แชร์เก็บไว้เลย แจกสูตรปลูกผักอินทรีย์ ผักปลอดสาร ตัดขายได้ทั้งปี รายได้ดี
การปลูกผักอินทรีย์ ให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานนั้นไม่ใช้เรื่องง่าย จะเห็นได้จากเกษตรกรหลายต่อหลายคนที่เคยหันมาปลูก ผักอินทรีย์ ด้วยแรงจูงใจเรื่องราคาผลผลิตที่สามารถขายได้ค่อนข้างสูง แต่ด้วยกระบวนการผลิต การจัดการที่ค่อนข้างยุ่งยากทั้งเรื่องของโรคและแมลงที่เข้าทำลาย ทำให้เกษตรกรหลายรายต่างถอดใจ ท้อแท้และเลิก ปลูกผักอินทรีย์ ไปในที่สุด นี่คือความยากของการผลิต ผักอินทรีย์ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
แต่วันนี้ยังมีเกษตรกรผู้ที่รักในอาชีพการ “ ปลูกผักอินทรีย์ ” ที่ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคที่เข้ามา และเธอได้ต่อสู้กับอุปสรรคเหล่านั้นมาจนสามารถเอาชนะใจตัวเอง แก้ไขปัญหาโรคและแมลงต่างๆที่เกิดขึ้นในแปลงผักอินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จนกระทั่งสามารถ ปลูกผักอินทรีย์ คุณภาพสูงป้อนให้ร้านค้าชั้นนำได้อย่างต่อเนื่องนานกว่า 10 ปี พร้อมกันนี้ยังได้เปิดสวน ผักอินทรีย์ ของตนเองให้เป็น “แปลงสาธิต” ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวและเส้นทางในการผลิต ผักอินทรีย์ ให้กับผู้ที่สนใจได้รับทราบและสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอาชีพตนเองได้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้น ที่สำคัญเธอยังมุ่งหวังให้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อการผลิต ผักอินทรีย์ มากขึ้น เพื่อผลิตผักคุณภาพออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง
เกษตรกรคนเก่งท่านนี้คือ คุณนารี พูลสวัสดิ์ หรือ พี่นารี เกษตรกรรุ่นใหม่ที่ ต.บางแม่นาง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ที่ได้ทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจเพื่อ ปลูกผักอินทรีย์ เชิงการค้าแทนการปลูกผักเคมีมานานกว่า 10 ปี บนเนื้อที่ 7 ไร่ เป็นผลผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคอย่างแท้จริง
“เมื่อก่อนที่ปลูกแบบเคมีก็ขายดี เราปลูกเอง ส่งเอง ไปขายเองด้วยที่ตลาดไท แต่มาตอนหลังๆสุขภาพเริ่มไปไม่ไหวเพราะต้องสูดดมสารเคมีตลอดเวลาเพราะทุกครั้งที่ต้องฉีดพ่นผักแล้วก็เกิดการสะสมที่ตัวเรา จนทำให้เราเกือบเป็นลมและเกือบเอาชีวิตไม่รอด ตั้งแต่นั้นมาเราเลยตัดสินใจจะเลิก ปลูกผัก ที่ใช้สารเคมีแล้วหันมาปลูกแบบอินทรีย์แทน”
คุณนารีให้เหตุผลนอกจากเรื่องของสุขภาพที่เป็นจุดเปลี่ยนในการ ปลูกผักอินทรีย์ แล้วยังมีองค์ประกอบในเรื่องของครอบครัวด้วยและเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะแต่ก่อนที่ ปลูกผัก เคมีขาย คุณนารีต้องนำผักไปขายส่งที่ตลาดทุกวันในช่วงเช้ากว่าจะได้กลับมาบ้านก็มืดค่ำแล้ว
