ชั่งใจอยู่ว่า ระหว่างปัญหาการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพ (หรือ 30 บาท หรือบัตรทอง) แล้วแต่จะเรียก
กับเรื่องไลฟ์ทอล์ก สามก๊ก ที่เพิ่งจบไปสดๆ ร้อนๆ
จะว่าด้วยเรื่องไหนดี
ท้ายสุดก็ตัดใจได้ว่า เอาเรื่องใหญ่ของชาวบ้านทั่วไปก่อน
งานขายของรอได้อีกนิด (ฮา)
อันที่จริงเรื่อง 30 บาทนั้น
หากท่านที่สนใจต้องการทราบที่มาที่ไป และต้นตอปัญหาจริงๆ แล้ว ลองเข้าไปอ่านในเฟซบุ๊ก Atukkit Sawangsuk ของคุณพี่ใบตองแห้ง
หรือบล๊อกของ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ท่านเถอะครับ
ที่จะมาเติมให้วันนี้ คือความเป็นมา-แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ของนโยบายนี้
ก่อนจะมีนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทนี้
ระบบสาธารณสุขของไทยบริหารกันตามอุปสงค์หรือความต้องการของผู้ป่วย-คนไข้ (Demand Management)
โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด
ซึ่งก็เป็นไปตามธรรมชาติของระบบราชการ
คือประสิทธิภาพไม่เต็มร้อย
นำไปสู่การกระจายบริการและงบประมาณแบบไม่ทั่วถึง
ฉะนั้น งบประมาณสาธารณสุขจะไม่เคยพอ
อันที่จริงก่อนหน้าปี 2544 ที่พรรคไทยรักไทยเข้ามาเป็นรัฐบาล และผลักดันนโยบายนี้ออกมา
ก็มีผู้เห็นปัญหาในระบบ หลายคนพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขสภาพที่เป็นอยู่
ในแวดวงสาธารณสุขก็คือ คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์
ในแวดวงเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการก็มี ดร.อัมมาร สยามวาลา และ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ
แต่ไม่มีรัฐบาลไหนขานรับ
จนกระทั่งเมืองไทยมีนายกรัฐมนตรีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ด้วยความเป็นคนหลายวิญญาณ คือเป็นทั้งตำรวจ พ่อค้า นักวิชาการ (ระดับ ดร. กับเขาเหมือนกันนะ อย่าลืม) และนักการเมือง
คุณทักษิณฟังข้อเสนอแล้วก็ “ปิ๊ง” ทันที
การประกาศใช้นโยบาย 30 บาท
จริงๆ แล้วก็คือพลิกวิธีการบริหารระบบสาธารณสุขไทยจาก demand management
(ซึ่งไม่มีวันพอ เพราะความอ่อนประสิทธิภาพของระบบอย่างที่ว่า กับการที่ไม่มีทางจะบริหารความต้องการ หรือไม่สามารถห้ามใครไม่ให้ป่วยให้ไข้ได้)
มาเป็น Supply Management คือบริหารตามทรัพยากร
จัดการกับงบประมาณด้วยสถิติผู้ป่วย โรคที่เป็นมากน้อย เงินที่ใช้ในปีที่ผ่านๆ มา
แล้วกระจายออกมาเป็นรายหัว
ถ้าจำไม่ผิด ขณะนั้นงบประมาณด้านสาธารณสุขของไทยอยู่ที่ประมาณ 120,000 ล้านบาท
เฉลี่ยต่อหัวต่อคนอยู่จะอยู่ที่ 1,270 บาท หรืออะไรประมาณนี้
ปีสองปีแรกที่เริ่มนโยบายแล้วยังขลุกขลัก
มีการถกเถียงกันเรื่องงบฯ เฉลี่ยต่อหัวและแนวทางปฏิบัติกันหนัก
จนกระทั่งสถิติยืนยัน วิธีการปฏิบัติเริ่มลงตัว
และที่สำคัญคือชาวบ้านชื่นชมอย่างยิ่ง
ระบบประกันสุขภาพจึงลงหลักปักฐานมั่นคงในสังคมไทย
ทีนี้มีคำถามว่า เมื่อมีแนวคิด “กลับด้าน” แล้ว ทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดปัญหาหย่อนประสิทธิภาพเหมือนเก่า
คำตอบก็คือ จัดโครงสร้างให้ถูก
แทนที่กระทรวงสาธารณสุข (และโรงพยาบาลในสังกัด) จะเป็น “ผู้รับเหมา” คือทั้งกำหนดนโยบาย ควบคุมคุณภาพ จัดการรักษาเอง
ก็แยกบทบาทกันให้ชัด
กระทรวงเป็น regulator คือผู้รักษากฎ และคอยดูแลมาตรฐานการรักษา
โรงพยาบาล คือผู้ขายบริการ
และมี สปสช. ขึ้นมาเป็นตัวแทนประชาชน ซึ่งเป็นผู้ซื้อบริการ
เพื่อให้ตรึงให้ตรวจสอบกัน
มาถึงวันนี้ วันที่ระบบแยกบทบาท-หน้าที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นกลไกขับเคลื่อนให้ 30 บาทเดินหน้าไปได้
ดันจะแก้กฎหมายกลับไปให้กระทรวงสาธารณสุขเข้ามาเป็นผู้รับเหมา (แล้วก็เลยไม่รู้จะตรวจสอบหรือวัดคุณภาพของงานจากตรงไหน) อีก
เหมือนอยากให้กลับไปอีเหละเขละขละเหมือนก่อนที่จะเกิดระบบนี้ขึ้นมา
บวกด้วยข้อเสนอ “ร่วมจ่าย” ที่ซ่อนเงื่อนเอาไว้
เอาจริงๆ ก็เท่ากับล้มระบบประกันสุขภาพ หรือ 30 บาทนี้ไปโดยปริยาย
จริงอยู่ว่าระบบ 30 บาทที่เป็นอยู่นี้ยังไม่สมบูรณ์แบบ ยังจะต้องมีการแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้ประสิทธิภาพ-คุณภาพของบริการดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก
ใช้งบประมาณ (ซึ่งก็คือเงินของเราทุกคน) ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด
แต่วิธีแก้ไขคือต้องรักษาหลักการ ดำรงเป้าหมายเอาไว้
ไม่ใช่ “กัดกัน” เพราะแย่งการควบคุมอำนาจหรือผลประโยชน์
แต่เอาเถอะครับ
อำนาจอยู่ในมือท่านแล้วนี่
เพียงแต่ช่วยจำไว้ 2 อย่างนะครับว่า
1. ไม่เคยมีอำนาจไหนค้ำฟ้า
2. อำนาจที่ใช้ผิดนั้นทำลายตัวเองได้ดีกว่าแรงเสียดทานจากข้างนอกเป็นไหนๆ
ลาก่อนนนน 30 บาททุกโรค
แหล่งที่มาข่าว : https://www.matichonweekly.com/featured/article_43043