7 นิสัยทำให้ยากจน ถึงแม้ว่าเงินเดือนจะสูงลิบก็ตาม
เราเคยเห็นแก่ตัวเองกันไหมว่าวันนี้เราใช้เงินเท่าไหร่แล้ว ให้คิดสัก 10 วินาที … เยอะใช่ไหม กับค่าใช้จ่ายต่างๆที่รู้สึกว่ามันไม่จำเป็นเลย ทั้งกาแฟแก้วละ 60-70 บาท น้ำขวดละ 10 บาท ลองดูแค่ 2 อย่างนี้ก่อนแล้วกัน กาแฟที่เราสามารถทำกินเองได้ที่บ้านนะ น้ำนี่เราสามารถกรอกเองที่บ้านก็ได้ เห็นไหมว่าบางสิ่งบางอย่างมันสามารถลดปริมาณการใช้เงินได้เยอะมากเลย เราคิดว่าหากเรากินกาแฟทุกวันตีไปซักวันละ 50 บาท เดือนนึงก็ 1500 บาทแล้ว ถ้าเราไม่กินข้างนอกเราก็สามารถลดปริมาณภาระค่าใช้จ่ายได้เยอะมาก นำเงินตรงนี้ไปเก็บออม สามารถเอาไปลงทุนหุ้นออมเงินต่างๆได้มากมายเลย ลองวิเคราะห์ดูสักเล็กน้อยนะสิ่งเหล่านี้มันสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ มันเป็นสิ่งที่หากได้ทำทุกวันแล้วมันจะติดเป็นนิสัย นิสัยคนรวยอ่ะ ลองไปดูนิสัยคนจนกัน 7 อย่างนี้คุณมีกี่ข้อ
1. พอได้เงินเดือนเพิ่ม ก็หาภาระมาใส่ตัว
เป็นรึเปล่าที่เมื่อพอเงินเดือนขึ้น ก็หาห้องเช่าใหม่ ดีกว่าเดิม แพงขึ้นอีกนิด พอสิ้นปีโบนัสออกพร้อมปรับเงินเดือน ก็เอาไปดาวน์รถคันที่แพงขึ้น
คนเราส่วนใหญ่จะคิดว่าเมื่อมีเงินก้อนจากโบนัส หรือเมื่อมีเงินเดือนเพิ่มขึ้น ก็รู้สึกว่าอยากจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็ใช้จ่ายมากขึ้น เข้าภัตตาคารบ่อยขึ้น ซื้อของแบรนด์ดังเกรดดีขึ้น ดังนั้น ไม่ว่าจะมีเงินเท่าไหร่ก็หมด
2. อยู่กับปัจจุบัน แต่ไม่มองอนาคต
หลายคนเวลาเจอปัญหาอะไร ยากๆ ก็ไม่อยากแก้ ปล่อยได้ปล่อยไป ถูไถไปวันๆ และนี่คือ “สูตรแห่งความหาย.นะ”เลย เพราะนิสัยนี้จะติดไปสู่เรื่องของ “การเงิน” ไปด้วย
บางทีอยากได้อะไรก็ซื้อๆ หมุนๆ ใช้เงินไปก่อน ตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน แต่ไม่ได้มองภาพใหญ่/ ภาพรวม มองไม่ออกว่าตอนนี้ “สถานะการเงิน” ของเราเป็นยังไง เรามีทรัพย์สินเท่าไหร่ หนี้สินเท่าไหร่ เงินสดเท่าไหร่ (ถ้าเป็นบริษัทก็คืองบดุล)
ไม่รู้ว่าทุกวันนี้รายได้น้อยกว่ารายจ่ายหรือเปล่า ชักเงินเก็บออกมาอุดทุกเดือนแล้วทำไม่รู้ไม่ชี้ (ถ้าเป็นบริษัทก็คืองบกำไรขาดทุน)
ไม่ว่าเราอายุเท่าไหร่ ต่อให้เพิ่งเรียนจบก็ตาม ต้องมองเห็นภาพแล้วว่า ตอนเกษียณ ตอนที่ไม่มีรายได้หรือไม่ได้ทำงาน เราต้องมีรายได้เท่าไหร่ (รายได้จากการลงทุน หรือรายได้จากการที่ไม่ต้องทำงานอีกแล้ว)
แล้วรายได้จะมาจากไหน ถ้าเป็นรายได้จากผลตอบแทนของการลงทุน ก็ต้องรู้ว่าเป็นการลงทุนประเภทไหน อัตราผลตอบแทนเท่าไหร่ ต้องมีเงินต้นหรือ Port ใหญ่แค่ไหน แล้วจากวันนี้ไปถึงวันนั้นจะสะสมเงินเพื่อสร้าง Port การลงทุนขนาดนั้นได้ยังไง !?