ทำให้ไม่มีเวลาอยู่กับลูกๆเท่าที่ควร ไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ลูก “เรียกว่าตอนแรกเราเลี้ยงลูกด้วยเงินเลยละ เพราะเราต้องออกไปขายผักแต่เช้ากว่าจะกลับลูกก็นอนพอดี ถ้าเรายังเลี้ยงลูกแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆเค้าก็จะออกห่างเราไปเรื่อยๆ”
จังหวัดนนทบุรีส่งเสริม ปลูกผักอินทรีย์
พอดีช่วงนั้นทางจังหวัดนนทบุรีได้เข้ามาส่งเสริมในเรื่องของการ ปลูกผักอินทรีย์เราเลยตัดสินใจเข้าไปร่วมโครงการเพราะนอกจากเราจะหันมา ปลูกผัก โดยไม่ใช้สารเคมีที่ปลอดภัยต่อตัวเองแล้วเรายังมีเวลาอยู่กับลูกๆดูแลเอาใจใส่เขาได้ด้วยเพราะเราเน้นขายผักอยู่กับบ้าน ไม่ต้องออกไปขายผักที่ไหนแล้ว คุณนารีเล่าถึงจุดเปลี่ยนในการหันมาปลูกผักอินทรีย์ในปัจจุบัน
จุดเริ่มต้นในการ ปลูกผัก อินทรีย์ได้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยจังหวัดนนทบุรีได้เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรในแต่ละหมู่บ้านหันมาปลูกพืชผักอินทรีย์จำหน่าย ซึ่งในช่วงแรกได้มีการจัดอบรมให้ความรู้เกษตรกรในการ ปลูกผักอินทรีย์ เพื่อการส่งออกที่ถูกต้อง
ภายใต้การรวมกลุ่มในชุมชนได้มากกว่า 30 คนที่หมู่บ้านบางแม่นางโดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นประธานกลุ่มฯ แต่เนื่องจากการผลิตผักอินทรีย์นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและเกษตรกรยังไม่มีประสบการณ์มาก่อน อีกทั้งเกษตรกรต้องมีความรู้ความเข้าใจ ดูแลเอาใจใส่อย่างต่อเนื่อง
ในช่วงแรกการผลิตผักอินทรีย์ของกลุ่มบ้านบางแม่นางนั้นได้ส่งผลผลิตขายให้กับโครงการหลวงดอยคำและส่งผักอินทรีย์บางส่วนให้กับผู้ส่งออกเพื่อส่งไปขายยังต่างประเทศด้วย แต่เนื่องด้วยผลผลิตของกลุ่ม
ในช่วงนั้นได้มีสมาชิกที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้บริโภคได้แอบนำผักเคมีจากข้างนอกเข้ามาปะปนกับผลผลิตของกลุ่ม เมื่อผู้ส่งออกได้สุ่มตรวจสอบผลผลิตทำให้พบสารตกค้างในผักที่ส่งไปทำให้โครงการหลวงดอยคำยกเลิกการสั่งซื้อผักอินทรีย์ของหมู่บ้านบางแม่นางทั้งหมด
และยกเลิกสัญญาซื้อขายทำให้ผลผลิตไม่สามารถส่งออกได้ เมื่อส่งผักไปขายให้กับพ่อค้าในประเทศก็ไม่มีคนซื้อเพราะผักอินทรีย์จะมีผิวหรือขนาดต้นไม่สวยเหมือนผักเคมี จนกระทั่งเหลือสมาชิกเพียงคนเดียวคือคุณนารีกับประธานกลุ่มเท่านั้น
แหล่งเงินทุนตั้งต้น อาชีพปลูกผักอินทรีย์
คุณนารีจึงได้ปรึกษากับผู้ใหญ่บ้านเพื่อหาแนวทางและทางออกจนได้มาพบ “คุณตุ๋ม” ตัวแทนจาก โครงการเกษตรอินทรีย์บ้านแสนรักษ์ ที่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือและให้กำลังใจเพื่อให้คุณนารีเดินหน้าต่อเรื่องผักอินทรีย์พร้อมกับหาตลาดเพื่อจัดส่งผักอินทรีย์
