ย้อนกลับไปหน้าแรกของบทความ >> หน้า 1 เลี้ยงลูกให้ฉลาดและสมองดีด้วย 30 วิธีง่ายๆ
16. อ่านหนังสือให้ลูกฟัง
มีผลการวิจัยออกมาว่าการอ่านหนังสือช่วยให้ลูกเรียนรู้เรื่องภาษาได้จริง ๆ เด็ก 8 เดือนสามารถเรียนรู้จดจำการเรียงลำดับคำในประโยคที่ผู้ใหญ่อ่านให้ฟังซ้ำ 2-3 ครั้งได้ ดังนั้น อย่าปล่อยให้โอกาสทองในการจดจำของลูกผ่านเลยไปด้วยการหาเวลาในแต่ละวันอ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นประจำนะคะ
17. ทิชชู่หรรษา
อุทิศทิชชู่ที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อย ให้ลูกได้ลองดึงเล่น ลองสัมผัส เพราะการที่เด็กน้อยได้ขยำหรือขยี้กระดาษให้ยับย่น หรือพับให้เรียบนั้นเป็นการฝึกประสาทสัมผัสและการใช้มือของลูกเป็นอย่างดี
18. เล่นจ๊ะเอ๋
การเล่นจ๊ะเอ๋ เพียงแค่พ่อแม่เอามือปิดหน้าตัวเอง แล้วพูด “จ๊ะเอ๋” แค่นี้นอกจากจะทำให้ลูกหัวเราะแล้ว ยังช่วยให้ลูกเรียนรู้ว่าเมื่อสิ่งของหายไปแล้วสามารถกลับคืนมาได้
19. สัมผัสที่แตกต่าง
หาสิ่งของที่มีผิวสัมผัสแตกต่างกัน เช่น ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ไม้ หรือผ้าฝ้าย ค่อย ๆ นำพื้นผิวแต่ละอย่างไปสัมผัสแก้ม เท้า หรือท้องลูกเบา ๆ ระหว่างนี้คุณพ่อคุณแม่ก็บรรยายให้ลูกฟังไปด้วยว่าความรู้สึกเมื่อถูกสัมผัสเป็นอย่างไร เช่น อันนี้นุ๊ม นุ่ม อันนี้แข็ง ๆ เป็นต้น
20. ให้ลูกผ่อนคลายและอยู่กับตัวเองบ้าง
ให้เวลาประมาณ 5-10 นาที ในแต่ละวัน นั่งเงียบ ๆ สบาย ๆ กับลูกน้อยบนพื้นบ้าน ไม่ต้องเปิดเพลง เปิดไฟ หรือเล่นอะไรกัน ปล่อยให้ลูกได้สำรวจสิ่งต่าง ๆ ตามใจชอบ โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องไปยุ่งกับลูก และรอดูว่าลูกน้อยจะคลานเข้ามาหาพ่อแม่ตอนไหน ถือเป็นการฝึกความเป็นตัวของตัวเองให้ลูกขั้นแรก
21.มื้ออาหารแสนสนุก
เข้าสู่วัยที่ลูกน้อยสามารถกินอาหารเสริมได้หลากหลายขึ้น ลองจัดอาหารที่ลูกสามารถใช้มือจับได้ให้มี ชนิด ขนาด และพื้นผิวที่แตกต่างกันไป เช่น ผลไม้ชิ้นเล็กหรือเป็นแท่ง เส้นพาสต้า มักกะโรนี หรือซีเรียล เพื่อเป็นการให้ลูกฝึกใช้นิ้ว และฝึกใช้ประสาทสัมผัสเมื่อได้สัมผัสกับอาหารที่มีลักษณะแตกต่างกัน
22.ดูรูปครอบครัว
นำรูปลูกตอนแรกเกิด รูปครอบครัว รูปญาติ ๆ มาใส่รวมเป็นอัลบั้มเดียว หรือใส่กรอบแล้วนำออกมาให้ลูกดูบ่อย ๆ เพื่อให้จดจำชื่อญาติแต่ละคน ซึ่งสร้างผลลัพธ์ออกมาได้พอใจเชียวล่ะ เวลาที่คุณปู่คุณย่ามาและหลานจำได้ ก็จะสร้างความประทับใจที่ดีให้กับญาติผู้ใหญ่ด้วย
23.แรงโน้มถ่วงของโล่ง