3. คิดว่าวันนี้ยังไม่ต้องรีบออมเงิน
คิดว่ายังไม่สาย อีกแปปค่อยเริ่มเก็บเงินก็ได้ เราอายุยังน้อย สนุกๆ ไปก่อน เดี๋ยวอีกสักพักค่อยเริ่มมองเรื่องการออมเงินหรือการลงทุน
นี่เป็นการที่คิดผิดถนัด และสิ่งที่หลายคนไม่รู้ก็คือ การเริ่มออมเร็วกว่าคนอื่นแค่ 5 ปี ตอนปลายทางคุณจะมีเงินเก็บต่างกันลิบลับ เพราะด้วยพลังของดอกเบี้ยทบต้น
ถึงแม้จะไม่ได้เป็นการเก็บออมเพื่อการลงทุน แต่นิสัยการออมก็เป็นสิ่งที่ดี ที่ถูกต้องคือถ้าเราอยากได้อะไร เราควรวางแผนตั้งเป้าออมเงินไว้ให้ได้เท่านั้นก่อนค่อยเอาไปซื้อ แบบนี้จะไม่มีภาระ
แต่ถึงแม้จะซื้อแบบผ่อน ก็สามารถทำให้หนี้นี้เป็นการผ่อนที่ฉลาดได้ เช่น ออมเงินก้อนไปลงทุน แล้วเอาดอกเบี้ยไปผ่อนชำระสินค้า เท่ากับได้ของฟรี และเงินต้นก็ยังอยู่
4. ไม่เคยจดบันทึกเรื่องการใช้เงิน
เราส่วนใหญ่มักจะคิดว่าเรารู้แล้ว ก็มีรายได้อยู่แหล่งเดียว (เงินเดือน) แล้วแต่ละเดือนก็มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เรื่องใหญ่ๆ ก็มีไม่กี่เรื่อง ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน/ ค่าห้อง ค่าน้ำ-ค่าไฟ ค่าอาหาร หลักๆ ก็แค่นี้ ไม่เห็นต้องจดบันทึกเลย หรือจะจำไปทำไม
ซึ่งนั่นคิดผิดถนัด เพราะบางทีเรื่องเล็กๆ หลายเรื่องรวมกันทำให้มีค่าใช้จ่ายที่ควรจะประหยัดได้ แต่ก็ไม่ได้ทำ (เพราะมันเล็กๆ น้อยๆ จนไม่รู้ตัว) แล้วสุดท้ายจะพบว่า “เงินไปไหนหมดเนี่ย” แต่ก็ตอบไม่ได้ แล้วจะประหยัดตรงไหนดี ก็ตอบไม่ได้เช่นกัน
5. แยกไม่ออกว่าอะไรจำเป็น อะไรแค่อยาก
แถมยังไม่มีเป้าหมายทางการเงินบางทีมันก็สับสนปนเป บางเรื่องเป็นแค่ความอยาก แต่คิดว่ามันเป็นเรื่องจำเป็น
เอ้อ…ช่วงนี้รถเสียบ่อย ‘จำเป็น’ ต้องเปลี่ยนแล้วหละ เอ้อ… มือถือรุ่นใหม่ออกมา ‘จำเป็น’ ต้องเปลี่ยนแล้วหละ
feature ใหม่ในนั้นจะทำให้เราทำงานคล่องตัวขึ้นแน่เลย (คิดไปเอง)
แล้วเป้าหมายทางการเงินล่ะ เกี่ยวอะไรกับข้อนี้ ก็เพราะบางทีคนส่วนใหญ่ไม่มีเป้าหมายทางการเงินกันไง ก็ทำให้ไม่มีอะไรฉุดรั้งความคิดเลยว่าเอ… อันนี้เอาไว้ก่อนดีกว่า เราต้องกันเงินอีกส่วนไว้ลงทุนเอ…อันนี้ยังไม่จำเป็น ยอมลงทุนซ่อมใหญ่ครั้งนึงแล้วใช้ไปได้อีกนานๆ ดีกว่า