จนกระทั่งพบกับผู้ส่งออก ที่มีตลาดต่างประเทศเข้ามารับซื้อผลผลิตที่คุณนารีผลิตได้ทั้งหมดโดยให้เงินเรามาใช้หนี้ค่าปุ๋ยยาที่ติดเขาไว้กว่า 200,000 บาท เมื่อปลูกผักได้ก็ค่อยหักทุนคืนจากเราแบบ 70:30 คือให้เราไว้ 70% และเขาก็ทยอยหักเงินคืนจากเรา 30% ทุกครั้งที่ขายผักให้เขาไป ทำให้เรามีทุนในการปลูกผักต่อได้และสามารถปลูกผักจนใช้หนี้เขาหมดภายใน 2 ปีเท่านั้น
โดยคุณนารีจะเน้นปลูกผักอินทรีย์ประเภทผักใบเป็นหลัก เช่น ผักบุ้งจีน ผักขมแก้ว ผักขมแดง ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า ผักกาดขาว ปวยเล้ง เป็นต้น แต่ในช่วงแรกจะมีมะเขือเปราะและถั่วฝักยาวด้วย แต่ด้วยการจัดการให้ได้ผลผลิตตรงตามมาตรฐานนั้นค่อนข้างยาก อีกทั้งแรงงานในแปลงผักเองยังไม่เก่งเท่าที่ควรจึงได้ยกเลิกการปลูกไปและเน้นปลูกผักใบให้ได้คุณภาพเป็นหลักก่อน
ตลาดในและนอก วิ่งมารับหน้าสวน
ตลาดผักอินทรีย์ตอนนี้กระแสกำลังมา คนรักสุขภาพมากขึ้น ตลาดกว้างมากขึ้น ขอเพียงแค่เกษตรกรทำผักให้ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการจากนั้นตลาดก็จะวิ่งหาเราเอง อีกอย่างเราควรจะผลักดันผักอินทรีย์ให้มีขายในท้องตลาดทั่วไป
คุณนารีอธิบายพร้อมกับย้ำว่าปัจจุบันนี้แปลงผักอินทรีย์ทั้งหมด 7 ไร่ได้มีการปลูกผักแบบผสมผสานทั้ง คะน้า กวางตุ้ง ผักขมแก้ว,ขมแดง ผักบุ้ง ผักปวยเล้ง ผักกาดหอม ผักกาดขาวเป็นหลัก แต่ผักใบที่เน้นปลูกมากที่สุดคือ ผักบุ้ง กวางตุ้ง และคะน้า เพราะเป็นผักที่ตลาดต้องการมากที่สุด
โดยคุณนารีจะมีกำหนดในการเก็บผลผลิตทุกวันจันทร์ วันพุธและวันศุกร์ตามออเดอร์ที่สั่งมา ต่อมาได้ลดลงให้เหลือเพียงวันพุธและวันศุกร์เท่านั้น เนื่องจากบริหารจัดการไม่ทันกับความต้องการเพราะแรงงานมีส่วนสำคัญในการเก็บเกี่ยวผลผลิต
ทำให้ที่แปลงผักอินทรีย์แห่งนี้จะมีแรงงานประจำอยู่ทั้งหมด 4 คน บวกกับคุณนารีและพ่อบ้านรวมเป็น 6 คน ที่ต้องทำงานให้สอดคล้องกันเพื่อให้มีผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าประมาณ 100 กิโลกรัม/วัน
โดยมีการขายผักอินทรีย์ทุกชนิดให้ตามราคาที่ได้ตกลงกันไว้ คือ กิโลกรัมละ 40 บาท ทุกชนิด ยกเว้นผักปวยเล้งที่มีราคาอยู่ขายผลผลิตที่ 60 บาท/กิโลกรัม ดังนั้นการผลิตผักอินทรีย์เมื่อเทียบกับผักตลาดทั่วไปแล้วจะเห็นว่าผักอินทรีย์นั้นมีราคาสูงกว่ามาก
ด้วยการจัดการผลผลิตที่ยากกว่า ทำให้ผักอินทรีย์มีราคาที่สูงกว่านั่นเอง นำมาซึ่งรายได้ที่ดีเพื่อเลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบาย การปลูกผักอินทรีย์ที่มีคุณภาพทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้จริงๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการปลูกผักต้องดูแลจัดการตลอดเพราะเป็นผักใบที่มีอายุการเก็บเกี่ยวที่สั้น
