อย่าเลื่อนผ่าน 5 พฤติกรรมทำร้ายรถ อยากรอด อย่าทำแบบนี้!
1. ขับผ่านหลังเต่าโดยไม่ชะลอ
“Speed Hump” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลังเต่า” เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้ขับขี่ลดความเร็ว เนื่องจากเป็นที่ชุมชน หรือในที่ที่จำเป็นต้องขับอย่างระมัดระวัง แต่ก็มีผู้ขับขี่หลายคนขับผ่านหลังเต่าโดยไม่ชะลอความเร็วเท่าที่ควร (หรืออาจไม่แตะเบรกเลยด้วยซ้ำ) ซึ่งมีผลต่อระบบช่วงล่างโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นช็อคอัพ, สปริง, ลูกหมาก, ปีกนก, แร็ค, ยอยพวงมาลัย ฯลฯ ที่จะต้องรับแรงกระแทกมากกว่าที่ควรจะเป็นและ ยังรวมไปถึงขณะขับผ่านทางขรุขระ, ฝาท่อ, คอสะพาน ฯลฯ หากใช้ความเร็วเหมาะสมเคลื่อนผ่านสิ่งเหล่านี้ ก็จะช่วยยืดระยะเวลาการเปลี่ยนชิ้นส่วนช่วงล่างได้เป็นอย่าง
2. สตาร์ทรถไม่ปิดแอร์
แม้ว่ารถยนต์ในปัจจุบันจะตัดการทำงานของระบบไฟในรถ รวมถึงพัดลมแอร์ลงชั่วคราวขณะที่มีการสตาร์ทเครื่องยนต์ แต่การเปิดแอร์ทิ้งเอาไว้ จะทำให้คอมเพรสเซอร์แอร์เริ่มทำงานทันทีหลังจากเครื่องยนต์สตาร์ทติด ซึ่งเป็นช่วงที่รอบเครื่องยนต์พุ่งขึ้นสูง เนื่องจากต้องเพิ่มแรงดันน้ำมันไปหล่อเลี้ยงชิ้นส่วนต่างๆ ทำให้มีการกระชากของคอมเพรสเซอร์แอร์ ส่งผลให้มีอายุการใช้งานสั้นลง
3. จอดรถบนทางลาดชันเป็นประจำ
คนใช้รถเกียร์ออโต้จะทราบกันดีอยู่แล้วว่า การจอดรถบนทางลาดชันด้วยเกียร์ P จะทำให้รถไม่ไหล แต่รู้ไหมว่าชิ้นส่วนที่ต้องรับภาระน้ำหนักรถก็คือสลักล็อคเกียร์ชิ้นเล็กๆเท่านั้น จะสังเกตได้ว่าหากจอดรถบนทางชัน เมื่อดึงคันเกียร์จากตำแหน่ง P มาเป็นเกียร์ R จะมีเสียงดัง กึก ออกมาจากชุดเกียร์ ซึ่งเกิดจากการขัดกันของสลักอย่างรุนแรงนั่นเอง ทางที่ดีหากจำเป็นต้องจอดรถบนทางลาดชัน ให้จอดรถจนนิ่งสนิทเรียบร้อย แล้วจึงดึงเบรกมือขึ้นจนสุดก่อนเท้าจะปล่อยแป้นเบรก จากนั้นค่อยๆปล่อยเบรกเพื่อให้แน่ใจว่ารถไม่ไหลแล้ว จึงค่อยเหยียบเบรกอีกครั้งแล้วใส่เกียร์ P เป็นอันจบขั้นตอนบำรุงรักษาเกียร์แบบง่ายๆ ที่ควรทำให้เป็นนิสัย
4. เร่งเครื่องรุนแรงขณะเครื่องยนต์เย็น
โดยปกติแล้วหากเครื่องยนต์ดับลง น้ำมันเครื่องจะไหลลงไปรวมกันในอ่างน้ำมันเครื่องด้านล่าง ดังนั้น เมื่อสตาร์ทเครื่องยนต์ตอนเช้าๆ รอบเครื่องยนต์จะพุ่งขึ้นสูงกว่าปกติ เพื่อให้น้ำมันเครื่องขึ้นไปหล่อลื่นตามชิ้นส่วนต่างๆในห้องเครื่องได้อย่างทั่วถึง ดังนั้น หากเพิ่งสตาร์ทรถใหม่ๆ จึงไม่ควรเร่งเครื่องอย่างรุนแรงในทันที เพราะจะทำให้ชิ้นส่วนเครื่องยนต์สึกหรอเร็วกว่าปกติ
5. คิกดาวน์บ่อยพังทั้งเครื่องทั้งเกียร์
