. อาการชาอื่นๆ ที่ควรปรึกษาแพทย์
เช่น ชาครึ่งซีก (ซ้ายหรือขวา) ชาครึ่งตัว(บนหรือล่าง) ชาบริเวณใบหน้าและศีรษะ หรือชาเป็นแถบบริเวณอื่นๆ
การทราบรูปแบบของอาการชาหลายๆ ลักษณะเช่นนี้ จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่านได้ หากเมื่อใดมีอาการแล้วของให้ตั้งสติ และลองสังเกตตำแหน่งของอาการชาให้อย่างชัดเจนและถูกต้อง อย่างน้อยก็ต้องรับรู้ได้ว่าปวดหรือรู้สึกชาที่ตำแหน่งไหน เพราะจะช่วยให้สามารถวินิจฉัยและรักษาอาการป่วยได้อย่างถูกต้อง แพทย์ก็จะทราบรายละเอียดและทำการผ่าตัดได้อย่างดี ผู้ป่วยอย่างพวกคุณก็จะได้หายจากอาการป่วยได้ในที่สุดนั่นเอง
ที่มา : siamhealth