ถ้าเห็นลูกมีพฤติกรรมชอบทิ้งของลงพื้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า นอกจากคุณแม่จะคอยสอนให้ลูกเก็บของแล้ว แต่ให้เข้าใจพฤติกรรมแบบนี้ถือเป็นการทดสอบของตัวลูกเรื่องแรงโน้มถ่วงว่าจะตกลงสู่พื้นทุกครั้งหรือไม่
24. กล่องมายากล
เกมฝึกสมองง่าย ๆ สำหรับลูก ด้วยการหากล่องที่เหมือนกันมาสักสามกล่อง แล้วซ่อนของเล่นชิ้นโปรดของลูกไว้ในกล่องใบหนึ่ง สลับกล่องจนลูกจำไม่ได้ แล้วให้ลูกค้นหาของเล่นชิ้นนั้นในกล่องจนเจอ
25. สร้างอุปสรรคเล็ก ๆ น้อย ๆ
โดยนำเบาะ โซฟา หมอน กล่อง หรือของเล่นวางขวางไว้บนพื้น เพื่อปล่อยให้ลูกลองคลานข้าม หรือคลานรอบ ๆ สิ่งกีดขวาง เพื่อเป็นกระตุ้นทักษะการทำงานของกล้ามเนื้อให้ลูกและใช้กระบวนการคิดว่าเขาจะผ่านอุปสรรค์เหล่านี้ได้อย่างไร
26.เลียนแบบลูกบ้าง
เด็ก ๆ ชอบให้พ่อแม่ทำอะไรตามในบางครั้ง เช่น เลียนแบบท่าหาวของลูก แกล้งดูดขวดนมของลูก ทำเสียงเลียนแบบเวลาที่ลูกส่งเสียงอ้อแอ้ หรือคลานในแบบที่ลูกคลาน การทำอย่างนี้ จะช่วยกระตุ้นให้ลูกแสดงกิริยาท่าทางอื่น ๆ ออกมา เพราะอยากเห็นปฏิกิริยาตอบสนองของพ่อแม่ นี่คือก้าวแรกสู่การมีความคิดสร้างสรรค์ของลูกน้อย
27. จับหน้าเล่น
ปล่อยให้ลูกได้ลองจับต้องใบหน้าที่ทำหน้าตาแปลก ๆ ของพ่อแม่ เช่น ขมวดคิ้ว แยกเขี้ยว แลบลิ้นให้ลูกดู แล้วสร้างเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ถ้าลูกจับจมูกจะทำเสียงแบบนี้ ถ้าจับแก้มจะทำเสียงอีกแบบหนึ่ง ทำแบบนี้ 3-4 รอบ แล้วจึงเปลี่ยนเงื่อนไขไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ลูกแปลกใจและรู้สึกสนาน
28.คลานตามกันไป
เมื่อลูกคลาน คุณแม่ก็ลองคลานตามลูกดูบ้าน ลองนำให้ลูกตามช้าเร็วสลับกันไป หรือพาคลานเพื่อสำรวจมุมต่าง ๆ ของบ้าน และลองเปลี่ยนมุมบ้างเพื่อให้ลูกได้ใช้ทักษะการสังเกต
29.ศึกษาวันฝนตก
ในวันที่ฝนตก ลองอุ้มลูกน้อยเดินทั่วบ้าน ให้ลูกได้ยินเสียงฝนตก หรือลองสัมผัสกับหน้าต่างที่เย็นชื้น ชวนมองหยดน้ำที่เกาะบนใบไม้ ต้นไม้หลังฝนตก เป็นการเปิดประสาทสัมผัสของลูกสู่ความรู้สึกต่าง ๆ เมื่อได้แตะต้องสิ่งของเย็น เปียก เป็นต้น
30. ให้ลูกเป็นตัวเองในนิทาน
เพิ่มเติมจากการเล่านิทานธรรมดา ด้วยการใส่ชื่อลูกแทนชื่อตัวละครตัวสำคัญในนิทานเล่มโปรด เพื่อให้ลูกรู้สึกแปลกใจและสนุกสนานไปกับชื่อของตัวเองในนิทาน เป็นการให้ลูกได้สร้างจินตนาการตามบทบาทนั้น ๆ
ย้อนกลับไปหน้าแรกของบทความ >> หน้า 1 เลี้ยงลูกให้ฉลาดและสมองดีด้วย 30 วิธีง่ายๆ
ที่มา : พัฒนาการเด็ก.com