ทำให้การดูแลมากขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่เชื่อว่าการทำงานทุกอย่าง ทุกอาชีพหากมีใจรักในสิ่งที่ทำแล้วจะทำให้ทำทุกอย่างออกมาได้ดีที่สุด มีความสุขกับสิ่งที่ทำ รักในสิ่งที่ทำ ดูแลเอาใจด้วยใจ มีเวลาดูแลผักให้ดี เพียงเท่านั้นผักก็จะตอบแทนเกษตรกรกลับคืนมาด้วยผลผลิตที่ดีเช่นเดียวกัน
นอกจากตลาดต่างประเทศแล้วคุณนารีและคุณตุ๋มยังไม่ได้หยุดการหาตลาดไว้เพียงแค่นั้น แต่ยังคงแสวงหาตลาดรับซื้อใหม่ๆเพื่อรองรับผลผลิตผักอินทรีย์ จนกระทั่งได้เปิดตลาดเพิ่มขึ้นด้วยการส่งผลผลิตให้กับ “เลม่อนฟาร์ม” ที่เริ่มต้นจากการส่งผลผลิตให้เพียง 2 สาขาในช่วงแรก แต่ด้วยคุณภาพของผลผลิตที่ดี ได้มาตรฐาน ทำคุณภาพได้อย่างสม่ำเสมอจึงได้ขยายสาขาในการส่งผลผลิตออกไปเป็น 13 สาขาในปัจจุบันนี้
การใช้เรือเล็กในการรดน้ำผักในแปลง
ด้านจัดการสวนผักอินทรีย์ของคุณนารีที่ได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทยแลนด์นั้นมีขั้นตอนการผลิตตั้งแต่การ “ปรับพื้นที่แปลงผักอินทรีย์ในระบบร่อง” ที่ต้องทำการยกโคกให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำได้ดี
ฉะนั้นเวลาที่ฝนตกลงมามากหากระดับน้ำสูงเกินก็ต้องทำการวิดน้ำออกเพื่อไม่ให้น้ำท่วมแปลงผักหรือช่วงน้ำแห้งเกินไปก็ต้องมีการสูบน้ำเข้าแปลงผักได้อย่างสะดวกเพื่อให้การจัดการแปลงผักเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพป้อนตลาดอย่างต่อเนื่อง จึงต้องทำการขุดบ่อพักน้ำเอาไว้ในพื้นที่ด้วย
ด้านการ “ให้น้ำ” เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตนั้นคุณนารีจะเน้นเรื่องของการให้น้ำเป็นหลัก โดยจะเน้นการให้น้ำกับแปลงผักทุกวันเช้า-เย็นเพื่อให้ต้นผักสมบูรณ์ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพอากาศแต่ละช่วงเป็นหลัก
รวมไปถึงการฉีดพ่น “ปุ๋ยปลาหมัก” ซึ่งเป็นปุ๋ยชีวภาพที่ผลิตขึ้นใช้เองเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง
การเตรียมดินปลูก ผักอินทรีย์
หลังจากที่ปรับพื้นที่แล้วจะทำการไถพรวนดินและตากดินให้แห้งขึ้นอยู่กับฤดูกาลเป็นหลักอย่างในช่วงหน้าแล้ง แดดดี ความร้อนสูงจะตากดินไว้ประมาณ 10 – 15 วัน เพื่อให้เชื้อโรคหรือแมลงที่อยู่ในดินตายหมดก่อน เมื่อหว่านเมล็ดพันธุ์ลงไปในแปลงแล้วแมลงพวกนี้จะไม่ขึ้นมาทำลายผลผลิตได้
เมื่อตากดินเรียบร้อยแล้วจะต้องใส่ปุ๋ยรองพื้นที่เป็นอินทรีย์ เพื่อให้ดินมีธาตุอาหารสะสมไว้มากพอในช่วงที่ผักออกราก ต่อมาจะ “หว่านเมล็ดพันธุ์ผัก” ลงไปในแปลง เมื่อผักเริ่มงอกขึ้นมาเป็น “ใบอ่อน” ช่วงนี้แมลงจะบินเข้ามากัดกินผักให้เสียหายได้