เคล็ดลับของข้อนี้ก็คือ ถ้าเรามีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน เราจะสามารถอดเปรี้ยวไว้กินหวานได้ เราจะยับยั้งชั่งใจเป็น หลีกเลี่ยงและรอดพ้นจากความต้องการหรือความพึงพอใจระยะสั้นไปได้ เราจะยอมเสียสละบางอย่าง..เพราะมองเป็นเป้าที่อยู่ไกลๆ
เคล็ดลับของเคล็ดลับในการวางแผนการเงิน (และวางเป้าหมายในชีวิต) ก็คือ “เขียนมันลงบนกระดาษ” แล้วแปะไว้หน้ากระจกแต่งตัว หรือหน้าตู้เสื้อผ้า
เอาเป็นว่าแปะไว้ในที่ที่เราเห็นมันทุกวัน มันจะย้ำเตือน และตอกย้ำลงไปในจิตใต้สำนึกให้ร่างกายและสมองของเราตอบสนองต่อเฉพาะสิ่งที่จะนำพาไปสู่เป้าหมายนี้เท่านั้น
6. มีหนี้ไม่รีบใช้
ถือว่ายังผ่อนไหว หรือผ่อนไปตามระยะเวลาที่ตั้งไว้เคยลองสังเกตใบเสร็จรับเงินค่างวดผ่อนบ้านหรือเปล่า ว่าค่าดอกเบี้ยน่ะ..มันแพงกว่าเงินต้นซะอีก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นๆ ของการผ่อน)
และเกือบจะร้อยทั้งร้อย ตราบใดที่ยังมีเงินเดือนอยู่ ก็จะผ่อนชำระไปเรื่อยๆ เวลามีเงินก้อนมา เช่นโบนัส แทนที่จะเอาไปโปะ เอาไปปิด ก็เอาไปซื้อของฟุ้งเฟ้อซะแทน ปล่อยให้ดอกเบี้ยมันกัดกินอยู่นั่นแหละ ไม่สนใจ
7. อัพเกรดอุปกรณ์รอบกายตลอดเวลา
ผู้หญิงบางคน อุ๊ย..แฟชั่นใหม่ออกมาอีกแล้ว ต้องตาม !แบบนี้ไม่เหลือหรอก พนักงานใน office มือถือรุ่นใหม่ออกเป็นไม่ได้ ต้องขวนขวายไป “ถอย” มันมา
อ้างว่าชอบเทคโนโลยี ชอบศึกษาคุณต้องให้ความชอบของเรามันทำเงินได้บ้าง ไม่ใช่ให้ความชอบทำให้เสียเงินอย่างเดียว
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อันตรายมากเรื่องหนึ่งเลย เพราะทุกวันนี้การพัฒนาเทคโนโลยีทำได้เร็วมาก อุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ ออกรุ่นใหม่กันเป็นว่าเล่น มันเป็นความตั้งใจของผู้ผลิต / ผู้ขายที่จะมาดูดเงินออกไปจากกระเป๋าพวกเรา
ถ้าเราไม่ระมัดระวังละก็…กลับไปอ่านหัวข้อบทความอีกครั้ง… ก็จนอยู่ดี
REFERENCE : บทความของคุณธนกร ผู้ก่อตั้งตลาดปัญญา
ขอขอบคุณ : Money Buffalo