การ “คิกดาวน์” ก็คือการเพิ่มความเร็วด้วยการกดคันเร่งจนมีการทดอัตราเกียร์ต่ำลง (เช่น เกียร์ 4 ไปเกียร์ 3) ซึ่งจะช่วยเรียกพละกำลังของรถให้เพิ่มมากขึ้น ใช้สำหรับการเร่งแซง หรือจังหวะที่ต้องเพิ่มความเร็วแบบทันทีทันใด แต่บรรดาขาซิ่งใจร้อนที่ชอบคิกดาวน์บ่อยๆ รู้หรือไม่ว่านั่นทำให้เกียร์อัตโนมัติกลับบ้านเก่าเร็วกว่าปกติ เนื่องจากการคิกดาวน์จะทำให้มีการสลับเฟืองเกียร์ด้วยแรงบิดที่สูงกว่าปกติ ก่อให้เกิดอาการเกียร์กระชาก ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดความเสียหายต่อชุดเกียร์ได้มากขึ้น แม้แต่เกียร์ระบบ CVT ที่ใช้สายพานเป็นชุดขับเคลื่อนก็เช่นกัน ดังนั้น หากไม่จำเป็นก็ไม่ต้องคิดดาวน์บ่อยๆ แถมยังช่วยรักษาเครื่องยนต์และประหยัดน้ำมันขึ้นด้วย
แก้ไขสถานการณ์กรณีรถคันเร่งค้าง
ความบกพร่องของส่วนประกอบรถ โดยเฉพาะคันเร่งค้างเป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ การเรียนรู้และการตัดสินใจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างถูกวิธี จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อความปลอดภัยขอแนะวิธีสังเกตและการแก้ไขสถานการณ์กรณีรถคันเร่งค้าง ดังนี้
สาเหตุของคันเร่งค้าง มักเกิดจากคันเร่งติดอยู่ในพรมหรือยางรองพื้นรถที่หนาเกินไป คันเร่งหนืด ระบบคันเร่งไฟฟ้าในส่วนของระบบอิเล็กทรอนิกส์ทำงานผิดปกติ ทำให้รถเกิดการเร่งทั้งที่เหยียบเบรก วิธีสังเกตอาการคันเร่งค้าง เมื่อเหยียบคันเร่งแล้วแป้นคันเร่งจมไปกับพื้นรถหรือค้าง ไม่สามารถเหยียบให้จมลงไปได้ หรือแป้นคันเร่งลื่นเบาผิดปกติ แสดงว่าคันเร่งค้าง
สำหรับวิธีแก้ไขกรณีคันเร่งค้าง ให้ใช้เบรกเพื่อชะลอความเร็วรถ โดยรถเกียร์อัตโนมัติ ให้เปลี่ยนเกียร์มาตำแหน่ง N จากนั้นให้ดับเครื่องยนต์ ปล่อยให้รถเคลื่อนตัวไปช้า ๆ สลับกับการแตะเบรกเป็นระยะ
ส่วนรถเกียร์ธรรมดาให้ใช้เบรกช่วยชะลอความเร็วโดยไม่ต้องใช้คลัตช์ เพราะจะทำให้รอบเครื่องยนต์สูงขึ้น จึงไม่สามารถลดความเร็วของรถลงได้ เมื่อลดความเร็วได้ในอัตราที่ปลอดภัย ให้ใช้ปลายเท้างัดคันเร่งขึ้นมา หากคันเร่งไม่ขึ้นให้พยายามนำรถจอดริมข้างทางบริเวณที่ปลอดภัย ด้วยการปิดสวิตช์การทำงานของเครื่องยนต์ สามารถทำได้เมื่อรถวิ่งด้วยความเร็วต่ำ และต้องใช้เบรกมือชะลอความเร็วควบคู่กันไปด้วย
ห้ามดึงกุญแจหรือปิดสวิตช์เครื่องยนต์ขณะรถกำลัง วิ่ง เพราะจะทำให้พวงมาลัยล็อกจนไม่สามารถบังคับทิศทาง รถได้
ทั้งนี้ การเรียนรู้วิธีแก้ไขสถานการณ์กรณีคันเร่งค้าง จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายร้ายแรง ทำให้สามารถควบคุมเหตุฉุกเฉินได้อย่างปลอดภัย. ด้วยความห่วงใยจากกรมทางหลวง
ข้อมูล คอลัมน์ เดินหน้าเลี้ยวซ้าย : เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2557
อ้างอิง : thaihiggs
เรียบเรียง : Postsod