จึงต้องเน้นดูแลผักใบอ่อนด้วยการเพาะไส้เดือนฝอยขึ้นมาใช้เองเพื่อช่วยควบคุมแมลงได้หรือสามารถฉีดพ่นไส้เดือนฝอยได้ตั้งแต่ช่วงหว่านเมล็ดไปจนถึงใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพื่อป้องกันหนอนและแมลงที่อาศัยอยู่ตามพื้นดินเข้าทำลายผลผลิต
การป้องกันโรคและแมลง
เมื่อผักใบทุกชนิดเริ่มเจริญเติบโตขึ้นมาจะมีการบำรุงรักษาด้วยชีวภัณฑ์คุณภาพสูงให้เหมาะสมกับโรคและแมลงที่มักจะระบาดในแปลงผักทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นการฉีดพ่นเพื่อบำรุงและป้องกันเอาไว้ก่อน เน้นใช้ในปริมาณน้อยแต่ฉีดพ่นบ่อยๆจนกระทั่งสามารถใช้ชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพขึ้นใช้เองให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยลดขั้นตอนการดูแลรักษา ประหยัดต้นทุนการผลิตลงไปได้เป็นจำนวนมาก เพราะหัวใจของการปลูกพืชอยู่ที่การเตรียมแปลงที่ดี การจัดการที่ดีที่มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว
โดยเฉพาะการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชผักจำพวกหนอนที่เข้าทำลายกัดกินใบผักจะเน้นใช้น้ำส้มควันไม้ฉีดพ่นเพื่อป้องกันก่อน ต่อมาจะใช้ชีวภัณฑ์ประสิทธิภาพสูงอย่าง “บาซิลลัส ทูริงเยนซิส” ในการควบคุมหนอนผีเสื้อทุกวัยทั้งหนอนกินใบ หนอนใยผัก หนอนม้วนใบ หนอนกระทู้
และ “บูเวเรีย บัสเซียน่า” ในการควบคุมเพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ไรแดง หนอนชอนใบ ในอัตรา 50 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 – 10 วัน ต่อมาจะใช้ชีวภัณฑ์คุณภาพอย่าง “ฟอร์แทรน” หรือ “เมทาไรเซียม แอนนิโซเพลีย” ของ ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ ผู้นำด้านเกษตรปลอดสารพิษครบวงจร
ในการควบคุมเพลี้ยจักจั่น ปลวก ไรแดง หนอนเจาะลำต้น ตั๊กแตน เต่าแตง ค่อมทอง ได้เป็นอย่างดี โดยมีอัตราการใช้ 80 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 – 10 วัน
อีกทั้งยังมีการใช้น้ำหมักชีวภาพจากเปลือกมังคุดร่วมกับ พด.2 และ พด.7 ฉีดพ่นป้องกันเชื้อราในผักได้เป็นอย่างดีโดยจะฉีดพ่นตามสถานการณ์เป็นหลัก หากช่วงไหนมีแมลงเข้าทำลายมากก็จะฉีดพ่นบ่อยขึ้น
ขั้นตอนการล้างผักอินทรีย์ ก่อนส่งโรงแพ็ค GMP
เมื่อผักใบของคุณนารีครบกำหนดเก็บเกี่ยวผลผลิตก็จะใช้เสียมเล็กๆในการขุดต้นผักขึ้นมา ก่อนจะล้างน้ำเพื่อเอาดินออกเพียง 1 รอบ ก่อนจะทิ้งผักใบพักไว้ให้เสด็จน้ำ หลังจากที่เก็บผักใบในแปลงจนเสร็จและครบตามกำหนดของลูกค้าตามออเดอร์ที่สั่งซื้อผักใบแต่ละชนิดจนครบทั้งหมดแล้ว
ก็จะทำการล้างและทำความสะอาดผักใบอีก 1 รอบ จากนั้นจะใส่ตะกร้าเพื่อเตรียมส่งมอบให้กับลูกค้าเพื่อนำผลผลิตเข้าสู่โรงแพ็คก่อนจะส่งขายผลผลิตให้กับลูกค้าอีกทอดหนึ่ง เราล้างผักเสร็จ เราต้องส่งผักไปที่โรงแพ็คก่อนเพราะการแพ็คก็ต้องมีมาตรฐาน GMP รองรับด้วย
เราจึงจำเป็นต้องทำสินค้าของเราให้ดี มีคุณภาพ คนที่รับซื้อผลผลิตก็พอใจในสินค้าของเรา เขาก็จะเป็นคู่ค้ากับเรานานๆ แต่ถ้าเราทำสินค้าแบบมักง่ายใครที่ไหนจะมาทำการค้ากับเรานานๆ เพราะสมัยนี้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพเท่านั้นถึงจะอยู่ได้
ดังนั้นการผลิตผักใบอินทรีย์ของที่นี่จึงจำเป็นต้องได้มาตรฐาน มีคุณภาพทุกล็อต” คุณนารีกล่าวถึงการผลิตผักอินทรีย์ให้ตรงตามมาตรฐาน “เกษตรอินทรีย์ไทยแลนด์” ภายใต้การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบในทุกขั้นตอนการผลิตที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคเพื่อให้ทราบถึงที่มาของการผลิตที่แท้จริง
การวางแผน ปลูกผัก อินทรีย์แบบผสมผสาน เก็บขายทั้งปี
ที่สำคัญคุณนารีจะเน้นการปลูกผักอินทรีย์แบบผสมผสานจะไม่เลือกปลูกผักเชิงเดี่ยวเพื่อป้องกันสินค้าล้นตลาดและยังมีปริมาณการปลูกผักแต่ละชนิดไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับออเดอร์ที่มีการสั่งซื้อมาในแต่ละช่วงเป็นหลัก
โดยการปลูกผักในแต่ละรอบ แต่ละฤดูกาล จะเน้นปลูกผักอย่างน้อย 2-8 ชนิดขึ้นไป ซึ่งการปลูกผักทุกครั้ง ทุกชนิด จะมีการคำนวณวันเก็บเกี่ยวผลผลิตเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปีโดยที่ผักไม่ขาดตลาด
เราต้องมีการวางแผนว่าวันนี้จะปลูกอะไร กี่วันเก็บได้ หลังจากปลูกชุดแรกแล้วกี่วันเราถึงจะปลูกชุดที่ 2 ได้ เราต้องวางแผนไว้ทุกอย่าง เพื่อให้ผลผลิตออกสู่ตลาดทันกับออเดอร์ที่สั่งซื้อเข้ามา เราก็จะไม่เสียลูกค้าไป ฉะนั้นการวางแผนดีทุกอย่างไว้จะดีที่สุด
คุณนารียืนยันถึงการทำงานอย่างระบบและวางแผนการปลูกให้มีประสิทธิภาพ พร้อมกับเน้นย้ำว่า การปลูกผักอินทรีย์เราได้อะไรหลายอย่าง ได้สุขภาพตัวเราเอง ผู้บริโภคมีสุขภาพดี ได้ทานผลผลิตที่ปลอดภัย เทียบกับเมื่อก่อนที่ปลูกผักเคมีเราจะไม่กินผักตนเองเลยเพราะเราเป็นคนปลูก
เรารู้ว่าเราใส่อะไรลงไปบ้าง เกษตรกรปลูกผักทุกคนจะรู้ดี เพราะเราปลูกผักเราจะฉีดยาช่วงเย็น พอตอนเช้ามาก็ตัดขายแล้ว ยาที่ฉีดพ่นไปยังไม่ทันละลายหายไปไหนหรอก เพราะตลาดชอบผักที่สวยๆ เหี่ยวช้า เก็บไว้ได้นานๆ เมื่อตลาดต้องการแบบนี้ เราก็ต้องปลูกแบบนี้
เพราะเราขายผลผลิตให้กับตลาด แต่พอร่างกายเราไม่ไหว เราก็ต้องมาคิดปรับเปลี่ยนวิธีการทำผักไม่เช่นนั้นเราคงอยู่ดูลูกเจริญเติบโตไม่ได้และจะตายซะก่อนแน่ๆ เพราะเราสูดดมสารเคมีอยู่ทุกวัน พอเปลี่ยนมาทำอินทรีย์สุขภาพก็ดีขึ้น คุณภาพผักดีขึ้น
ศูนย์เรียนฯเพื่อการศึกษา แปลงสาธิตการผลิตผักอินทรีย์ “บ้านแสนรักษ์”
นอกจากนี้คุณนารียังได้ยกระดับแปลงผักแห่งนี้ให้เป็นศูนย์เรียนฯเพื่อการศึกษาดูงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการผลิตผักอินทรีย์ในนาม “แปลงสาธิตการผลิตผักอินทรีย์” ภายใต้โครงการเกษตรอินทรีย์ “บ้านแสนรักษ์” เพื่อต้องการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมาให้กับทุกคนที่สนใจ
เรื่องการผลิตผักอินทรีย์ทั้งเกษตรกรทั่วไป นักเรียน และนักศึกษาต่างๆ ที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้วิธีการปลูกผักอินทรีย์เพื่อเป็นความรู้สืบทอดการทำเกษตรที่ดีและถูกต้องให้กับคนรุ่นหลังซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคตและไม่อยากให้องค์ความรู้ที่มีตายไปกับตนเอง
“ เราตายไปก็ไม่รู้จะมีใครมาสานต่อไหม ดังนั้นวิชาความรู้ที่เรามีก็จะคอยบอก คอยสอนคนที่เค้าสนใจที่อยากจะปลูกผักอินทรีย์จริงๆ เราจะบอกคนที่มาเรียนทุกคนว่า ถ้าจะทำผักอินทรีย์อย่าเอาเรื่องของตัวเงินมาเป็นที่ตั้ง แต่ต้องเอาผลผลิตมาเป็นที่ตั้ง เพราะถ้าเอาเงินเป็นที่ตั้งเกษตรกรก็จะทำผักที่เน้นขายแล้วได้เงินดี ได้เงินง่าย ก็จะไม่สนใจเรื่องคุณภาพของผลผลิต ฉะนั้นจะต้องเอาผลผลิตเป็นที่ตั้ง ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องทำผลผลิตให้ได้คุณภาพ ทำผลผลิตให้ได้มาตรฐาน เมื่อผลผลิตดี มีมาตรฐาน ตลาดก็จะวิ่งเข้าหา แล้วราคาผลผลิตก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย”
วันนี้คุณนารีจึงเป็นเกษตรกรต้นแบบที่น่ารัก น่าชื่นชม เป็นอย่างมากอีกท่านหนึ่งที่ทุ่มเทและเสียสละเวลาเพื่อให้ความรู้กับทุกคนที่สนใจเรื่องผักอินทรีย์ เน้นให้ความรู้โดยไม่ปิดบังเพื่อให้เกษตรกรนำไปปรับใช้เพื่อให้เกษตรกรประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับตนเอง
นอกจากนี้ยังได้รับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทเข้ามาฝึกงานที่แปลงผักแห่งนี้เพื่อเรียนรู้วิธีการจัดการแปลงผักอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพจนกระทั่งสำเร็จการศึกษากันไปหลายรุ่นแล้ว
จึงนับได้ว่าคุณนารีเป็น “อาจารย์ใหญ่” ที่มากด้วยองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านจัดการแปลงผักอินทรีย์ระดับประเทศอีกท่านหนึ่งของไทยและเป็น “เพชรน้ำงาม” ของวงการไทยอย่างแท้จริง !!!
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม คุณนารี พูลสวัสดิ์ 43/2 ต.บางแม่นาง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรีโทร.02-986-1680-2,084-555-4205-9 , 083-8856984
ขอขอบคุณข้อมูล บริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด ผู้นำด้านเกษตรปลอดสารพิษครบวงจรอันดับ 1 ของประเทศไทย www.thaigreenagro.com